ใครตามเพจเกี่ยวกับญี่ปุ่นทั้งหลายคงจะได้ผ่านตาข่าวบริษัท IT แห่งหนึ่งที่ละเมิดพนักงานอย่างรุนแรงแบบที่ให้รายงานทางออนไลน์ตลอดว่าทำงานอยู่รึเปล่า กดดันพนักงานตลอด แถมยังลดทอนความเป็นมนุษย์จนหนึ่งในพนักงานตัดสินใจฆ่าตัวตาย เป็นเคสที่ฟังแล้วดูน่ากลัวเอาเรื่อง เพราะเรียกได้ว่าลดทอนความเป็นมนุษย์ของพนักงานอย่างหนัก จนบางทีก็รู้สึกว่าไม่ต่างกับการใช้แรงงานทาสเลยด้วยซ้ำ
แต่ปัญหาแบบนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาใหม่ของญี่ปุ่นครับ เพราะว่าที่ผ่านมาหากตามข่าวอยู่บ้างก็มักจะพบเรื่องราวของการทำงานหนักจนตาย หรือที่กลายมาเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ‘Karoushi’ (過労死) อย่างไม่น่าภูมิใจเท่าไหร่นัก และไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีคดีดังที่พนักงาของบริษัทตัวแทนโฆษณายักษ์ใหญ่อย่าง Dentsu ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะทำงานหนักเกินไปจนรับไม่ไหว
ไอ้การทำงานหนักแบบถวายหัวให้บริษัทของชาวญี่ปุ่นนี่มันก็เป็นสิ่งที่กระทำกันมาตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจบูมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พอประเทศปรับเปลี่ยนเป็นยุคสมัยใหม่ก็ราวกับว่าตัดสินค่าของคนด้วยผลงาน แถมในช่วงฟองสบู่ที่ยิ่งทำงานหนักแล้วผลตอบแทนยิ่งหนักตามไปด้วย คนก็ยิ่งแข่งกันขยันทำงานแบบลืมตาย แต่พอฟองสบู่แตก เศรษฐกิจล่ม งานก็ยังหนักเหมือนเดิม แต่ผลตอบแทนกลับไม่คุ้มค่าเหมือนเก่า แต่คนก็ต้องทำงานกันต่อไป เพราะดีกว่าไม่มีงานทำ กลายเป็นค่านิยม ทำงานหนักไปวันๆ แทน ซึ่งบริษัทหลายหลายต่อหลายแห่งก็หาประโยชน์จากตรงนี้ ใช้เป็นข้อต่อรองให้พนักงานทำงานหนักราวกับทาส แล้วยังเต็มไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ หรือการกดขี่ จนถึงยุคปี 90s ถึง 2000 ที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป ในญี่ปุ่นเริ่มมีคำว่า ‘Black Kigyou’ (ブラック企業) หรือ Black Company ให้เห็นกันในเว็บบอร์ด
Black Company เดิมทีเป็นคำที่เอาไว้ใช้เรียกบริษัทที่เกี่ยวข้องกับยากูซ่าหรือมีธุรกิจผิดกฎหมาย แต่พอเอามาใช้ในเน็ตก็กลายเป็นคำที่ใช้ในแวดวงบริษัท IT จนสุดท้ายก็ใช้กับบริษัททุกประเภทที่กดขี่พนักงานราวกับทาสนั่นเอง ความหมายเลยเปลี่ยนไปแบบนี้ละครับ
