ภาพยนตร์เรื่อง The Substance ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามตั้งแต่เปิดตัวที่คานส์ 2024 และคว้ารางวัลบทยอดเยี่ยมไป ต่อมาเมื่อฉายในวงกว้างทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมถึงไทย กระแสของหนังก็ยังพุ่งแรงแบบฉุดไม่อยู่ นี่คือหนังว่าด้วยนักแสดงหญิงวัยกลางคนที่ถูกปลดจากรายการด้วยข้อหาว่าแก่เกินไป จนตัดสินใจใช้สารบางอย่างเพื่อสร้างตัวตนที่สาวกว่าขึ้นมาอีกร่าง และยังทำให้คำว่า ‘Body horror’ กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
Body horror อาจนิยามได้ว่าเป็นความสยดสยองที่เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ แต่ไม่ใช่ความสยองรุนแรงเอามันจากพวกฉากฆ่าทรมานหรือฆาตกรรมพิสดาร แต่มักเน้นที่การควบคุมหรือควบคุมไม่ได้ของร่างกาย ไปจนถึงความแปรเปลี่ยนบิดเบี้ยวทางกายภาพ เช่น มังงะหลายเรื่องของ จุนจิ อิโตะ (Junji Ito) หรือหากเป็นภาพยนตร์ ผู้กำกับที่โด่งดังจากแนว Body horror หนีไม่พ้น เดวิด โครเนนเบิร์ก (David Cronenberg) ไม่ว่าจะ The Fly (1986) นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการทดลองผิดพลาดจนค่อยๆ กลายร่างเป็นแมลงวัน หรือ Crimes of the Future (2022) สองศิลปินที่ทำงานด้วยการผ่าตัดดัดแปลงร่างกายตัวเอง
เช่นนั้นแล้วการนำเสนอ ‘ร่างกาย(ของผู้หญิง)’ จึงเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของ The Substance สังเกตได้ว่าการเสื่อมสลายของอวัยวะ ไม่ว่าฟันหลุด เล็บหัก หน้าอกหย่อนยาน ดูเป็นเรื่องคอขาดบาดตายหรือน่าสะเทือนใจสำหรับผู้หญิง (แน่นอนนี่เป็นการพูดแบบเหมารวมหยาบๆ) ในทางกลับกันหนังเน้นการโคลสอัพหน้าอกหรือบั้นท้ายอันเต่งตึงของหญิงสาวอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งนี่เป็นความตั้งใจของผู้กำกับ กอราลี ฟาร์ฌาต์ (Coralie Fargeat) เธอให้สัมภาษณ์อย่างสนใจว่ามีฉากเน้นก้นมากมายเพราะบั้นท้าย(ของผู้หญิง)คือสิ่งที่ถูกมองอย่างไม่เป็นกลาง (หรือถูกตัดสิน) เสมอในที่สาธารณะ
พูดแบบนี้อาจจะเชยและตกยุค แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่ผู้กำกับเรื่อง The Substance เป็นผู้หญิงมีผลอย่างมากต่อการรับรู้หนังเรื่องนี้ หากกำกับโดยผู้กำกับชาย (ไม่ว่าจะชายแท้หรือชายแทร่) อาจโดนข้อหาว่ากำลังใช้ประโยชน์หรือดูถูกเหยียดยามร่างกายผู้หญิง แต่กรณี The Substance รอดข้อหานั้นเพราะมองได้ว่ากอราลีกำลังวิพากษ์และเสียดสีเรื่องร่างกายผู้หญิง มีความเป็นไปได้ว่าผู้กำกับตระหนักถึงประเด็นนี้และใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่
ที่ว่า ‘เต็มที่’ ดูได้จากรีแอ็กชั่นต่อ The Substance ที่มักมีคำประเภท “ไปสุดมากกก” “สุดขีดดด” “ทำถึงเกิ๊นนน” อะไรทำนองนี้ นั่นเพราะกอราลีผลักให้องค์ประกอบทางภาพยนตร์ไปสุดแทบทุกทาง ไม่ว่าจะภาพ สี ดนตรีประกอบ จนผู้เขียนรู้สึกว่าหนังมีอาการแบบ Style Over Substance (สไตล์หวือหวาล้นเกินสาระสำคัญของหนัง)
เอาเข้าจริงแล้วสารของหนังก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง (ความแก่ชรา มาตรฐานความงาม และชายเป็นใหญ่) แต่หนังลากยาวไปเกือบสองชั่วโมงครึ่ง โดยเฉพาะช่วงท้ายที่ใช้เลือดอย่างสิ้นเปลือง ทว่าถามว่าหนังสนุกมั้ย ก็ต้องตอบว่าสนุกมาก แม้จะมีประเด็นทางสังคมหนักแน่น ผู้กำกับก็ใส่ความบันเทิงมาแบบไม่บันยะบันยัง มากกว่าจะมาเทศนาสั่งสอนคนดู พูดแบบทีเล่นแต่เป็นจริงได้ว่า ไม่ได้มาเพื่อสั่งสอน แต่มาเพื่อให้ความบันเทิงจ้า
ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่อง ‘ผู้หญิง’ เพิ่มเติมว่าหนังสยองขวัญ (โดยเฉพาะ Body horror) มักถูกสร้างโดยผู้กำกับชาย ทว่าหลังยุค Y2K เป็นต้นมาก็มีผู้กำกับหญิงทำหนังแนวนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากกอราลี ฟาร์ฌาต์แล้วยังมี มารีนา เดอ วอง (Marina de Van) กับ In My Skin (2002) หญิงสาวผู้ค้นพบความสุขจากการกัดกินเนื้อตัวเอง หรือ จูเลีย ดูคอร์นู (Julia Ducournau) ที่ทำหนังดังสองเรื่อง Raw (2016) วีแกนสาวหัดกินเนื้อคน และ Titane (2021) หญิงสาวประสบอุบัติเหตุจนต้องฝังไทเทเนียมไว้ในหัว ซึ่งเรื่องหลังยังคว้ารางวัลปาล์มทองจากคานส์ด้วย
ผู้หญิงอีกคนที่มีบทบาทสำคัญใน The Substance คือ เดมี มัวร์ (Demi Moore) นักแสดงนำของเรื่อง ชีวิตของนางเอกที่เป็นดาราวัยกลางวัยผู้ตกต่ำนั้นล้อกับชีวิตจริงของมัวร์อย่างเจ็บปวด เดมี มัวร์ดังเป็นพลุแตกจากหนังโรแมนติกเรื่อง Ghost (1990) แต่หลังจากฉีกไปรับบทท้าทายอย่างนักเต้นระบำโป๊ใน Striptease (1996) และทหารหญิงหน่วยซีลใน G.I. Jane (1997) อาชีพเธอก็ดิ่งเหวแบบกู่ไม่กลับ เรียกได้ว่า The Substance อาจเป็นหนังที่พลิกชีวิตเธอ หลายคนลุ้นว่าเธอจะชิงออสการ์สาขานำหญิงหรือไม่ แต่ออสการ์มักหมางเมินหนังสยองขวัญมาตลอด เช่น นักแสดงนำหญิงจาก The Babadook (2014) และ Hereditary (2018) ไม่ได้แม้แต่เข้าชิงด้วยซ้ำ
เดมีให้สัมภาษณ์ว่าการที่ตัวเธอในวัย 61 ต้องมาเล่นฉากเปลือยนับเป็นเรื่องลำบากใจไม่น้อย ต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะก้าวข้ามมาได้ ซึ่งการต่อสู้กับตัวเองหรือการต่อสู้ในภายในจิตใจตัวเองถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของ The Substance อย่างที่หนังเน้นย้ำว่าหญิงวัยกลางคนกับเด็กสาวที่สร้างขึ้นมาล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน ถือเป็นคนเดียวกัน แม้ว่าหนังแนว ‘ไฝว้กับตัวเอง’ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งแนวจิตแตก บุคลิกแปลกแยก และร่างโคลนนิ่ง (หนังกลุ่มนี้เช่น Persona (1966), Fight Club (1999), Moon (2009) หรือ Us (2019)) แต่ The Substance น่าสนใจตรงที่มันคือการต่อสู้ด้าน ‘จิตใจ’ ที่ส่งผลต่อ ‘ร่างกาย’ เรียกได้ว่ามีทั้งระดับกายละเอียดและกายหยาบ
เช่นนั้นแล้ว ฉากน่ากลัวที่สุดใน The Substance จึงไม่ใช่ความ Body horror ทั้งหลาย แต่เป็นฉากนางเอกเผชิญหน้ากับตัวเองด้วยการมองกระจก เธอแต่งหน้าเตรียมตัวออกไปเดท แต่ด้วยความไม่มั่นใจเธอจึงแต่งหน้าซ้ำไปมาอย่างบ้าคลั่ง เดมีพูดถึงฉากนี้ว่านอกจากต้องถ่ายหลายเทคแล้ว มันยังฉากเป็นยากที่สุดของหนัง เธอพูดว่าในชีวิตจริงก็มีวันที่เธอส่องกระจกแล้วรู้สึกว่าตัวเองดูดี แต่ก็มีบางวันที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจบนหน้าตัวเอง แต่เธอก็ต้องยอมรับว่านั่นคือสิ่งที่มันเป็น และทำให้ดีที่สุดจากสิ่งที่มีอยู่
หากแต่ตัวละครเอกของ The Substance ไม่ได้คิดเช่นนั้น เธอศิโรราบให้กับความเปราะบางของตัวเองจนนำไปสู่ความหายนะ หลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้เขียนนึกถึงเพื่อน(ผู้ชาย)คนหนึ่งที่ชวนไปคลินิกทำหน้า แต่ก็ตบท้ายว่า “แต่กูบอกเลย วงการนี้เข้าแล้วมันจะหยุดไม่ได้นะ 555” จากประโยคที่ดูขำขัน ตอนนี้กลับชวนครุ่นคิดอยู่ไม่น้อย