เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลายๆ คนคงจะเห็นภาพการอพยพช้าง และสัตว์อื่นๆ จากน้ำที่ไหลหลากเข้าพื้นที่ปางช้าง โดยการช่วยเหลือกินเวลาหลายชั่วโมงและเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องด้วยน้ำที่ท่วมสูงและปัจจัยอื่นอีกมากมาย
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ‘ช้าง’ กลายเป็นจุดสนใจของผู้คนมากที่สุด เพราะมีช้างล้มจำนวน 2 เชือก จนกลายเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมของวิธีการเลี้ยงช้างและการช่วยเหลือช้าง The MATTER จึงพูดคุยกับ ธีรภัทร ตรังปราการ ประธานสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ถึงความยากของการดูแลช้าง และบทเรียนในการดูแลช้างไทยต่อไปนี้ ท่ามกลางสภาวะอากาศที่แปรปรวน
ธรรมชาติของช้างเลี้ยง
ธีรภัทร ประธานสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เปิดเผยว่า ช้างเป็นสัตว์อายุยืน เพราะฉะนั้นความยากในการเลี้ยง ไม่ต่างกับเลี้ยงลูกคนหนึ่งเลย มันจะมีความยาวในการเลี้ยงที่จะอยู่ที่ 75-80 ปี เป็นการวางแผนระยะยาว ที่เราต้องเรียนรู้ว่าจะเลี้ยงช้างในแต่ละช่วงวัยอย่างไร
“เนื่องด้วยช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ดังนั้นจำเป็นต้องสื่อสารได้ เราไม่สามารถดึงหรือหยุดช้างด้วยการใส่สายจูงเหมือนกับสุนัข ซึ่งผู้เลี้ยงต้องคอยกำกับไม่ให้ช้างเป็นคนที่เกเร หรืออยู่กับสังคมไม่ได้”
ช้าง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสัตว์สังคม ที่มีโครงสร้าง อายุขัย สมอง การเรียนรู้ และการจดจำที่ดีรองจากมนุษย์ ช้างจึงสามารถเรียนรู้ ฝึกฝน และปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ดี
ธีรภัทร กล่าวว่า ด้วยธรรมชาติของช้าง อย่างน้อยต้องฝึกให้พอสื่อสารได้ เช่น บอกให้หยุดหรือรอ เพราะหากช้างเผลอไปทำอะไรผิดพลาด เช่นใช้งวงไปดึงแขนใครสักคนจนหัก หรือวิ่งไปชนก็อาจนำไปสู่การสูญเสียเลยก็ได้ ฉะนั้นแล้วสำหรับผม ทุกสิ่งมีชีวิตต้องถูกสอนให้สื่อสารได้กับคนเลี้ยง เพื่ออนาคตของช้างเอง
“เพราะสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันต่างกับอดีต ยากเกินไปที่ช้างจะเข้าใจ ยกตัวอย่าง ในชุมชนมีสายไฟที่ถูกเถาวัลย์พันเต็มไปหมด ช้างอาจแยกไม่ออกว่ามันเป็นสิ่งที่มันไม่สามารถนำเข้าปากได้ แต่ควาญจะบอกกับมันได้”
เขาเสริมว่า หากเป็นในอดีตช้างอาจไม่ต้องได้รับการฝึกสอน ถึงแม้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงด้วยตัวเอง อาทิ น้ำท่วม ไฟป่า แผ่นดินไหว เพราะช้างมีสัญชาตญาณในการรับรู้และเอาตัวรอดจากสิ่งเหล่านี้ แต่เหตุการณ์น้ำท่วมที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามันไม่รู้ แต่เพียงไม่มีโอกาสในการช่วยเหลือตัวเองเท่านั้นเอง
“ทางรอดของช้าง ต้องเกิดจากการร่วมมือระหว่างช้าง และขวาญที่มีบทบาทดูแลและปกป้องชีวิตพวกมัน”
