นิยามคำว่า ‘เมียฝรั่ง’ ภายใต้บริบทสังคมไทย มักถูกใครหลายคนให้ความหมายที่มีนัยในทางลบ มากกว่าความหมายตามตัวอักษรที่หมายถึง การเป็นเมีย หรือภรรยาของชาวต่างชาติ
‘เมียฝรั่ง’ ถูกขีดเส้นแบบกว้างๆ อยู่ 2 แบบ คือ เป็น ‘ลักษณะประจำถิ่น’ ของคนไทยภาคอีสาน และขณะเดียวกัน เส้นทางในการได้เป็นเมียฝรั่งก็ยังไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะอาชีพการงานของหญิงสาวเหล่านี้ยังถูกเข้าใจ และเหมารวมไปด้วยว่า ต้องอยู่ในสายงานที่เรียกว่า เพศพาณิชย์ แรงงานไร้ฝีมือ หรือไม่ได้มีการศึกษาสูงมาก
ทั้งหมดจึงกลายเป็นคำถามชวนสงสัยขึ้นมาว่า ความเข้าใจนี้เป็นเรื่องจริงเท็จแค่ไหนกันนะ สาวไทยที่แต่งงานเป็นเมียฝรั่งส่วนใหญ่อยู่ในกรอบการอธิบายที่ว่ามาจริงหรือเปล่า ด้วยความสงสัยเช่นนี้ เราเลยพยายามหาคำตอบจากงานวิจัย และคำสัมภาษณ์จากนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ที่มีงานศึกษาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในภาคอีสานหลายชิ้นด้วยกัน
ว่าด้วยการแต่งงานข้ามชาติ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเมืองไทย
เราพยายามหาคำตอบจากบทความ และงานวิจัยหลายชิ้นจึงพบว่า การแต่งงานข้ามชาติ (transnational marriage) เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นหลายประเทศ และหลายภูมิภาคทั่วโลก
งานศึกษาของ พัชรินทร์ ลาภานันท์ ยกตัวอย่างผู้หญิงฟิลิปปินส์ที่ทำงานในบาร์ในเขตชนบทของญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่าในตอนแรกหญิงชาวฟิลิปปินส์จะถูกมองว่า เป็นตัวเลือกที่ไม่ดีในฐานะเจ้าสาว แต่หลังจากแต่งงานไปแล้วพวกเธอก็พยายามปรับตัว และเรียนรู้ไปกับขนบของญี่ปุ่น จนสามารถประคองความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวในประเทศบ้านเกิดได้
ไม่เฉพาะผู้หญิงในแถบเอเชียเท่านั้น แต่ยังมีกรณีศึกษาผู้หญิงท้องถิ่นที่ทำงานบริการในประเทศโดมินิกันก็พบว่า พวกเธอใช้ช่องทางในการทำงานเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า จนสามารถพัฒนาไปสู่การแต่งงาน การแต่งงานเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่จึงเปรียบเสมือน ‘passport to the west’ หรือใบเบิกทางสู่ชีวิตที่ดีกว่าในประเทศตะวันตก
ส่วนของบ้านเราพัชรินทร์บอกว่า เส้นทางที่นำไปสู่การแต่งงานข้ามชาติมีหลายช่องทาง แต่หลักๆ แล้วก็คือ การทำงานในแหล่งท่องเที่ยว อย่างพัทยา สมุย ภูเก็ต ที่ผู้หญิงชนบท หรือผู้หญิงที่ไม่ได้มีสถานะทางสังคมดีมาก มักจะใช้ช่องทางนี้ในการสร้างความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ นำไปสู่การแต่งงาน และการย้ายถิ่นได้ในที่สุด
เขยฝรั่ง และเมียฝรั่ง : ไม่ได้หวังพึ่งพิง แต่เป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
พัชรินทร์อธิบายต่อด้วยว่า ลักษณะทั้งหมดทำให้เห็นว่า ผู้หญิงไม่ได้อยู่ในสถานะที่มีอำนาจต่อรองด้อยกว่า ด้วยการรอคอยเพื่อจะแต่งงานกับชาวต่างชาติ ในทางกลับกันผู้หญิงยังเป็น ‘ผู้กระทำการ’ ที่คัดกรอง-ไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีแล้วว่า ผู้ชาย หรือการแต่งงานในครั้งนี้จะสามารถนำพาให้เธอและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้
ผู้หญิงบางคนเคยแต่งงานมีครอบครัวมาแล้ว จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างว่า ความสัมพันธ์ครั้งใหม่จะช่วยสนับสนุนการศึกษา และอนาคตของลูกเธอได้ไหม รวมถึงบางครั้งการเลือกสร้างครอบครัวกับชายชาวต่างชาติ ยังประกอบไปด้วยเหตุผลว่าด้วยการหลบหลีกจากอคติเดิมๆ ในถิ่นกำเนิดของตัวเอง เช่น การเป็นหม้ายลูกติด หรือผู้หญิงอายุเยอะแล้วจะไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตคู่ใหม่ได้ง่ายแบบผู้หญิงโสด
นอกจากนี้ งานศึกษายังพบด้วยว่า ไม่ใช่แค่ฝ่ายผู้หญิงเท่านั้นที่มีหมุดหมายในการแต่งงานข้ามชาติอย่างชัดเจน แต่ฝ่ายผู้ชายในฐานะ ‘เขยฝรั่ง’ ก็ยังคาดหวังที่จะมีชีวิตหลังเกษียณที่มีผู้หญิงคอยดูแล และถ้ายิ่งได้รับการยอมรับจากครอบครัวฝ่ายหญิง และคนในชุมชนก็จะยิ่งรู้สึก ‘ได้รับการเติมเต็ม’ มากขึ้น
ปัญหาเชิงโครงสร้าง นำไปสู่การเป็น ‘เมียฝรั่ง’ ?
