เราคงจะคุ้นเคยกันดี กับคำแนะนำว่าคนเราควร ‘นอนให้ครบ 8 ชั่วโมง’ แต่ผลการศึกษาใหม่กำลังบอกเราว่า ‘นอนและตื่นและให้เป็นเวลา’ ก็สำคัญด้วยเช่นกัน
งานศึกษาใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Epidemiology & Community Health เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา เผยว่า การไม่เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และหัวใจล้มเหลวถึง 26% แม้จะนอนครบระยะเวลาที่ควรแล้วก็ตาม
ที่ผ่านมา งานวิจัยส่วนใหญ่ มักจะวัดผลกระทบของระยะเวลาการนอนหลับต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่ยังมีข้อมูลน้อยเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเวลา ต่อวงจรการนอนหลับ งานศึกษาครั้งนี้จึงเกิดขึ้น
ผู้วิจัยได้ติดตามวิถีการเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา 7 วัน ของผู้เข้าร่วม 72,269 คน ที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 79 ปี ซึ่งเป็นผู้ไม่เคยประสบกับเหตุการณ์หลอดเลือดหัวใจที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงมาก่อน
พวกเขาคำนวณคะแนนดัชนีความสม่ำเสมอในการนอนหลับ (SRI) ของแต่ละคน โดยคะแนนยิ่งสูง แสดงว่ามีการนอนหลับและตื่นนอนในเวลาที่สม่ำเสมอมากขึ้น
จากนั้น ทีมวิจัยได้ติดตามเหตุการณ์การเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นระยะเวลา 8 ปี และพบว่าผู้ที่นอนหลับไม่เป็นเวลา จะมีความเสี่ยงต่อเหตุการณ์เหล่านี้มากกว่าผู้ที่นอนหลับเป็นปกติถึง 26%
ทั้งนี้ ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ เช่น อายุ การใช้ร่างกาย การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ ซึ่งอาจส่งผลต่อกโรคเช่นกัน ดังนั้น งานศึกษานี้ถือเป็นการวิจัยโดยการสังเกต จึงเรียกได้ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่อาจ ‘เชื่อมโยง’ ได้เท่านั้น แต่ไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกัน กล่าวคือ จริงๆ แล้วเราก็ไม่สามารถทราบได้แน่ชัด ว่ารูปแบบการนอนหลับไม่เป็นเวลาทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจริงหรือเปล่า
อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังสังเกตด้วยว่า ผู้ที่นอนเป็นเวลามากกว่า ก็มีแนวโน้มที่จะนอนหลับครบตามจำนวนเวลาที่แนะนำ คือ 7-9 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่มีอายุ 18-64 ปี และ 7-8 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี โดยผู้ที่นอนหลับสม่ำเสมอ นอนครบเวลาได้ 61% ในขณะที่ผู้ที่นอนหลับไม่เป็นเวลา นอนครบเวลาได้ 48%
แต่แม้จะนอนหลับได้ครบตามระยะเวลาที่แนะนำ แต่ยังนอนไม่เป็นเวลาอยู่ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์หลอดเลือดหัวใจที่รุนแรงมากกว่า
ผลการศึกษาจึงชี้ให้เห็นว่า “การนอนหลับสม่ำเสมออาจมีความสำคัญมากกว่าระยะเวลาการนอนหลับที่เพียงพอ”
ฌอง ปิแอร์ ชาปูต์ (Jean Pierre Chaput) ผู้เขียนหลักของงานศึกษานี้ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออตตาวา แคนาดา กล่าวให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ไม่ได้หมายความว่าจะต้อฃเข้านอนและเตื่นนอนให้เป็นเวลา ‘เป๊ะๆ’ ทุกวัน เพียงแต่ไม่ควรห่างกันจากปกติเกิน 30-60 นาที เพื่อให้ร่างกายมีจังหวะการทำงานที่คุ้นเคย
“การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยนั้นไม่เป็นไร แต่รูปแบบการนอนที่สม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ ส่งเสริมด้านอารมณ์และการทำงานของสมอง และลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและเบาหวาน” เขากล่าว
แต่ถ้าใครที่คิดจะมานอนชดเชยในวันหยุด คงต้องหยุดความคิดไว้เพียงเท่านี้ เพราะเป็นพฤติกรรมที่ชาปูต์ไม่แนะนำ เพราะแม้ว่าการนอนให้มากขึ้นในวันหยุดอาจจะช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองได้ชั่วคราว แต่จะเป็นการรบกวนจังหวะการทำงานของร่างกาย และอาจเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาวได้ จึงควรนอนให้สม่ำเสมอทุกวันจะดีกว่า
นาวีด สัตตาร์ (Naveed Sattar) ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์หัวใจและการเผาผลาญ ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยนี้ กล่าวให้ความเห็นว่า แม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงระหว่างวงจรการนอนหลับกับสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด แต่การศึกษานี้ใช้ภาษาที่แสดงให้เห็นความเป็นเหตุเป็นผลมากเกินไป
เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า ปัจจัยอื่นๆ ในชีวิตของผู้คน ซึ่งทำให้พวกเขามีรูปแบบการนอนหลับที่แตกต่างกัน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ในตอนดึก ก็อาจเป็นสาเหตุของผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ไม่ดี มากกว่าตัว ‘วงจรการนอนหลับ’ เอง จึงควรต้องระมัดระวังในการระบุสาเหตุในกรณีนี้
แม้ผลการศึกษาอาจยังไม่ชัดเจน ว่าการนอนไม่เป็นเวลานั้นจะส่งผลต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้จริงไหม มีผลมากแค่ไหน แต่จากผลการศึกษาที่ผ่านๆ มา และคำแนะนำของแพทย์จำนวนหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนอนหลับให้เป็นเวลา และพักผ่อนให้เพียงพอ คงจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับสุขภาพของเราในภาพรวม และจะต้องติดตามผลการศึกษาใหม่ๆ กันต่อไป
อ้างอิงจาก