เคยไหม ที่สมัคร subscribe อะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางรับชมสื่อบันเทิง โปรแกรมสำหรับทำงาน หรือบริการอื่นๆ ขั้นตอนการสมัครนั้นช่างง่ายดาย แต่ตอนจะยกเลิกกลับยากอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งหาปุ่มยกเลิกไม่เจอ หรือต้องทำเรื่องอะไรมากมายอีก
เมื่อผู้บริโภค(เหมือนจะ)กำลังโดนเอาเปรียบเช่นนี้ คณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (FTC) ได้นำนโยบาย ‘คลิกเพื่อยกเลิก’ (click to cancel) มาใช้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คนสามารถยกเลิกการสมัครสมาชิกได้ง่ายขึ้น หรืออย่างน้อยต้องง่ายพอๆ กับตอนที่สมัคร
ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจต่างๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าก่อนจึงจะทำการต่ออายุการสมัครสมาชิกอัตโนมัติ หรือเปลี่ยนการทดลองใช้ฟรีเป็นการสมัครสมาชิกแบบชำระเงินได้ โดยกฎใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า
“บ่อยครั้งที่ธุรกิจทำให้ผู้คนต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยากมากมายเพียงเพื่อยกเลิกการสมัครสมาชิก” ลินา ข่าน (Lina Khan) ประธาน FTC กล่าว “กฎของ FTC จะยุติกลอุบายและกับดักเหล่านี้ ช่วยให้ชาวอเมริกันประหยัดเวลาและเงิน ไม่มีใครควรต้องติดอยู่กับการจ่ายเงินสำหรับบริการที่พวกเขาไม่ต้องการอีกต่อไป”
ภายใต้กฎใหม่นี้ หากลูกค้าสมัครสมาชิกผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ธุรกิจจะต้องไม่บังคับให้ลูกค้าต้องคุยกับแชทบอทหรือตัวแทนเพื่อเป็นขั้นตอนในการยกเลิกสมัครสมาชิก และสำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกด้วยตนเอง ธุรกิจจะต้องเสนอตัวเลือกในการยกเลิกผ่านการโทรทางโทรศัพท์หรือทำผ่านออนไลน์
เมื่อปี 2023 FTC เคยได้ดำเนินการทางกฎหมายกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Amazon ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวหาว่า บริษัท Amazon หลอกล่อลูกค้าให้สมัครสมาชิก Prime ที่ต่ออายุโดยอัตโนมัติ และทำให้ผู้คนยกเลิกได้ยาก
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่าการออกแบบเว็บไซต์ของ Amazon บังคับให้ลูกค้าตกลงสมัครสมาชิก Prime และให้การสมัครสมาชิกต่ออายุโดยอัตโนมัติ ขณะที่พวกเขากำลังซื้อของ แต่ Amazon ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น FTC ยังได้ดำเนินคดีกับบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ Adobe ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน ในข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้วยค่าธรรมเนียมการยกเลิกที่ ‘ซ่อนเร้น’ และมีกระบวนการยกเลิกที่ซับซ้อน
FTC ระบุว่า Adobe ไม่ได้เปิดเผยเงื่อนไขต่างๆ ให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจน รวมถึงยังมีค่าธรรมเนียมหากยกเลิกก่อนกำหนด ซึ่ง Adobe ก็โต้แย้งข้อกล่าวหาเหล่านี้เช่นกัน
ก่อนหน้านี้ เคยมีการใช้กฎหมายลักษณะคล้ายกันมาก่อนในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ชื่อว่า พระราชบัญญัติตลาดดิจิทัล การแข่งขัน และผู้บริโภค 2024 ที่กำหนดให้ธุรกิจต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภคก่อนที่จะตกลงทำข้อตกลงการสมัครสมาชิก
นอกจากนั้น กฎหมายนี้ยังบังคับให้ผู้ขายเตือนลูกค้าว่า การทดลองใช้ฟรีหรือราคาถูกกำลังจะสิ้นสุดลง และกำหนดให้บริษัทมีมาตราการที่ทำให้แน่ใจได้ว่าลูกค้าจะสามารถยุติสัญญาได้อย่างง่ายดาย
กฎคลิกเพื่อยกเลิกในสหรัฐฯ นี้ ผ่านด้วยคะแนนเสียง 3-2 โดยกรรมาธิการจากพรรครีพับลิกัน 2 คน ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย ซึ่งนี่ถือเป็น 3 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งสหรัฐฯ กฎนี้จึงถูกมองว่าเป็นหนึ่งในความพยายามครั้งสุดท้ายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในการจัดการกับ ‘ค่าธรรมเนียมขยะ’
รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ได้เน้นย้ำถึงข้อเสนอ ‘คลิกเพื่อยกเลิก’ เมื่อเดือนที่แล้ว ถือเป็นตัวอย่างของปัญหาที่เธอจะให้ความสำคัญหากได้รับการเลือกตั้ง
หากกฎนี้ถูกบังคับใช้แล้ว ก็น่าติดตามว่าจะมีผลสำหรับการเข้าถึงแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เหล่านี้ในเขตพื้นที่ประเทศไทยด้วยหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้ผู้บริโภคในไทยได้รับประโยชน์จากการสมัครสมาชิกจากผู้ให้บริการในสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก