เราต่างถูกสอนกันมาว่า ‘น้ำ’ เป็นทรัพยากรสำคัญของโลก แต่รู้หรือไม่ ว่าในวันนี้ ‘วัฏจักรน้ำของโลก’ กำลังเสียสมดุล เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติแล้ว
รายงานล่าสุดที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจโลก ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์ของน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำและผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ระบุว่า การใช้ที่ดินและการจัดการน้ำของมนุษย์ ที่ผิดพลาดมาหลายทศวรรษ ประกอบกับวิกฤตสภาพอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้เกิด ‘ความเครียดแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน’ ต่อวัฏจักรน้ำของโลก
หรือเรียกได้ว่าในขณะนี้ มนุษยชาติได้ทำให้วัฏจักรน้ำของโลกเสียสมดุลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ ซึ่งส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางน้ำที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดหายนะต่อเศรษฐกิจ การผลิตอาหาร และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
‘วัฏจักรน้ำ’ หมายถึงระบบที่ซับซ้อนที่เป็นเบื้องหลังของการที่น้ำเคลื่อนที่ไปรอบๆ โลก โดยที่น้ำจะระเหยขึ้นจากพื้นดิน ทะเลสาบ แม่น้ำ และพืช แล้วลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก่อตัวเป็นแม่น้ำไอน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกล ก่อนจะเย็นลง กลั่นตัว และตกลงกลับสู่พื้นดิน ในรูปแบบของฝนหรือหิมะ
เพราะทรัพยากรน้ำเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การหยุดชะงักของวัฏจักรน้ำ จึงสร้างความทุกข์ยากให้กับผู้คน โดยขณะนี้ประชากรโลกเกือบ 3 พันล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ พืชผลกำลังเหี่ยวเฉา และเมืองต่างๆ กำลังจมลง เพราะน้ำใต้แผ่นดินตรงนั้นแห้งเหือด
แล้วตอนนี้มันขาดแคลนแค่ไหน มนุษย์ต้องใช้น้ำมากเท่าไรกันแน่? รายงานคำนวณว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้คนต้องการน้ำอย่างน้อยประมาณ 4,000 ลิตร (มากกว่า 1,000 แกลลอนเล็กน้อย) ต่อวัน เพื่อให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่สหประชาชาติระบุว่าจำเป็นสำหรับความต้องการพื้นฐาน และมากกว่าที่ภูมิภาคส่วนใหญ่จะสามารถจัดหาได้จากแหล่งน้ำในท้องถิ่น
หากไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ผลที่ตามมาจะเลวร้ายยิ่งขึ้นอีก โดยวิกฤติน้ำได้คุกคามผลผลิตอาหารทั่วโลกมากกว่า 50% ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ GDP ของประเทศต่างๆ ลดลงโดยเฉลี่ย 8% ภายในปี 2050 และประเทศที่มีรายได้น้อยอาจสูญเสีย GDP มากถึง 15%
“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่เรากำลังผลักดันให้วัฏจักรน้ำทั่วโลกไม่สมดุล” โยฮัน ร็อคสตรอม (Johan Rockström) ประธานร่วมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจน้ำระดับโลกและผู้เขียนรายงาน กล่าว “ฝนซึ่งเป็นแหล่งที่มาของน้ำจืดทั้งหมด จะไม่สามารถพึ่งพาได้อีกต่อไป”
รายงานนี้ได้อธิบายโดยแยกระหว่าง ‘น้ำสีฟ้า’ หมายถึง น้ำเหลวในทะเลสาบ แม่น้ำ และแหล่งน้ำใต้ดิน กับ ‘น้ำสีเขียว’ หมายถึง ความชื้นที่เก็บไว้ในดินและพืช
ที่ผ่านมา เรามักจะมองข้าม ‘น้ำสีเขียว’ แต่รายงานระบุว่าน้ำสีเขียวมีความสำคัญต่อวัฏจักรของน้ำไม่แพ้กัน เพราะอย่างที่เห็นจากวัฏจักรน้ำ น้ำจะกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อพืชปล่อยไอน้ำออกมา ซึ่งก่อให้เกิดฝนตกนับเป็นประมาณครึ่งหนึ่งบนพื้นดิน และการจ่ายน้ำสีเขียวในปริมาณที่สม่ำเสมอ จะช่วยให้พืชพรรณกักเก็บคาร์บอนได้ดี ซึ่งคาร์บอนเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกร้อนขึ้นได้
รายงานระบุว่า การหยุดชะงักของวัฏจักรของน้ำครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ความเสียหายที่มนุษย์ก่อขึ้น เช่น การทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำและการทำลายป่า ทำให้พืชพรรณซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนเหล่านี้ลดลง และเร่งให้โลกร้อนขึ้น ในทางกลับกัน ความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทำให้ภูมิประเทศแห้งแล้ง ลดความชื้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์นี้ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดีขึ้น และลดมลพิษจากภาวะโลกร้อน
ผู้เขียนรายงานระบุว่า รัฐบาลทั่วโลกต้องยอมรับก่อนว่า วัฏจักรน้ำถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ พึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่เพียงแต่ผ่านทะเลสาบและแม่น้ำที่ทอดข้ามพรมแดนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงน้ำในชั้นบรรยากาศ ซึ่งสามารถเดินทางเป็นระยะทางไกลได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า การตัดสินใจในประเทศหนึ่ง อาจฝนไม่ตกในอีกประเทศหนึ่งได้เล
นอกจากนั้น รายงานยังเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนที่ทางของน้ำในระบบเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดราคาให้ดียิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการสิ้นเปลืองน้ำ และจัดการแนวโน้มที่จะปลูกพืช หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องใช้น้ำ เช่น การสร้าง data center ในภูมิภาคที่ขาดแคลนน้ำ
“วิกฤติน้ำทั่วโลกเป็นโศกนาฏกรรม แต่ยังเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐศาสตร์ของน้ำ” นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา (Ngozi Okonjo-Iweala) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกและประธานร่วมคณะกรรมาธิการที่เผยแพร่รายงานดังกล่าว พร้อมเสริมว่า การประเมินมูลค่าของน้ำอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ตระหนักถึงความขาดแคลนและประโยชน์มากมายที่น้ำมอบให้
วิกฤตครั้งนี้ จึงเป็นอีกวิกฤตใหม่ที่มนุษย์จะต้องเผชิญ อันเป็นผลมาจากการกระทำที่สะสมมาของมนุษย์เอง และผลกระทบที่เกิดขึ้นยังสะท้อนว่าวิกฤตสภาพอากาศถือเป็นภาวะเร่งด่วน ซึ่งน่าติดตามต่อไปว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างๆ จะจัดการกับภาวะที่เกิดขึ้นอย่างไรต่อไป
อ้างอิงจาก