เชื่อว่าหลายคนคงเห็นม้าเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่กับมนุษย์มาโดยตลอด ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ามนุษย์เริ่มใช้ม้าเป็นสัตว์พาหนะตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ล่าสุดนักโบราณคดีพบโครงกระดูกที่คาดว่าเป็นนักขี่ม้ายุคแรก ซึ่งถูกฝังอยู่ที่ที่ทุ่งหญ้าสเตปป์ยูเรเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิได้ตรวจสอบโครงกระดูกทั้งหมด 217 โครง ที่ถูกพบในสุสานฝังศพที่เรียกว่า เคอร์กัน เป็นสุสานที่ฝังทั้งมนุษย์ และม้ารวมกัน ซึ่งหลุมฝังศพในลักษณะนี้จะกระจายตัวอยู่ทั่วโรมาเนีย บัลแกเรีย ฮังการี และเซอร์เบีย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบโครงกระดูกมนุษย์ 9 คนที่ถูกฝังไว้เมื่อ 4,500-5,000 ปีก่อน ในสุสานเหล่านี้ ซึ่งพบว่ากระดูกขา กระดูกสันหลัง และกระดูกเชิงกรานสึกหรอ บ่งบอกว่าพวกเขาขี่ม้าเป็นประจำ ทำให้การค้นพบครั้งนี้กลายเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบในทางโบราณคดี
เพราะการเคลื่อนไหวขึ้นและลงในขณะขี่ม้า อาจทำให้กระดูกสันหลังเสียหายได้ นอกจากนี้ การใช้ต้นขาเพื่อเกาะม้าในขณะขี่ อาจส่งผลให้เกิดการสึกหรอที่กล้ามเนื้อต้นขา
“กระดูกสามารถสะท้อนการใช้ชีวิตของมนุษย์คนๆ หนึ่งได้” มาร์ติน เทราท์มัน (Martin Trautmann) นักชีวมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิกล่าว
เขาเสริมว่า “แล้วถ้าคุณนั่งบนหลังม้าโดยไม่มีโกลน คุณจำเป็นต้องยึดม้าให้แน่น โดยการหนีบขาเข้าหากัน ยิ่งไปกว่านั้น กล้ามเนื้อส่วนสะโพกของคุณยังต้องทรงตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ลื่นไถลตกจากหลังม้า”
เขายังระบุว่า นักขี่ม้าสมัยใหม่ เช่น คาวบอย จะมีการสึกหรอ และฉีกขาดของโครงกระดูกที่คล้ายคลึงกัน
อย่างไรก็ดี โครงกระดูกส่วนใหญ่ที่ค้นพบเป็นของกลุ่มคนที่เรียกว่า ยัมนายา (Yamnaya) พวกเขาจะเลี้ยงวัว และแกะเพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งพวกเขามักจะอาศัยอยู่ที่ราบลุ่มพอนติก-แคสเปียนที่ทอดยาวจากยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ไปจนประเทศคาซัคสถาน รวมทั้งยังล้อมรอบทางเหนือของทะเลดำ และทะเลแคสเปี้ยน
นอกจากนี้ นักวิจัยระบุว่า ม้าถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ครั้งแรกเมื่อประมาณ 4,300 ปีที่แล้วในทุ่งหญ้าสเตปป์ของภูมิภาคทะเลดำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปัจจุบัน ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย และยุโรปในศตวรรษต่อมา และม้าน่าจะถูกเลี้ยงเพื่อกินเนื้อก่อนที่มันจะถูกมนุษย์นำมาเป็นสัตว์พาหนะ
ทั้งนี้ การขี่ม้าเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ที่ช่วยส่งเสริมทางด้านเกษตรกรรม การขนส่ง และการทำสงคราม
อ้างอิงจาก