งานวิจัยพบว่า ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก ที่ปนเปื้อนในรกที่คลอดก่อนกำหนด ‘สูงกว่า’ ปริมาณในรก จากการคลอดครบกำหนด ถึง 50%
การคลอดก่อนกำหนด ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของทารกทั่วโลก โดยสิ่งที่น่าตกใจคือ ที่มาของการคลอดก่อนกำหนดราว 2 ใน 3 นั้นยังคงไม่แน่ชัด
แต่ที่ผ่านมางานวิจัย โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก ที่ถูกนำเสนอในการประชุมประจำปีของ สมาคมเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Society for Maternal-Fetal Medicine) ณ เมืองเดนเวอร์ สหรัฐฯ เผยความเชื่อมโยงระหว่าง ‘ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก’ กับการคลอดก่อนกำหนด
งานวิจัยดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์รกจากการคลอด ‘ครบกำหนด’ จำนวน 100 ครั้ง (อายุครรภ์เฉลี่ย 37.2 สัปดาห์) และรกจากการคลอด ‘ก่อนกำหนด’ 75 ครั้ง (อายุครรภ์เฉลี่ย 34 สัปดาห์) ซึ่งทั้งหมดมาจากเมืองฮิวสตัน ในเทกซัส
จากนั้นใช้เทคโนโลยีแมสสเปกโทรเมตรี (mass spectrometry) เพื่อศึกษาองค์ประกอบโมเลกุลของสารอย่างละเอียด จนพบว่า ในรกจากการคลอดก่อนกำหนด มีพลาสติกเฉลี่ย 203 ไมโครกรัมต่อกรัมของเนื้อเยื่อ (µg/g) ซึ่งมากกว่าราว 50% เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณพลาสติก ที่พบในรกจากการคลอดครบกำหนด ซึ่งมีค่าเฉลี่ยที่ 130 µg/g
ทั้งนี้ผู้วิจัยพบพลาสติก 12 ประเภท ซึ่งประเภทที่พบมากที่สุดคือ พลาสติก PET ซึ่งใช้ในขวดพลาสติก พีวีซี โพลียูรีเทน และโพลีคาร์บอเนต
“สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ที่การสะสมของพลาสติก อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง ในการคลอดก่อนกำหนด” Kjersti Aagaard ผู้วิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านมารดาและทารกในครรภ์ ระบุ
เขายังกล่าวอีกว่า “เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยให้เราวัดไมโครพลาสติกได้อย่างแม่นยำ ในรูปแบบที่ไม่เคยทำได้ในอดีต” ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีงานวิจัยที่วัดระดับไมโครพลาสติกในเลือดมาแล้ว แต่ประมาณพลาสติกที่พบในรกจากงานวิจัยครั้งนี้ ถือว่าสูงกว่าที่เคยพบในเลือดมาก
การศึกษาครั้งนี้ ยังทำให้ผู้วิจัยสรุปได้ว่า พลาสติกมีแนวโน้มที่จะสะสมอยู่ในรกระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากการสัมผัส และสะสมไมโครพลาสติกในร่างกายมากขึ้น
นอกจากนี้ Enrico Barrozo อีกหนึ่งผู้วิจัย จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ ในเท็กซัสกล่าวว่า แม้การศึกษาครั้งนี้จะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้อง ไม่ใช่สาเหตุ “แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ การเพิ่มความตระหนักรู้ของผู้คนเกี่ยวกับไมโครพลาสติก และความเชื่อมโยงกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ที่อาจเกิดขึ้น”
อ้างอิงจาก