เมื่อวันจันทร์ (16 เมษา) ต้นสัปดาห์ทีผ่านมา เราได้ผู้ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 2018 โดยรางวัลนี้แบ่งออกเป็นสองแขนงใหญ่ๆ แขนงหนึ่งคือทางสื่อสารมวลชน ที่มอบให้กับการรายงานข่าว บทบรรณาธิการต่างๆ และอีกสายที่เป็นที่จับตาไม่แพ้กันคือแขนงศิลปะการประพันธ์ แล้วพูลิตเซอร์สายวรรณกรรม การละครและดนตรีนี้ ก็ถือเป็นที่สนอกสนใจว่าเล่มไหนหรือใครที่ได้รับรางวัล
สาขาย่อยของพูลิตเซอร์สายศิลป์ มีทั้งหมด 7 สาขา ที่ครอบคลุมงานเขียนทั้งสารคดี บันเทิงคดี บทละคร กวีนิพน์ โดย 7 สาขานั้นได้แก่ บันเทิงคดี (Fiction) ละครเวที (Drama) งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ (History) ชีวประวัติ (Biography) กวีนิพนธ์ (Poetry) สารคดีทั่วไป (General Non-Fiction) และประเภทดนตรี (Music)
รางวัลพูลิตเซอร์เป็นรางวัลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะพอพูดได้ว่าเป็นรางวัลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ ‘ศิลปะแบบอเมริกัน’ งานเขียน ละครเวที และดนตรี ที่ได้รับรางวัลนี้จึงเป็นงานที่เหมือนส่งเสริมความสร้างสรรค์ให้กับวงวรรณกรรมและดนตรีอเมริกันร่วมสมัย
ปีนี้มีผลงานที่ได้รับรางวัลก็น่าสนใจและสร้างปรากฏการณ์มากมาย เรามีบันเทิงคดีที่ตลกขบขัน มีละครเวทีที่พาเราไปเห็นปฏิสัมพันธ์ของคนพิการ หนังสือประวัติศาสตร์ที่โยงสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชายฝั่งเข้ากับความเฟื่องฟูและการเติบโตขึ้นของสังคมเมืองและประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน เรามีงานที่ได้กลับไปหาเจ้าของผลงาน ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ว่าจากกระท่อมน้อยอันอบอุ่นกับชีวิตจริงในพงไพรแตกต่างกันแค่ไหน ในสาขาดนตรีดูเหมือนจะเป็นการนิยามการให้รางวัลซะใหม่ เพราะปีนี้อัลบั้มฮิปฮอปของคนผิวดำได้รางวัล
Fiction- Less, by Andrew Sean Greer
รางวัลพูลิตเซอร์สาขาบันเทิงปีนี้ นักวิจารณ์ค่อนข้างให้ความสนใจ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่งานประเภทชวนหัว (comic) ตลกขบขันได้รับรางวัล Ron Charles นักวิจารณ์ของ The Washington Post บอกว่าปีนี้เป็นปีที่พิเศษมากๆ Less ของ Andrew Sean Greer เป็นนวนิยายที่ฮาสุดๆ ขำจนหายใจไม่ออกกันเลยทีเดียว ตัวเรื่องพูดถึงนักเขียนชายวัยกำลังจะ 50 ที่พบว่าแฟน (หนุ่ม) เก่ากำลังจะแต่งงาน แน่ล่ะว่าใครมันจะอยากไปงานให้ใจร้าวรานเล่น พี่แกเลยจัดการเล่นใหญ่ เดินทางหนีไปจากความเศร้า โดยเดินทางไปตามคำเชิญจากอีเวนต์ทางวรรณกรรมทั่วโลก บทเปิดของเรื่องพูดถึงการทบทวนทั้งความเป็นเกย์และความแก่เฒ่า นักวิจารณ์บอกว่าผู้เขียนเขียนหนังสือสุดฮาแต่เปิดเรื่องด้วยท่าทีที่แสนจริงจัง โดยรวมแล้วตัวเรื่องไม่ได้สักแต่ว่าฮา เพราะในความฮานั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เราสัมผัสได้
Drama- Cost of Living, by Martyna Majok
ปีนี้รางวัลสาขาละครเวรที มอบให้กับละครที่พูดถึงความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้พิการกับผู้ที่ไม่พิการ Cost of Living ของ Martyna Majok จัดแสดงครั้งแรกที่ Manhattan Theatre Club ช่วงเดือนมิถุนายนในปี 2017 ก่อนจะไปจัดแสดงอย่างต่อเนื่องในระดับโลกที่ Williamstown Theatre Festival ตัวเรื่องพาเราไปตามชีวิตของผู้คนสี่คน Eddie คนขับรถบรรทุกตกงาน Ani ภรรยาเก่าที่กลายเป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุครั้งร้ายแรง John ชายที่เป็นโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) และ Jess ผู้ดูแลคนใหม่ของ John ละครเวทีเรื่องนี้ได้รับการเข้าชิงรางวัลสำคัญมากมาย โดย Majok เจ้าของผลงานเป็นชาวโปแลนด์อพยพที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่อเมริกา ซึ่งเธอมักใช้งานเขียนเพื่อเป็นเสียงให้กับผู้คนที่ไร้เสียงและสำรวจกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้รับการนำเสนอในสังคม
History- The Gulf: The Making of an American Sea, by Jack E. Davis
หนังสือแนวประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมเข้ากับการเติบโตขึ้นของรัฐชาติ The Gulf: The Making of an American Sea เป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ที่พาเราไปเห็นความสำคัญของพื้นที่ชายฝั่งของอเมริกา พื้นทางธรรมชาตินี้เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของชาติ ของอเมริกา งานชั้นนี้แสดงให้เห็นว่าการมีพื้นที่ชายฝั่งอันอุดมสมบูรณ์ส่งผลกับพัฒนาการของประเทศได้อย่างไร งานเขียนชิ้นนี้เฉลิมฉลองและสอดคล้องกับความสนใจทางสิ่งแวดล้อม ว่าในที่สุดแล้วระบบนิเวศและธรรมชาติ ส่งผลกับอารยธรรมและความเจริญก้าวหน้า ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าในที่สุดระบบของธรรมชาติและการเติบโตของชาติเป็นสิ่งที่อยู่ในระบบเดียวกัน ไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้
Biography- Prairie Fires: The American Dreams of Laura Ingalls Wilder, by Caroline Fraser
อีกหนึ่งเล่มที่ดี๊ดี เรารู้จัก ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ผลงานเขียนของ Laura Ingalls Wilder บ้านเล็กในป่าใหญ่แม้จะเป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่ก็ถือเป็นบันทึกชีวิตของชาวอเมริกันในยุคหักร้างถางพง ภาพชีวิตแสนสุขในกระท่อมน้อยเป็นเพียงเศษเสี้ยวประสบการณ์ของอเมริกันชนในการต่อสู้กับธรรมชาติ หนังสือชีวประวัติเล่มนี้ทำให้เราได้ดูเอกสารส่วนตัว ทั้งต้นฉบับที่ไม่ได้ตีพิมพ์ จดหมาย บันทึกส่วนตัวและเอกสารอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นช่องว่างอันร้าวรานระหว่างผู้เขียนและผลงานของเธอ ในหนังสือบ้านเล็กในป่าใหญ่อันเป็นเหมือนฝันของชาวอเมริกันที่สวยงาม แต่ในชีวิตจริง เธอกลับต้องเผชิญทั้งการถูกเนรเทศ ความแห้งแล้ง การพยายามปรับตัว และสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อการเอาชีวิตรอด
Poetry- Half-light: Collected Poems 1965-2016, by Frank Bidart
Frank Bidart เปลี่ยนเรือนร่างให้กลายเป็นถ้อยคำในภาษา กวีนำเสนอเสียงของผู้คนที่แสนจะสุดโต่ง ในแต่ละหน้ากวีเสนอทั้งเสียงของ Herbert White ฆาตรกรสังหารเด็ก (คนนี้มีหนังสั้นที่เล่าจากมุมมองของตัวเขาเอง กำกับโดยเจมส์ ฟรังโก้) Ellen West หญิงสาวที่ป่วยเป็นอะนอเร็กเซีย Vaslav Nijinsky อัจฉริยะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทรมาน ตลอดจนเสียงของตัวผู้เขียนกวีนิพนธ์ชุดนี้ได้พาเราไปยังพื้นที่ในจิตใจอันมืดมิดของมนุษย์ โดยพาเราก้าวผ่านไปสู่ความปรารถนาอันแปลกประหลาด การทบทวนความชื่นชอบผิดธรรมชาติ ไปจนถึงเหล่าปีศาจที่อาจพบได้แม้แต่ในตัวของเราเอง
General Nonfiction- Locking Up Our Own: Crime and Punishment in Black America, by James Forman Jr.
ปัญหาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ ของกระบวนการยุติธรรมสหรัฐที่มีต่อคนผิวสีโดยมีพื้นฐานอยู่บนอคติ Locking Up Our Own ตามชื่อคือ James Forman Jr. สงสัยว่าในเมื่อกระบวนการยุติธรรมอาจจะมีปัญหา มีนัยของการเหยียดผิวอยู่ในนั้น แล้วคนผิวดำมีบทบาทยังไงบ้างในกระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงการอยู่ในตำแหน่งของรัฐ งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นความลำบากใจและความอิหลักอิเหลื่อของคนที่อยู่ในระบบ ต่อการสนองสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการสำรวจสายธารที่นำไปสู่ความเข้าใจระหว่างประเด็นเรื่องเชื้อชาติและกระบวนการยุติธรรม
Music- DAMN., by Kendrick Lamar
พูลิตเซอร์สาขาดนตรีเป็นอีกปีที่สร้างปรากฏการณ์ ปีที่ผ่านๆ มา สาขานี้มักมอบให้ดนตรีแนวแจ๊ซและคลาสสิก ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ดนตรีแนวฮิปฮอปอย่าง DAMN. ของ Kendrick Lamar ได้รางวัล แน่นอนว่าเพลงแร็พ ที่เป็นวัฒนธรรมของคนผิวดำเองก็มีบทบาท และพูดเรื่องการเมือง เรื่องเล่าตัวตนของชาติพันธุ์ได้ไม่ต่างกับเพลงแจ๊ซ
โดยในปี 2016 ที่งานแกรมมี่ Lamar สร้างปรากฏการณ์ในการแสดงดังกล่าวผ่านภาพกรอง กองไฟ และการแร็พเพลงที่ว่าด้วยประสบการณ์ของคนผิวสีในสหรัฐ คำประกาศเกียรติคุณคณะกรรมการเชิดชูบทเพลงของ Lamar ว่าได้จับภาพอันซับซ้อนของชีวิตของอัฟริกัน อเมริกันร่วมสมัย
Illustration by Yanin Jomwong