แกๆ ได้เกรดอะไร ถ้าได้ A ก็แสนดีใจ แต่ถ้าเริ่มหมาแมว C+ D+ นี่ยิ้มแหะๆ สุดๆ ก็ได้ F นี่แหละ นั่งดูใบเกรดไป หัวใจตุ้มต่อม เกรดช่างมีผลกับชีวิต เป็นเสมือนนิยามว่าเจ้าของ GPA นั้นมันได้เรื่องได้ราวขนาดไหน คิดๆ ไปก็ เอ้อ ใครนะเป็นคนเริ่มเอาตัวอักษร A-F มาใช้ในระบบการให้คะแนน แล้วจะว่าไป มี A B C D แล้วก็ F เลย E มันหายไปไหนหว่า
‘ระบบเกรด’-grading system-เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมโลกสมัยใหม่ เกิดขึ้นตามหลังสถาบันการศึกษาเล็กน้อย คือสมัยก่อน การศึกษาเป็นเรื่องตัวต่อตัว เป็นระบบการให้ความรู้ มีการฝากตัวเป็นศิษย์แล้วก็จบไป แต่พอโลกเข้าสู่ยุคใหม่ เรามีการสร้างระบบการศึกษาและสถาบันการศึกษาเพื่อรองรับและผลิตคนจำนวนมากขึ้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเลยมีการออกแบบการวัดผลและให้คะแนนที่เป็นระบบ เป็นมาตราฐานขึ้นมา
ใครกันนะที่เป็นคนเริ่มระบบเกรด ระบบที่ทำให้เราต้องวิ่งตามตัวอักษรภาษาอังกฤษเพื่อชี้วัดความสามารถและความขยันหมั่นเพียรของเรา?
ระบบเกรดและการวัดผลแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่มีมหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาสมัยใหม่ การให้เกรดอย่างเป็นระบบครั้งแรกในมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในปี 1785 ที่ Yale คือก่อนหน้านี้ มีการบันทึกว่า โอเค อาจารย์ก็จะประเมินผลการศึกษาของนักศึกษาด้วยการเขียนบรรยายซึ่งมันก็มีลักษณะของใครของมัน ซึ่งการประเมินด้วยการบรรยายก็ไม่ได้เป็นการวัดผลที่เป็นระบบเท่าไหร่
การให้เกรดครั้งแรกที่ Yale ใช้ตัวอักษรภาษาละตินในการแบ่งว่าเด็กคนไหนมีผลการศึกษาในระดับใด คือ Optimi (ดีเลิศ), second Opitimi (ดีรองลงมา), Inferiores-Boni (ด้อย-ดี) และ Pojeres (แย่ที่สุด) ในบันทึกมีการพูดถึงนักศึกษาจำนวน 58 คน ได้เกรดตามลำดับคือ 20 คน, 26 คน, 12 คน และ 10 คน ตามลำดับ ซึ่งการให้เกรด 4 ระดับนี้คาดว่าส่งอิทธิพลในการให้เกรดแบบ 1.0 ถึง 4.0 ที่ใช้กันในยุคต่อมา แต่ว่าจุดเริ่มตรงนี้น่าจะไม่เกี่ยวกับการให้เกรดด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ A B C D สำหรับที่เยลเองก็มีการปรับจากการให้ 4 ระดับ ไปสู่เกรด 9 ระดับ
ในยุคเดียวกัน ที่ Harvard ก็มีการคิดแบ่งนักเรียนออกเป็น 5 ระดับ จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน มีหลักฐานว่าปรากฏว่าที่ฮาร์วาร์ดให้เกรด B แต่ไม่ปรากฏว่าที่ฮาร์วาดให้เกรดครบระบบ A-F เจ้าระบบเกรดจากอักษรภาษาอังกฤษเริ่มใช้ที่ Mount Holyoke College ที่ Massachusetts ในปี 1897 ระบบที่เกรดที่ใช้ครั้งแรกตัดเกรด A ที่ 95-100 คะแนน, B ที่ 85-95 คะแนน,… โดยมีระยะห่างแต่ละเกรดที่ 10 คะแนน ซึ่งเด็กที่ได้คะแนนที่ 75 เป๊ะจะได้ D–โคตรโหด-ต่ำกว่า 75 ถือว่าได้ E คือ ตก
คำตอบที่ว่าทำไม E ถึงกลายเป็น F คือคนมักจะสับสนว่าไอ้เจ้า E ที่ควรจะแปลว่าห่วยสุด แปลว่าตก จะไปงงกับคำว่า Excellence ที่ Holyoke College เองปีก็มีการเปลี่ยนจาก E เป็น F หลังจากการใช้ระบบ A-B-C ได้หนึ่งปี หลังจากนั้นสิบถึงยี่สิบปี ระบบการให้เกรดด้วยตัวอักษรก็ได้รับความนิยมแพร่หลายตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยและระดับโรงเรียน ได้รับความนิยมไปทั่วสหรัฐ-ทั่วโลก ซึ่งเจ้า E ที่หมายถึงตกก็ค่อยๆ หายไปกลายเป็น F ที่เราแสลงใจกันทุกวันนี้
ปัจจุบันในหลายประเทศก็ยังมีการใช้เกรด E และ F สลับกัน เช่น ในญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ก็ใช้ E แทน F ส่วนในมาเลเซียก็มีการให้เกรด E อันเป็นเกรดระหว่าง D และ F เจ้า E นี้หมายถึงโครตแย่-แต่ไม่ถึงกับตก (Extremely Poor)
อ้างอิงข้อมูลจาก