นี่อาจเป็นอนาคตของการปลูกถ่ายอวัยวะ! ชวนรู้จักฟาร์มหมูมูลค่า 2,500 ล้านบาท ที่ดัดแปลงพันธุกรรมของหมู และเลี้ยงในสภาพแวดล้อมปราศจากสิ่งปนเปื้อน เพื่อใช้อวัยวะปลูกถ่ายให้กับมนุษย์ โดยเฉพาะ
เมื่อปี 2022 ทีมศัลยแพทย์จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ (The University of Maryland Medical Center) ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจ จากหมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม เข้าไปในร่างกายของเดวิด เบนเน็ตต์ (David Bennett) วัย 57 ปี นับเป็นครั้งแรกของโลก ที่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์
และแม้ว่า เบนเน็ตต์จะเสียชีวิตใน 2 เดือนต่อมา แต่ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้วงการแพทย์เห็นหนทางใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วย เช่นเดียวกันกับ Revivicor บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากสหรัฐฯ ที่สร้างฟาร์มเลี้ยงหมู เพื่อใช้ ‘ผลิตอวัยวะ’ ในการวิจัยการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่มนุษย์ โดยเฉพาะ
ในฟาร์มดังกล่าว ตั้งอยู่ที่เมืองคริสเตียนส์เบิร์ก (Christiansburg) รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัย ‘ทางชีวภาพ’ ที่เข้มงวด โดยเมื่อผ่านเข้าประตูรั้วไปแล้ว รถยนต์จะถูกฆ่าเชื้อทุกคัน รวมถึงคนต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน พร้อมกับทำความสะอาดรองเท้า โดยก้าวลงไปในอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อ
ทั้งนี้ เมื่อเข้าในฟาร์มแล้ว อาจพบว่าบรรยากาศเหมือนอยู่ใน ‘โรงงานผลิตยา’ มากกว่าอยู่ในฟาร์มทั่วไปเสียอีก เนื่องจากมีการควบคุมทั้งอากาศ อาหารและน้ำดื่ม ของหมูที่อยู่ในนั้นอย่างรัดกุม โดยมีการกรองสารปนเปื้อนทั้งอาการและน้ำ พร้อมทั้งฆ่าเชื้ออาหารของหมูทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้หมูได้รับเชื้อโรค ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้รับการปลูกถ่าย
นอกจากนี้ ผู้ดูแลหมูก็ถูกคัดมาอย่างดีและจำกัดการเข้าถึงอย่างแน่นหนา โดยพวกเขาจะต้องจะอาบน้ำตามเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งสวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่บริษัทจัดให้ ก่อนจะเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงหมู
“เราออกแบบสถานที่แห่งนี้ขึ้น เพื่อปกป้องหมูจากการปนเปื้อน จากสิ่งแวดล้อมและจากผู้คน ทุกคนที่เข้ามาในอาคารแห่งนี้ อาจมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรค” Matthew VonEsch จาก Revivicor กล่าว โดยฟาร์มแห่งนี้มีมูลค่า 75 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้สร้างตามมาตรฐานความปลอดภัย สำหรับการปลูกถ่ายข้ามสายพันธุ์ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (Food and Drug Administration หรือ FDA)
นอกจากการเลี้ยงดูที่รัดกุมแล้ว ฟาร์มแห่งนี้ยังมุ่งวิจัยการดัดแปลงทางพันธุกรรม เพื่อปลูกถ่ายอวัยวะอีกด้วย โดย David Ayares จาก Revivicor ระบุว่า “เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายของสัตว์ชนิดนี้ มีการดัดแปลงทางพันธุกรรมทั้งหมด” พร้อมเสริมว่า “หัวใจ ไต ปอด ตับของพวกมัน ทั้งหมดมีการดัดแปลงทางพันธุกรรม 10 อย่าง เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการปลูกถ่าย”
อีกทั้ง ฟาร์มแห่งก็สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะเพื่อใช้ในการปลูกถ่าย ซึ่งในหนึ่งปีมีผู้ป่วยมากมายที่ต้องการการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยปัจจุบัน FDA กำลังรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะหมู ในลิงบาบูน ก่อนที่จะตัดสินใจว่า ควรมีแนวทางอย่างไรในการปลูกถ่ายอวัยวะจากหมู ให้กับมนุษย์
อ้างอิงจาก