ปะการังฟอกขาว บริเวณแนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์ (Great Barrier Reef) ประเทศออสเตรเลีย หนักถึงขั้น ‘หายนะ’ หลังนักวิทยาศาสตร์พบว่า ปะการังมากกว่า 40% ที่ติดตามรอบๆ แนวปะการังนี้ ตายจากปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในปีที่ผ่านมา
ไม่นานมานี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการฟอกขาวครั้งใหญ่ของปะการัง ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2024 บริเวณ Great Barrier Reef–แนวปะการังขนาดใหญ่ ที่ทอดยาวออกไป ราว 2,300 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ของออสเตรเลีย
การศึกษาดังกล่าว ได้ติดตามกลุ่มปะการังจำนวน 462 กลุ่ม (colonies) อย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 161 วัน และพบว่าสถานการณ์ที่แนวปะการังนั้นเข้าขั้น ‘หายนะ’ โดยมีเพียงกลุ่มปะการัง 92 กลุ่ม ที่รอดจากการฟอกขาวโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ปะการัง 193 กลุ่มตาย และอีก 113 กลุ่ม ยังคงแสดงสัญญาณของการฟอกขาว
หากจะอธิบายให้เห็นภาพ ผลการศึกษานี้ระบุว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 มีปะการัง 66% เกิดการฟอกขาว ต่อมาในเดือนเมษายน พบการฟอกขาว 80% และเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ปะการังที่ฟอกขาวตายไปถึง 44% พร้อมกับพบว่าปะการังกลุ่มอะโครโปรา (Acropora) มีอัตราการตายสูงถึง 95%
“ฉันเคยเสียใจมาก จนกลายเป็นหงุดหงิดมาก เราพยายามสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเป็นเวลานานแล้ว” Maria Byrne นักชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ หัวหน้าคณะวิจัยครั้งนี้ระบุ
เธอกล่าวต่อว่า ผลการศึกษาครั้งนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการดำเนินการเพื่อปกป้องแนวปะการัง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ และการปกป้องชายฝั่งอีกด้วย
“แม้ว่า Great Barrier Reef ทางตอนใต้ จะได้รับสถานะเป็นเขตอนุรักษ์ แต่ก็ไม่สามารถรอดพ้นจากความร้อนที่รุนแรง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ครั้งนี้ได้” Byrne กล่าว
ด้าน Ana Vila Concejo ผู้เขียนร่วมของการวิจัยนี้ ก็กังวลไม่แพ้กัน ซึ่งเธอระบุว่า “การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นการเตือนสติ สำหรับผู้กำหนดนโยบายและนักอนุรักษ์” โดยความสามารถในการฟื้นตัวของแนวปะการัง กำลังถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนี้เธอระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะช่วยปกป้องแนวปะการังจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เธอกล่าวปิดท้ายว่า การศึกษาครั้งนี้ “เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการอย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องระบบนิเวศ”
อ้างอิงจาก
aslopubs.onlinelibrary.wiley.com