เอกลักษณ์ของบริษัทที่ได้ชื่อว่า Black Company ก็คือบริษัทที่ใช้แรงงานพนักงานราวกับทาสตามที่ว่าไว้ มักจะให้พนักงานทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก บางคนก็ทำงานล่วงเวลาเกินเป็น 100 ชั่วโมงต่อเดือน ทำงานแบบไม่ให้เวลาพัก จ่ายค่าตอบแทนไม่คุ้ม แต่ที่อันตรายมากสุดก็คือ power harassment หรือการใช้อำนาจกดขี่พนักงานอย่างหนัก ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือลงไม้ลงมือ หรือถ้าไม่ลงไม้ลงมือก็บังคับขู่เข็ญสารพัดวิธี ซึ่งบางคนอาจจะสงสัยว่าทนไปทำไม แต่ก็นั่นละครับ หลายคนก็กลัวว่าจะหางานใหม่ไม่ได้ และการใช้วาจาขู่เข็ญ พร้อมทั้งลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่งก็มีผลทำให้คนๆ นั้นขาดความมั่นใจในตัวเอง และรู้สึกว่า ‘ขาดบริษัทไปไม่ได้’ จนต้องยอมทำงานต่อไป แม้จะไม่คุ้มหรือทรมานแค่ไหน (คล้ายๆ กับการควบคุมจิตใจของลัทธิต่างๆ)
อย่างที่บอกไปว่า ถ้าเป็นแต่ก่อน การทำงานหนักมักจะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า เราจึงไม่ค่อยเห็นเรื่องราวแบบนี้ แต่ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย ผลตอบแทนก็ไม่คุ้มเช่นเคย และคนรุ่นใหม่แทนที่จะมองว่าค่าของคนคือผลงาน พวกเขาก็เริ่มหันมามอง work-life balance กันมากขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีกว่า คำว่า Black Company จึงกลายเป็นคำที่แพร่หลายในสังคมญี่ปุ่นมากขึ้นจนทำให้สังคมและรัฐบาลต้องหันกลับมามองปัญหานี้เสียที แทนที่จะมองแค่ว่าเป็นแค่ค่านิยมของคนจากต่างยุคสมัย แต่จริงๆ แล้วคือปัญหาเรื้อรังของสังคมญี่ปุ่น
เป็นปัญหาแค่ไหน ก็ไม่ใช่แค่ทำงานหนักจนตาย แต่กลายเป็นว่า เข้าไปทำงานแล้วจากคนดีๆ มีอนาคตสดใสกลายเป็นคนมองโรคในแง่ร้าย เป็นโรคซึมเศร้า สุดท้ายทำงานไม่ไหว ตัดสินใจฆ่าตัวตาย กรณีแบบนี้มีเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่าง Dentsu หรือกรณีของบริษัท Watami เครือร้านอิซาคายะร้านดัง ที่มีพนักงานหญิงอายุ 26 ปีตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังจากเข้าทำงานที่บริษัทได้เพียงสองเดือน แต่ด้วยความที่เธอต้องทำงานล่วงเวลาถึง 141 ชั่วโมงในเดือนเดียว แน่นอนว่าการตัดสินใจฆ่าตัวตายอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวหากเจ้าตัวไม่ได้เขียนสาเหตุทิ้งไว้ แต่ใครจะพูดได้เต็มปากละครับว่ามันไม่ได้เกี่ยวกัน อ้อ ก็ตัวประธานบริษัทไงครับที่ปฏิเสธข้อเกี่ยวข้องทั้งหมด และในทีแรกยังไม่ยอมขอโทษครอบครัวของพนักงานหญิงเลยด้วย หลังจากนั้นมีสื่อไปสัมภาษณ์อดีตผู้จัดการร้านที่ทำงานกับพนักงานคนดังกล่าว เขาก็บอกว่า ไม่แน่ใจว่าทำงานล่วงเวลา 141 ชั่วโมงจริงรึเปล่า เพราะตัวเขาเองก็ทำงานล่วงเวลาไป 300 ชั่วโมงต่อเดือน! ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้ายันเที่ยงคืนโดยแทบไม่มีเวลาพักระหว่างวัน แถมเวลาจ่ายเงินเดือนยังมีข้อความโหดๆ จากประธานบริษัทคอยกดดันลูกน้องอีก ไหนจะการหักเงิน ‘เพื่อสังคม’ จากเงินเดือนพนักงาน แล้วตอนประธานบริษัทออกหนังสือ ตัวแกเองก็แจกจ่ายให้พนักงานทุกคนโดยหักค่าหนังสือจากเงินเดือนอีกต่างหาก
