ในช่วงดึกของวันนี้ (20 มีนาคม 2567) ประชาชนในกรุงเทพฯ หลายเขต ระบุตรงกันว่าได้กลิ่นคล้ายเหม็นไหม้
พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ และผู้บริหารด้านความยั่งยืน กทม. ได้ระบุถึงสาเหตุ 3 ข้อที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นนี้ ได้แก่
1. ทิศทางลมวันที่ 20 เป็นทิศตะวันออก (ตามภาพ) ซึ่งต่างจากวันอื่นๆช่วงนี้ที่มาจากอ่าวไทย ส่วนจุดเผาในช่วง 24 ชม.ที่ผ่านมาพบที่ปริมณฑลหลายจุด
2. ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฤดูร้อน ประกอบกับมีความกดอากาศสูงผ่านทางอีสานมาเมื่อวาน ส่งผลให้ความสูงของชั้นบรรยากาศผสม (Mixing Height) ลดต่ำลง ฝุ่นละอองเกิดการสะสมตัวเพิ่มมากขึ้น
3. ความชื้นในบรรยากาศทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ทุติยภูมิ (Secondary PM2.5) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่เกิดจากพวกสารประกอบไนโตรเจนและแอมโมเนีย จะเกิดปฏิกิริยาได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง
ขณะที่เพจ JS100 ระบุว่า ได้สัมภาษณ์ อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ว่าเหตุผลเกิดจากการจราจรที่หนาแน่น ควันเสียจากรถ รวมถึงมีอากาศร้อนจัดติดกันหลายวัน ดังนั้นเมื่อฝนตกหนักก็จะเกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur dioxide, SO2) เมื่อก๊าซที่มีกลิ่นรุนแรงจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ไปรวมกับน้ำฝน ก็จะทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมี กลายเป็นกรดซัลฟิวริก (กลิ่นกำมะถัน) ทำให้มีกลิ่นเหม็นไหม้กระจายไปทั่ว
อาจารย์สนธิ ให้สัมภาษณ์กับ JS100 ด้วยว่า “กลิ่นดังกล่าวไม่มีผลต่อร่างกาย เพราะมันเกิดการเจือจางไปแล้ว แต่ที่ยังมีกลิ่นอยู่ เนื่องจากหลังจากฝนตกหนักแล้ว ลมไม่ค่อยแรง ลมนิ่ง ทำให้อากาศไม่ถูกพัดไปไหน ทำให้กลิ่นยังคงอยู่”