อุปสรรคในการช่วยเหลือ
แม้สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณปางช้าง ในอำเภอแแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จะลดลงจนเกือบเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ยังปรากฏสภาพดินโคลนตกค้างอย่างหนัก ทำให้ขณะนี้พื้นที่ได้รับผลกระทบโดยส่วนใหญ่ยังคงเคลียร์พื้นที่ และดูแลสัตว์ที่ล้มป่วยหรือบาดเจ็บ
ธีรภัทร เล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือว่า ลักษณะของน้ำท่วมเป็นการท่วมมาทั้งเดือนแล้ว เป็นอุทกภัยที่กระทบทั่วภูมิภาค ทั้งจีน พม่า ลาว ภาคเหนือ ภาคกลาง แต่สำหรับคนเชียงใหม่ พอรู้กันแล้วว่าอุทกภัยครั้งนี้รุนแรง ขนาดที่ว่าพื้นที่ไหนที่ไม่เคยท่วมมาก่อนกลับท่วม เพราะฉะนั้นทุกคนเหมือนอยู่ในสภาวะคอยเฝ้าระวัง เพราะคาดเดาว่ามีโอกาสสูง ที่จะเกิดภัยพิบัติที่ไม่คาดถึงได้ทุกเวลา
เขาระบุว่า เชียงใหม่มีปางช้างกว่า 85 แห่ง ส่วนใหญ่แล้วจะตั้งอยู่ริมลำธารและแม่น้ำ ดังนั้น จึงมีการเตือนกันตลอดเวลาทั้งจากภาครัฐ และจากคนที่เลี้ยงช้าง หากภัยพิบัติกำลังจะเกิดขึ้น
“ระหว่างที่น้ำเริ่มเข้าท่วม ทางเรา (สมาคมสหพันธ์ช้างไทย) เสนอความช่วยเหลือกับปางที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเราเฝ้าระวังทั้งคืน พอเช้ามืดก็มีขอความช่วยเหลือจากปางหนึ่งว่า น้ำท่วมทั้งปางแล้ว”
เขาเล่าว่า วันนั้นเข้าไปช่วยทั้งทีม พร้อมร่วมกับทีมอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามปางที่เราเข้าไปช่วย เลี้ยงช้างในคอก ซึ่งคอกมีความแข็งแรงสูง และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ช้างเข้าออกอย่างง่ายดาย พร้อมกันนั้นยังไม่เอื้อต่อการที่จะพาช้างเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว
“ผมไม่มีเจตนาให้โทษกัน แต่อยากให้เห็นภาพว่าการเลี้ยงทุกรูปแบบมีทั้งข้อดี ข้อด้อย และความเหมาะสมแตกต่างกันไป”
อุปสรรคข้างต้น ส่งผลให้หลายทีมที่จะเข้าไปช่วยช้างในปางดังกล่าว ไม่สามารถใช้แผนที่วางไว้ก่อนหน้าได้ ทีมต่างๆ จึงตัดสินใจไปรวมตัวกันที่หน้างาน และค่อยแจกแจงงานกัน ซึ่งในแต่ละเรือจะประกอบไปด้วยกู้ภัย และขวาญช้าง
ธีรภัทร ระบุว่า พอเดินทางไปถึงเจออุปสรรคค่อนข้างมาก เพราะปางมีพื้นที่ 400 ไร่ และน้ำท่วมสูง นอกจากนี้เรายังไม่รู้พื้นที่ (blueprint) ว่าแต่ละคอกที่ช้างอยู่นั้นเป็นอย่างไร หรือไม่รู้ว่าตำแหน่งของประตูอยู่ตรงไหน ต้องใช้วิธีควานหา แต่พอเจอก็ไม่สามารถเปิดให้ช้างออกมาได้อยู่ดี เพราะกลอนประตูติดดินโคลน
“ช่วงเวลาที่ช่วยช้างได้จริงๆ คือตอนที่น้ำขึ้นสูงกว่าคอก จนช้างสามารถที่จะเกยคางพาดด้านบนของคอก หลังจากนั้นพวกมันก็ก้าวขาหน้า หรือกลับตัวเพื่ออกมาจากคอก”