ใครบ่นก็ได้คำตอบง่ายๆ ว่า “ไปตายซะ”
นี่ละครับตัวอย่างของ power harassment ซึ่งมักจะพบได้ไม่น้อยเลยจากการทำงานในสังคมญี่ปุ่น และหลายครั้งมักจะเกิดจากการแข่งขันกันอย่างหนักของธุรกิจประเภทเดียวกัน ตัวอย่างเช่นธุรกิจส่งสินค้าที่นอกจากจะต้องแข่งกับเจ้าอื่นแล้ว สิ่งที่นำมาแข่งกันก็มักจะเป็นความรวดเร็วในการส่งสินค้า ทำให้พนักงานต้องทำงานกันอย่างหนักแบบไม่ได้พักผ่อน (จริงๆ ในอเมริกา Amazon ก็เพิ่งเป็นข่าวว่าบีบให้พนักงานทำงานหนักขนาดไปห้องน้ำไม่ได้ บางคนใส่ผ้าอ้อมทำงานเลยทีเดียว) ลักษณะที่พบได้อีกอย่างคือ ตัวประธานหรือฝ่ายบริหารมักจะมาแบบวันแมนโชว์ กลายเป็นพนักงานรอบๆ ก็รับกรรมไป หรือในบริษัทที่มักจะต่อต้านสหภาพของพนักงาน (แน่นอนว่าสหภาพแข็งเกินไปก็เป็นปัญหาครับ ของแบบนี้ต้องรักษาสมดุลด้วย)
ยังดีที่พอเป็นยุคอินเทอร์เน็ต ข้อมูลและข่าวสารก็แพร่หลายกันมากขึ้น ทำให้เราสามารถทราบได้ว่าบริษัทไหนมีแนวโน้มที่จะเป็น Black Company ได้ก่อนสมัคร แต่เนื่องจากสภาวะแย่งงานกัน บางทีคนก็อาจจะตกหลุมได้ ซึ่งก็มีคนสรุปคำแนะนำว่าควรจะกรองบริษัทแบบไหนออกตั้งแต่ตอนเห็นประกาศรับสมัครเพราะมีโอกาสจะเป็นกลุ่ม Black Company นี่ละครับ วิธีดูก็น่าสนใจ มีตั้งแต่
- บริษัทที่ประกาศรับพนักงานตลอดทั้งปี ยิ่งรับเยอะยิ่งน่าห่วง เพราะปกติญี่ปุ่นจะเปิดรับพนักงานเป็นช่วงๆ และเข้าทำงานพร้อมกันในเดือนเมษายน แต่ถ้ารับเยอะทั้งปีแบบนี้ แสดงว่าเป็นบริษัทที่พนักงานลาออกเป็นจำนวนมากอยู่เป็นประจำ
- ประกาศที่บอกว่า “คนหนุ่มสาวกำลังสร้างผลงานกัน” มองอีกแง่คือ ไม่มีใครทนอยู่ได้จนมีประสบการณ์พอ หรืออาจจะกลายเป็นเบี้ยให้บริษัทใช้งานตามใจชอบ
- “ไม่มีทำงานล่วงเวลา” อีกความหมายคือ ทำล่วงเวลาก็ไม่มีเงินให้
- “บรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน” ส่วนใหญก็กลายเป็นว่า เหมือนบ้านจริงๆ เพราะโดนลากมาทำงานกระทั่งวันหยุด
- “ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ” อันนี้ยกขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อล่อให้คนติดกับง่ายๆ
- ไม่ได้เน้นที่รายละเอียดของระบบงาน แต่อาศัยคำเช่น “ต้องการคนใจสู้” หรือ “ทำให้ฝันเป็นจริง” พวกนี้มักจะมาอาศัยแรงฮึดพนักงานทีหลัง
- เงินเดือนพื้นฐานสูง ฟังดูดี แต่จริงๆ คือเอามาล่อให้คนเข้ามาทำงานก่อน
