‘สวยไม่ได้ครึ่งเท่าที่ศิลปินทั้งหลายวาดไว้’
ก็ใช่นะสิ! นั่นมันพะยูน!
วันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1493 คุณคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ชายผู้เดินทางผ่านห้วงมหาสมุทรแอตแลนติกและพาชาวตะวันตกไปรู้จัก ‘โลกใหม่’ ทวีปอเมริกา ในวันนั้นเฮียแกกำลังแล่นเรือใกล้ชายฝั่นแถวสาธารณะรัฐโดมินิกันในปัจจุบัน ปรายตาไปเห็น ‘พะยูนหางกลม’ (manatee) สามตัว แล้วพี่แกคิดก็ว่าเจ้าพะยูน 3 ตัวเป็นนางเงือกตามตำนานที่เคยได้ยินได้ฟังมา
ตอนนั้นเชื่อว่าลุงโคลัมบัสก็คงคาดหวังว่าการเดินทางไปต่างแดนไกลๆ จะได้เห็นสิ่งมีชีวิตแปลกๆ พวกสัตว์ในตำนานที่ผู้คนเล่าขานกันทั้งหลาย และการได้เจอกับพะยูนน้อยทั้งสามตัวนั้น เฮียแกคงจะผิดหวังพอสมควรว่านางเงือกในตำนานนั้นหน้าตาไม่ยักกะที่ละม้ายคล้ายวาดฝันไว้
ในวัฒนธรรมตะวันตกมีเรื่องเล่าตำนานเกี่ยวกับนางเงือกอยู่ทั่วไป เราเล่าถึงสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างเป็นสาวงาม อาศัยอยู่ในมหาสมุทร บ้างก็ว่ามีท่อนล่างเป็นปลา มีชีวิตเป็นอมตะ คอยล่อลวงพวกกะลาสีหรือชายหนุ่มทั้งหลายให้หลงรัก ถ้าย้อนไปอย่างน้อยก็สมัยกรีก มีเรื่องเล่าถึง นางไซเรน อสูรกายสาวที่สิงสู่อยู่ในท้องทะเล จากตำนานนี้เอง เหล่านักเดินเรือและชายหนุ่มทั้งหลายต่างคำนึงถึงอมนุษย์สาวงามที่อยู่ในท้องทะเลเสมอ หรือในทางกลับกัน สิ่งที่ชายหนุ่มนักเดินทางทั้งหลายเห็น อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายมนุษย์อย่างเจ้าพะยูน ก่อนที่จะนำมาเล่าต่อๆ กันจนกลายเป็นตำนานก็ได้
ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ นางเงือกถูกพูดถึงและบรรยายอยู่บ่อยครั้ง เช่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 มีบทกวีบทหนึ่งที่พูดถึง ‘ธรรมชาติของนางเงือก’ (The Nature of the Mermaid) ในบทกวีโบราณบรรยายว่า นางเงือกคือสิ่งมีชีวิตที่มีกายเป็นหญิงสาวผสมกับปลา พวกนางล่อลวงเหล่ากะลาสีด้วยเสียงเพลงและเสียงประสานอันหลากหลายก่อนจะจมเรือและนำความทุกข์ทรมานมาให้กับชายหนุ่มที่หลงกล หลังจากนั้นก็มีบันทึกการเดินทาง มีงานเขียนจำนวนหนึ่งที่พูดถึงการเจอนางเงือกในทำนองเดียวกัน คือเป็นหญิงสาว
จนกระทั่งมาถึงปี 1493 ที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสล่องเรือไปเจอกับเจ้าพะยูนหางกลมสามตัวจริงๆ ในบันทึกการเดินเรือระบุถึงนางเงือกที่น่าผิดหวังเหล่านั้นว่า “พวกมันก็ไม่ได้ดูสวยงามอย่างที่ถูดวาดกันไว้ แต่ในบางส่วนเราก็จะเห็นว่าหน้าของพวกมันมีลักษณะความเป็นชายปรากฏอยู่บ้าง” และก็เขียนบอกไว้ว่า พี่แกก็เห็นสิ่งมีชีวิตแบบเดียวกันนี้แถวๆ แอฟริกาตะวันตก – คาดว่าในตอนนั้นเฮียแกก็ยังเชื่อว่าแกเจอนางเงือกจริงๆ
ทำนองเดียวกันในปี 1614 กัปตันจอห์น สมิธ (Captain John Smith) คนเดียวกับที่เรารู้จักจากโพคาฮอนทัส ก็รายงานว่าเฮียแกเจอนางเงือกที่ชายฝั่ง Massachusetts แกบรรยายว่า “ร่างกายส่วนบนของเธอดูคล้ายกับผู้หญิง เธอว่ายน้ำอย่างสง่างามอยู่ใกล้ชายฝั่ง” – “ดวงตาของเธอกลม แต่ดูจะกลมจนเกินไป จมูกก็ดูสั้นไปหน่อย หูดูยาวๆ และผมสีเขียวของเธอก็ดูยาวรุ่ยร่ายจนเกินไป แต่ในที่สุดแล้ว ไม่ได้สวยงามดึงดูดแต่อย่างใด”
ดูทรงแล้ว ก็เหมือนจะเป็นเงือกแบบเดียวกันกับโคลัมบัสแน่นอน และผมสีเขียวที่ว่าอาจจะเป็นหญ้าทะเล อาหารของมันรึเปล่านะ
ในช่วงปี 1800 ช่วงที่วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา การศึกษาสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เริ่มเฟื่องฟู Philip Henry Gosse นักธรรมชาติวิทยาในยุคนั้นก็ครุ่นคิดว่า ไอ้เจ้าตัวที่นักเดินเรือทั้งหลายบอกว่าเจอเงือกนี่มันคือตัวอะไร แกบอกว่า การโผล่ขึ้นของผีสางที่ว่านี้จะบอกว่านักเดินเรือพวกนี้หลงไปเห็นแมวน้ำหรือสิงโตทะเลเป็นนางเงือกก็คงไม่น่าใช่ เพราะนักเดินทางในแถบนี้ต่างรู้จักสิ่งมีชีวิตสองอย่างนี้เป็นอย่างดี ถ้าเรื่องนางเงือกไม่ใช่เรื่องกุขึ้นมาแหกตา ก็อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่เรายังไม่รู้จัก
หลังจากที่เราทำความรู้จักสิ่งมีวิตประหลาดตัวนี้เรียบร้อย ความน่าวิตกของพวกมันคือเจ้าพะยูนนี้กำลังเป็นสายพันธุ์เสี่ยงสูญพันธุ์ ของไทยเองในปี พ.ศ. 2560 มีรายงานว่าทั้งประเทศมีพะยูนเหลืออยู่ไม่ถึง 200 ตัว พวกมันถูกล่าไปทำยา และด้วยตัวมันเองที่มีอายุขัยประมาณ 70 ปี สามารถออกลูกได้เพียง 30 ตัว การที่มนุษย์เราก็กำลังคุกคามถิ่นที่อยู่และแหล่งหญ้าทะเลอันแหล่งอาหารสำคัญ ความเป็นอยู่ของพวกมันก็นับว่าเสี่ยงอย่างยิ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก