‘ป่วยการเมือง’ คำเสียดสีคนที่ชอบลาป่วยแบบไม่หนักหนานัก ป่วยตามฤดูกาล ฝนฟ้าอากาศ ป่วยแบบไม่จริงแต่เกิดอยากจะป่วย อะไรเหล่านี้มักทำให้พอถึงเวลาที่เราป่วยขึ้นมาแล้ว เรากลับไม่กล้าที่จะใช้วันลาของตัวเอง เพราะกลัวจะโดนคำครหา ‘แค่นี้ต้องลาด้วยหรอ’ ‘มาสักครึ่งวันไหวมั้ย’ ‘ใบรับรองแพทย์ด้วยนะ ไม่งั้นต้องหักเงิน’ เพราะอาการป่วยที่ไม่ถูกมองว่าป่วยจริงๆ ทำให้การใช้วันลากลายเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจ มาดูกันว่าทำไมการลาเมื่อไม่พร้อมทั้งกายและใจ จึงควรมีไว้ในนโยบายเช่นเดียวกับวันลาอื่นๆ
บางวันที่เราเจออาการป่วยกระเสาะกระแสะเล่นงาน เป็นไข้ ท้องเสีย ปวดท้องประจำเดือน แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาคนนอก แต่คนที่ป่วยเองนั้น เขาเป็นคนที่ต้องหมดแรง ขยับตัวไม่ไหว จนรู้แล้วว่าร่างกายตัวเองไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะออกไปทำงาน ลาป่วยจึงเป็นตัวเลือกสำหรับเรื่องนี้
แต่ทีนี้การลาป่วยแต่ละทีช่างยากเย็น ‘ป่วยแค่เองนี้หรอ?’ ‘อย่าลืมใบรับรองแพทย์นะ’ สารพัดคำถามที่โจมตีเข้ามาราวกับว่า อาการป่วยของเรานั้นไม่มีอยู่จริง รวมทั้งเงื่อนไขสารพัดกว่าจะได้ลา ท่าไม้ตายที่เจอกันบ่อยๆ คือ การขอใบรับรองแพทย์
หลายคนอาจคิดว่าก็ไม่แปลกนี่ ป่วยจริงๆ ก็ต้องมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน แต่ถ้าวันนั้นเราป่วยด้วยอาการเป็นไข้ ปวดท้องประจำเดือน ท้องเสีย หรืออะไรก็ตามที่เราอาจต้องการเพียงแค่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เราจำเป็นต้องออกไปเอาใบรับรองแพทย์เพื่อการป่วยหนึ่งวันหรือไม่?
กลายเป็นว่าหากไม่มีใบรับรองแพทย์ไปให้ในวันที่ไปทำงานอีกครั้ง อาจทำให้โดนตั้งคำถามถึงวันหยุดที่เราใช้ไป ใบรับรองแพทย์จึงกลายเป็นท่าไม้ตายจากฝั่ง HR และเป็นหนามแทงใจให้เราต้องรู้สึกลำบากใจกับการลาป่วยเสมอ
งั้นมาดูนี่กัน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 ระบุไว้ว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วย ตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งของสถานพยาบาลของทางราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ”
สรุปง่ายๆ ก็คือ ต้องลาป่วย 3 วันขึ้นไป นายจ้างจึงมีสิทธิ์ขอดูใบรับรองแพทย์ การลาป่วยวันสองวัน เราจึงไม่จำเป็นต้องให้ใบรับรองแพทย์ แล้วอย่างนี้จะโดนหักเงินไหมนะ? เราไปหาคำตอบจากเว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมา จากคำถามที่ว่า “ลูกจ้างลาป่วยแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์ ซึ่งระเบียบบริษัทฯ ให้ลูกจ้างยื่นใบรับรองแพทย์ด้วยจึงจะจ่ายค่าจ้างหากบริษัทฯ ไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะลูกจ้างไม่มีใบรับรองแพทย์จะได้หรือไม่?”
คำตอบที่ได้ก็คือ “สิทธิการลาป่วยของลูกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง หากลูกจ้างป่วยจริงและลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ
ค่าจ้างระหว่างการลาป่วย กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ในวันลาป่วยตามวรรคหนึ่งเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาป่วย ปีหนึ่งไม่เกิน 30 วันทำงาน”
ย่อยให้เข้าใจกันอีกทีว่า เราต้องลาป่วย 3 วันขึ้นไปเท่านั้น นายจ้างจึงจะมีสิทธิ์ขอใบรับรองแพทย์จากเรา รวมทั้งระหว่างที่เราลา เราต้องได้ค่าจ้างตามปกติ ไม่เกิน 30 วันต่อปี สมมติว่าลาป่วยไป 35 วัน แม้กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ แต่จ่ายให้ไม่เกิน 30 วันเท่านั้น อีก 5 วันที่เหลือนายจ้างจะไม่จ่ายก็ไม่ผิดอะไร
โดยพรบ. นี้กำหนดใช้กับทุกห้างร้าน ไม่ว่าข้อกำหนดของบริษัทเป็นยังไงก็ตาม หากเรารู้สึกไม่สบายใจหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถหยิบประเด็นนี้ไปพูดคุยกับทางบริษัทได้เช่นกัน
เมื่อป่วยกายลาได้ แล้วป่วยใจลาได้เหมือนกันหรือเปล่า? วันที่เราไม่พร้อมทางด้านสภาพจิตใจ สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สัตว์เลี้ยง ความเครียดรุมเร้า อะไรทำนองนี้ที่ทำให้เราไม่พร้อมออกไปทำงานในสภาพ 100% เราจะสามารถลาได้หรือเปล่า?
ในหลายบริษัททั่วโลก เริ่มตระหนักถึงปัญหาสุขภาพใจ (mental health) ว่ามันส่งผลกับการทำงานจริงๆ ตั้งแต่ภาวะ Burnt Out เรื่อยมาจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้หลายบริษัทหยิบเอาการดูแลสุขภาพจิตใจเข้ามาเป็นสวัสดิการด้วย รวมถึง ‘wellness leave’ วันลาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นอีกหนึ่งในสวัสดิการใหม่ๆ ที่งอกขึ้นมา เมื่อวันลาป่วย วันลากิจ วันพักร้อน อาจไม่ครอบคลุมความซับซ้อนของชีวิตคนเราอีกต่อไป
ผลสำรวจจาก Centers for Disease Control and Prevention บอกว่า ในช่วงการระบาดของ COVID-19 คนทำงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะวัย Millennials และ Gen-Z ต่างเรียกร้องสิทธิประโยชน์ ความคุ้มครองทางด้านสุขภาพจิตจากที่ทำงานของพวกเขามากขึ้น
เหตุผลหลักๆ คือ เพื่อลดความเครียดจากการทำงานที่บ้านลงบ้าง การทำงานเมื่อสภาพจิตใจไม่พร้อม ไม่ต่างอะไรกับความเจ็บป่วยทางกายภาพ (จริงๆ สมองก็ถือเป็นหนึ่งในกายภาพเช่นกัน) การดันทุรังให้คนไม่พร้อมมาทำงาน จะเป็นผลเสียกับทั้งสองฝ่ายในที่สุด
อย่างน้อย เราก็ไม่อยากเห็นนายจ้างมัวกังวลกับการลาป่วยแบบหลอกๆ ป่วยไม่จริง ป่วยการเมือง จนหลงลืมความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ไป
อ้างอิงข้อมูลจาก