พอผ่านไปสักพักน้ำมีท่าทีที่จะลดลงเรื่อยๆ ทีมของสมาคมสหพันธ์ช้างไทย และทีมนอกจึงตัดสินใจยุติการช่วยเหลือไว้ก่อน แต่ทีมของปางที่ประสบปัญหาไม่หยุดทำงาน พยายามอพยพสัตว์เล็กและช้างตลอดทั้งคืน
“พอตกเช้าอีกวันหนึ่ง ปางดังกล่าวเหลือเพียงช้างเพศผู้ที่มีนิสัยค่อนดุ อยู่ในคอกเท่านั้น”
หลังจากนั้นการเข้าช่วยเหลือหลักๆ จึงกลายเป็นการค้นหาช้างที่ยังคงสูญหาย อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในครั้งนี้มีช้างที่ได้รับกระทบทั้งหมด 118 เชือก ซึ่งตายไป 2 เชือก
การเลี้ยงช้างหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
ธีรภัทร ระบุว่า ทีมสัตวแพทย์จากทีมหมอจังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สมาคมพันธุ์ช้างไทย และภาคเอกชน เข้าถึงช้างทุกเชือกที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งพบว่าไม่มีช้างเชือกไหนที่น่ากังวัล เท่ากับตอนนี้อยู่ในขั้นตอนในการทำความสะอาด เคลียร์พื้นที่ เพื่อให้ช้างและสัตว์อื่นๆ สามารถกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตามเดิม
เขาเสนอการรับมือหลังจากนี้ว่า ทุกคนอยู่ในสถานะที่ต้องคิดว่า โลกเราอยู่ในจุดที่เกิดอะไรขึ้นก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว เพราะตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวบ่อยขึ้น ทั้งในพม่า เชียงราย รวมถึงเรื่องของดินถล่ม ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาเช่นกัน
“ผมจึงอยากให้มีการสร้างระบบเตือนภัยหากเกิดภัยพิบัติ หรือปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงช้าง ซึ่งตอนนี้ขอเสนอไว้ก่อนว่า ถ้าปางไหนเลี้ยงช้างในรูปแบบให้อยู่ในคอก อาจจำเป็นต้องทำระบบเปิดปิดประตูฉุกเฉิน เช่นเดียวกับโรงงาน โรงแรม รสบัส”
เขาพูดเสริมว่า นอกจากนี้ยังต้องกำหนดเงื่อนไข (portocal) ว่า ภัยพิบัติต้องรุนแรงแค่ไหนระบบฉุกเฉินถึงจะเปิดใช้งาน เช่น น้ำท่วมถึงระดับท้องช้าง ทว่าขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาเริ่มพูดคุยประเด็นนี้
“คิดว่าการเลี้ยงช้างในคอกยังคงทำได้ แต่ต้องมีการปรับปรุงระบบ ด้วยคำแนะนำของวิศวกร หรือเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย”
เขาทิ้งท้ายว่า อาหารที่เพียงพอ การตรวจสุขภาพช้าง ที่เพิ่งประสบน้ำท่วมก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพจิตของพวกมัน เพราะบางตัวอาจมีความเครียดหรืออาการผวา ขนาดที่ไม่กล้าลงน้ำอีกแล้วก็ได้ แต่ขณะนี้ทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญกำลังดูแลอย่างใกล้ชิด
“ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนดูแลช้างที่ได้รับผลกระทบ จึงอาจยังไม่มีการรวมตัวพูดคุยระหว่างภาครัฐและประชาชน แต่คิดว่าหลังจากนี้ต้องแลกเปลี่ยนพูดคุยหาทางออกร่วมกัน” ประธานสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ระบุปิดท้าย