วันนี้ (10 มิ.ย.2568) พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเวลา 01.57 น. ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในอายุ 91 ปี
พล.อ.สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย ได้รับตำแหน่งหลังก่อการรัฐประหารในปี 2534 จากวลี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ อย่าง ‘พฤษภาทมิฬ’
ย้อนกลับไปในวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และจัดตั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขึ้นมาบริหารประเทศ
ในช่วงเวลานั้น รสช.ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของตนเอง ซึ่งรวมถึงบทบัญญัติที่อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จน 22 มีนาคม 2535 ที่มีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมือง 5 พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม (ได้ที่นั่งมากที่สุด) พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้ พล.อ.สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี
พล.อ.สุจินดา จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 เมษายน 2535 ด้วยวลีที่กล่าวไว้ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จากที่ก่อนหน้านี้เคยกล่าวว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2535 กลุ่มนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากจึงรวมตัวกันประท้วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนการชุมนุมประท้วงมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีข้อเรียกร้องสำคัญให้ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การปะทะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม และต่อเนื่องไปจนถึง 20 พฤษภาคม 2535 หลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสั่งการให้ทหารเข้าสลายการชุมนุมหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง (ผู้นำการประท้วง) เข้าเฝ้าฯ นำไปสู่การยุติความรุนแรง
วันที่ 24 พฤษภาคม 2535 พล.อ.สุจินดา ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด หลังดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 48 วัน นับเป็นการยุติสถานการณ์ตึงเครียดจากการประท้วง และเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นับแต่นั้นมา พล.อ.สุจินดา ก็ยุติบทบาททางการเมืองไปและไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ อีก ยกเว้นแต่บทบาทในการแสดงความเห็นหรือให้คำแนะนำเท่านั้น