อ.ชานนท์ ไชยทองดี อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ที่ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงในอีสาน ยืนยันว่า การเกิดขึ้นของเมียฝรั่งมีส่วนจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ และรัฐสวัสดิการที่ไม่สามารถตอบโจทย์คนทุกระดับได้
อาจารย์เล่าว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นในอดีตสำรวจอายุและการศึกษาของผู้ที่แต่งงานกับชาวต่างชาติพบว่า ส่วนใหญ่ผู้หญิงจบการศึกษาชั้นประถม 4 หมายความว่า การเข้าถึงการศึกษาที่ไม่ทั่วถึงทุกระดับ กลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ ซึ่งได้มีส่วนทำให้ผู้หญิงต้องการมีสามีเป็นชาวต่างชาติ
แต่ในเวลาต่อมาก็มีงานวิจัยชื่อว่า ‘ศึกษาชีวิตสมรสของผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ’ พบว่า นอกจากผู้หญิงอีสานจะมีความต้องการแต่งงานกับชาวต่างชาติ เพราะความเชื่อที่ว่าชาวต่างชาติสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีกว่าเดิมได้แล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็มีความต้องการจะมีคนรักเป็นชาวต่างชาติมากขึ้นเหมือนกัน ตรงนี้เองที่ชี้ให้เห็นว่าระดับการศึกษาอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลต่อความคิดจะมีสามีเป็นชาวต่างชาติเพียงอย่างเดียว
“ข้อมูลจากงานวิจัยยังพบอีกว่า สามีชาวต่างชาติของผู้หญิงไทยภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ย 120,000-200,000 บาทต่อเดือน ทำให้ความเป็นอยู่ของผู้หญิงและครอบครัวดีขึ้นด้วยแน่นอน
แม้ว่าค่านิยมดังกล่าวจะส่งผลต่อความคิดของคนรุ่นหลัง แต่ก็พบว่า ในทางกลับกัน แม้เด็กๆ บางคนจะมีความต้องการแต่งงานกับชาวต่างชาติ แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เด็กๆ ยังสนใจที่จะศึกษาต่อให้สูงที่สุด มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่คิดว่าเรียนไปก็หางานยาก แล้วคิดจะรวยทางลัดด้วยการแต่งงานกับชาวต่างชาติ แม้อาจจะต้องเผชิญกับความจนซ้ำซากก็ตาม”
เมียฝรั่ง ไม่เท่ากับ หญิงชาวอีสาน
อาจารย์อธิบายต่อว่า การมองถึงความคิดเรื่องเมียฝรั่งเป็นเพียงคนอีสานดูจะเป็นมุมมองที่คับแคบ และเหมารวมจนเกินไป ถ้าอ่านข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นจะเห็นตรงกันว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงกระแสนิยมผู้ชายชาวต่างชาติไม่ได้เกิดขึ้นกับหญิงชาวอีสานกลุ่มเดียว แต่ผู้หญิงชนชั้นกลางที่มีสถานะทางสังคมที่ดี หรือความนิยมชื่นชอบชายชาวต่างชาติในหมู่วัยรุ่น จนเกิดเป็นวลี ‘สายฝ.’ ก็มีให้เห็นเป็นปกติ
“งานวิจัยของรัตนา บุญมัธยะ พบว่า ไม่ได้มีแต่ภาคอีสานเพียงภาคเดียว แต่มีทั่วทุกภาคในประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตก แต่ภาพลักษณ์ของผู้หญิงอีสานอาจจะดูติดตามากกว่า ถ้าไม่เป็นการจับผิดด้วยอคติ และเพ่งเล็งประเด็นเมียฝรั่งปนกับนัยของเมียเช่า เราจะพบว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า หญิงไทยในภูมิภาคอื่นก็มีการแต่งงานกับชาวต่างชาติ เช่น งานวิจัยเรื่อง กระบวนการกลายเป็นเมียฝรั่งภายใต้บริบทและสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หรืองานวิจัยที่ชื่อ ศึกษาชีวิตสมรสของผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์”
นอกจากประเด็นนี้อาจารย์ยังเสริมด้วยว่า ปัจจุบันช่องทางการพบรักกับชาวต่างชาติได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว แต่ก่อนอาจจะเป็นการติดต่อผ่านเครือข่าย การไปทำงานที่ต่างประเทศ หรือการแสวงหาตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันมีผู้หญิงไทยที่สนใจจะแต่งงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น จนเกิดเป็นคอร์สออนไลน์
ไม่ว่าการแต่งงานข้ามชาติจะขึ้นอยู่กับเหตุผลข้อไหนก็ตาม คำถามก็คือ ผู้หญิงเหล่านั้นผิดไหมที่ต้องการยกสถานะของตัวเองด้วยการแต่งงาน ถ้านั่นเป็นความมุ่งมั่นในการเอาตัวรอดออกจากชีวิตที่ขาดแคลนด้วยตัวของเธอเอง