ในประเทศญี่ปุ่น การถูกเจ้านายรังแกในที่ทำงาน เหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเท่าไหร่นัก จนต้องมีการออกมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐสภาของญี่ปุ่นได้ออกกฎหมาย เพื่อผลักดันให้แต่ละบริษัทจัดการกับปัญหาการถูกรังแกในที่ทำงานอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น ป้องกันไม่ให้เจ้านายใช้อำนาจของตนเองมาข่มเหงลูกน้อง หรือทำลายบรรยากาศในการทำงาน
อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ประเภทของการใช้อำนาจรังแก คือ ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ กีดกั้นใครสักคนให้อยู่ในที่ทำงานอย่างโดดเดี่ยว ใช้งานพนักงานหนักเกินไป แจกจ่ายงานอย่างไม่เหมาะสมกับความสามารถ และถามเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงาน
วิธีที่จะนำมาใช้ในกฎหมายนี้คือ การก่อตั้งโครงการให้คำปรึกษา สร้างความเข้าใจให้กับทั้งเจ้านายและพนักงาน เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรังแก หรือคุกคามทางเพศ รวมถึงให้บริษัทตั้งกฎห้ามไม่ให้เจ้านายใช้อำนาจข่มเหงพนักงาน หรือไล่ออกโดยไร้เหตุผล เพื่อให้ทุกคนเข้าใจโดยทั่วกัน
บริษัทใหญ่ๆ จะต้องนำกระบวนการเหล่านี้ไปปรับใช้ภายในเดือนเมษายนปีหน้า ส่วนบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง สามารถนำไปปรับใช้ได้โดยความสมัครใจ เริ่มตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิครั้งหน้า ก่อนจะกลายเป็นข้อบังคับในอีก 2 ปี
ตอนนี้บทลงโทษสำหรับบริษัทที่ฝ่าฝืนยังไม่ได้ระบุไว้ แต่ก็เคยมีการเสนอให้รัฐบาลนำชื่อบริษัทนั้นๆ ไปประจานต่อสาธารณชน แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาโต้แย้งว่าการลงโทษแบบนี้อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้รับความเห็นจากบริษัทต่างๆ ว่ามันค่อนข้างยากที่จะชี้วัดว่าการกระทำแบบไหนถือว่าเป็นการรังแก แต่ในอนาคตรัฐบาลจะสร้างแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้ทุกบริษัทนำไปปรับใช้
‘Pawa hara’ (power harassment) การใช้อำนาจกดขี่พนักงานอย่างหนัก ทั้งด้วยวาจาหรือลงไม้ลงมือ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในประเทศญี่ปุ่น ทำให้พนักงานขาดความมั่นใจ และรู้สึกว่าขาดบริษัทไม่ได้จนต้องทำงานต่อไปไม่ว่าจะต้องทนทรมานแค่ไหน
หลายๆ บริษัทใช้โครงสร้างที่เป็นชั้นลำดับระหว่างเจ้านายกับลูกน้องอย่างเคร่งครัด ทำให้เจ้านายบางคนใช้อำนาจ และปฏิบัติต่อลูกน้องไม่ค่อยดีนัก เห็นได้จากจำนวนเคสที่เกิดขึ้นในปี 2017 กว่า 72,000 เคส สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องมา 6 ปีแล้ว
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่งได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง เพราะถูกเจ้านายรังแกอย่างหนัก รวมถึงพูดจาทำร้ายจิตใจ ถึงขั้นไล่ให้ไปตาย ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันเรื่องการปฏิรูปแรงงานเป็นนโยบายหลัก เพราะเชื่อว่าปัญหานี้อาจเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพของเศรษฐกิจ
อ้างอิงจาก
https://qz.com/work/1631097/japan-passes-laws-to-prevent-pawa-hara-workplace-bullying/
http://www.asahi.com/ajw/articles/AJ201810180073.html
https://thematter.co/thinkers/black-company-in-japan/63360
#Brief #TheMATTER