ธรรมชาติยังมีอะไรที่เราไม่รู้ และรอให้เข้าไปค้นพบอีกมากมาย การรักษาธรรมชาติโดยเฉพาะผืนป่า – ที่ๆ มีความหลากหลายทางชีวภาพ – ไม่ให้ถูกทำลาย จึงมีความสำคัญ
ล่าสุด นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเพิ่งตีพิมพ์การค้นพบใหม่ลงในวารสาร Nature Communications ถึงการค้นพบปลาไหลไฟฟ้า 2 สายพันธุ์ใหม่ โดยสายพันธุ์หนึ่งว่ากันว่า สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยแรงดันสูงถึง 860 โวลต์ (ราวสามเท่าครึ่งของแรงดันไฟฟ้าตามครัวเรือนของไทย) แรงที่สุดเท่าที่สิ่งมีชีวิตจะทำได้ พร้อมทำลายสถิติเดิมซึ่งอยู่ที่ 650 โวลต์
งานวิจัยที่ว่า ทำการทดลองจากการวิเคราะห์ตัวอย่างดีเอ็นเอ 107 ตัวอย่าง ทำให้สามารถแยกประเภทของปลาไหลไฟฟ้าบริเวณป่าดิบชื้นแอมะซอน ซึ่งเคยเชื่อกันว่าบริเวณนั้นมีสายพันธุ์เดียว คือ Electrophorus electricus ไปเจออีกสายพันธุ์ใหม่ๆ อีก 2 สายพันธุ์ ได้แก่ Electrophorus voltai และ Electrophorus varii
โดยปลาไหลที่ปล่อยแรงดันไฟฟ้าได้ถึง 860 โวลต์ ก็คือสายพันธุ์ Electrophorus voltai
ทีมนักวิจัยกลุ่มนี้ นำโดยดาวิด เดอ ซานตานา (David de Santana) ผู้ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของสถาบันสมิธโซเนียน เชื่อว่าปลาไหลไฟฟ้าทั้ง 3 สายพันธุ์เคยมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อหลายล้านปีก่อน
“ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่รอให้มนุษย์ไปค้นพบ บางชนิดอาจช่วยพัฒนาตัวยาใหม่ๆ ในการรักษาโรค คือช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้” ทีมนักวิจัยให้เหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรช่วยกันรักษาธรรมชาติ โดยเฉพาะผืนป่าเอาไว้
อ้างอิงจาก
https://www.nature.com/articles/s41467-019-11690-z (งานวิจัยฉบับเต็ม)
#Brief #TheMATTER