ถ้าเจอแบบนี้เขาก็ให้สงสัยไว้ก่อนล่ะครับ แต่จะให้ดีก็พยายามหาข้อมูลผ่านเน็ตมาด้วย ยังดีที่พอเรื่องพวกนี้เป็นกระแสก็มีเว็บไซต์จัดอันดับให้รางวัล ‘บริษัทที่ชั่วร้ายที่สุดในญี่ปุ่น’ ในแต่ละปี โดยจะยกชื่อบริษัทต่างๆ รวมไปถึงหน่วยงานราชการหรือสถานศึกษาด้วย บอกว่าที่ไหนเป็นบริษัทที่ชั่วร้าย และให้เหตุผลว่าทำไม แล้วให้พลเมืองเน็ตมาลงคะแนนกันอีกที เวลาประกาศออกมาแต่ละทีก็ช่วยกระตุ้นให้สังคมสนใจปัญหาตรงนี้ได้ครับ รัฐบาลเองก็เข้ามาพยายามจัดการปัญหาตรงนี้ด้วย เช่นกำหนดให้ห้ามทำงานล่วงเวลาเกินเท่านั้นเท่านี้ แต่กลายเป็นว่าก็ได้สร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาอีก นั่นคือ บริษัทม้าลาย
บริษัทม้าลายเป็นคำที่คิดขึ้นมาใหม่ ใช้เรียกบริษัทที่เหมือนจะขาว แต่จริงๆ ก็ดำ ปนๆ กันไป มีสองกลุ่มคือ กลุ่มบริษัทที่ใหญ่มากจนส่วนหนึ่งก็เป็นบริษัทขาว ดูแลพนักงานดี แต่ก็มีแผนกที่กดขี่พนักงาน เรียกได้ว่า two-in-one อีกแบบคือ บริษัทดำที่พอโดนรัฐหรือกระแสสังคมจี้แล้วก็พยายามปรับปรุงตัว แต่สุดท้ายก็ปรับปรุงแค่เบื้องหน้า ภายในยังดำสนิทเหมือนเดิม อันนี้ยิ่งน่ากลัวครับ อย่างในปัญหาการบังคับให้ลดการทำงานล่วงเวลา กลายเป็นว่า ถ้างานไม่เสร็จ พนักงานก็ยังต้องทำงานล่วงเวลาเหมือนเดิมเพียงแต่ว่าไม่บันทึกการล่วงเวลา กลายเป็นว่าอยู่ก็ดึก เงินก็ไม่ได้อีก แบบนี้เขาเรียกว่า Service Zangyou หรือ ทำล่วงเวลาบริการให้ฟรี—ปวดหัวเข้าไปอีก
เรื่องแบบนี้นี่คงไล่จับกันไปอีกนาน และถ้ารัฐบาลไม่คิดจะเอาจริงเอาจัง มันก็ส่งผลต่ออนาคตของชาติ อยากจะให้อนาคตของชาติสวยสดใส อยากให้มีประชากรเพิ่ม แต่ไม่คิดจะจัดการกับบริษัทที่บีบให้คนทำงานจนลืมเรื่องส่วนตัวไปแบบนี้ แล้วใครมันจะมีเวลามาดูแลครอบครัวให้มีคุณภาพล่ะครับ แค่ลางานเพื่อไปธุระเรื่องลูกก็ยังโดนมองแรงแล้ว ชีวิตก็มีแต่ทำงาน ทำงาน ทำงาน ถ้าไม่เปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ก็คงไม่ไหว
ฟังดูหดหู่ แต่จริงๆ แล้วในญี่ปุ่นก็มีบริษัทพวก White Kigyou บริษัทขาวที่มาจากการวิจัยของอาจารย์ซากาโมโตะ โคจิ (Sakamoto Koji) จากมหาวิทยาลัยโฮเซ (Hosei University) อาจารย์ใช้เวลาสี่สิบกว่าปีไล่ดูบริษัทที่ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างดี ซึ่งส่งผลต่อกำลังใจในการทำงาน และกทำให้ผลงานออกมาดี ลูกค้าก็ประทับใจอีก บางบริษัทก็เป็นที่รักของท้องถิ่นอีกด้วย เช่นบริษัท Ina Food ในจังหวัดนากาโน่ ที่ช่วงมีออเดอร์เยอะ แทนที่จะบังคับให้พนักงานทำงานล่วงเวลา กลับรับออเดอร์เท่าที่รับได้ เพราะเลือกคุณภาพงานระยะยาวดีกว่าการฝืนลุยงานช่วงสั้นๆ ก็เป็นที่น่าสนใจว่า การทำงานแบบนี้แทนที่จะทำให้รายรับหด กลายเป็นว่าเกือบทั้งหมดของบริษัท White Kigyou กลับยืนหยัดอยู่ได้อย่างสง่างาม แถมทำผลกำไรได้ด้วย
หวังว่าแนวทางการศึกษาของอาจารย์ซากาโมโตะจะถูกนำมาปรับใช้ในสังคมญี่ปุ่นให้มากขึ้นนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก