กลไกความคิดฟุ้งๆ แบบ ‘ฝันกลางวัน (Daydreaming)’ เคยถูกตัดสินว่าไร้สาระและไม่นำพาประโยชน์ แต่ภายใต้สังคมที่เรียกร้องให้คุณมีสติตลอดเวลา ฝันกลางวันจึงเป็นทางออกสู่การแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่เหนือจากตรรกะเดิมๆ ที่คุณคุ้นชิน
ถ้าเราเป็นมหาเศรษฐี จะใช้เงินซื้ออะไรดี หรือเที่ยวรอบโลกดีกว่า แต่ถ้าจู่ๆ เครื่องบินตกจนต้องติดเกาะจะต้องทำอย่างไรถึงรอดตาย แล้วถ้าเกิดไอ้เกาะที่ติดอยู่ดันไปตั้งระหว่างคาบสมุทรเกาหลีแล้วเกิดสงครามขึ้นมา เราจะเอาไงต่อ หรือแท้จริงเราเป็นกุญแจสำคัญในการยุติสงครามทั้งมวล
“จอดป้ายหน้าด้วยพี่”
การผจญภัยสุดท้าทายบนถนนเส้นลาดพร้าวในชั่วโมงเร่งด่วนจบลงเพียงเท่านี้
กล้ายอมรับไหมว่าคุณเองก็เป็นนักฝันเฟื่องที่คิดอะไรต่อมิอะไรในหัวมากมายเมื่อต้องเจอความเบื่อหน่าย เอาเป็นว่าทุกคน (หรือเกือบทุกคน) มักบอกว่าตัวเองฝันกลางวันเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตอันแสนธรรมดาถึง 96% บ้างเลอะเทอะวุ่นวาย บ้างก็สั้นกระชับพอจับใจความ หรือบ้างก็วิปลาสแบบเซ็กซ์สุดแฟนตาซี (ก็ไม่ว่ากัน) ซึ่งความคิดที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ตรรกะหรือการกดทับทางจริยธรรมเหล่านี้มักพาเราไปสำรวจประสบการณ์ลึกๆ ในความทรงจำ ดึงเราออกจากปัจจุบันกาล และตั้งคำถามกับตัวเอง
ฝันกลางวันจึงอยู่ในความสนใจของนักจิตวิทยาและประสาทวิทยามาอย่างยาวนาน สมองเราจัดการกับความคิดที่ดูเหมือนจะไร้แก่นสารเหล่านี้อย่างไร พวกเขาพบว่าภาวะฝันกลางวันคือกลไกหนึ่งที่สมองปล่อยวางสติสัมปชัญญะ เข้าสู่ Default Mode สถานะค่ากลางซึ่งเชื่อมโยงกับสมองบางส่วนที่สั่งการให้ ‘เปิดหรือปิดกิจกรรมประสาทในสมอง’ ที่มักเกี่ยวกับประสบการณ์และความทรงจำ หากเราใช้ฝันกลางวันอย่างเข้าใจ ความคิดลมๆ แล้งๆ อาจนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาที่คาดไม่ถึง และปลดพันธนาการแห่งความสร้างสรรค์อีกด้วย
หรือหากคุณใช้มันเป็น อาจทำให้คุณไม่เป็น ‘บ้า’ เอาเสียก่อน
“ฉันไม่รู้วันรู้คืนอีกต่อไปแล้ว แต่ทุกครั้งที่ฉันฝัน ฉันค้นพบโลกใหม่เหนือกำแพง ” เอดิธ โบน
เอดิธ โบน (Edith Bone) หญิงสาวเชื้อสายฮังกาเรียน เธอออกจะเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้าอยู่สักหน่อย ทำอาชีพหลายอย่างเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง ทั้งการเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักแปลภาษา และมีความปรารถนาต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เนืองๆ ในหัวใจ
ในช่วงปี 1956 ประเทศฮังการียังถูกปกครองด้วยอิทธิพลอันน่าหวาดหวั่นของโซเวียต ทุกๆ วันจะมีเสียงผู้คนโอดครวญจากการถูกทุบตี เสียงแผดลั่นของกระสุนปืนหลากหลายชนิด และเสียงไซเรนเพื่อบังคับเป็นสัญญาณให้ทุกคนอยู่ในเคหสถานเมื่อมีการเคอร์ฟิว
ความฉลาดกับทักษะการสื่อสารของเอดิธทำให้เธอตกเป็นเป้าหมาย หน่วยตำรวจลับฮังการี State Protection Authority (แต่จัดตั้งโดยอำนาจโซเวียต) สงสัยว่าเธอทำหน้าที่เป็นสายลับให้กับรัฐบาลอังกฤษ โดยเอดิธไม่สามารถปฏิเสธข้อกล่าวหาใดๆ ได้เลย พวกเจ้าหน้าที่ซ้อมและทรมานเธอจนกระทั่งลงโทษขั้นเด็ดขาดด้วยการ ‘ขังเดี่ยว’ ในห้องปูนอันเย็นเฉียบที่ไร้แสงใดๆ เล็ดลอด เป็นเวลานานถึง 7 ปี
คุณคงจินตนาการไม่ออกว่าการอยู่ในความมืดนานๆ มันทรมานต่อสติสัมปชัญญะของมนุษย์แค่ไหน เพียงลองอยู่ในห้องมืดเพียง 10 นาที ร่างกายคุณก็ปั่นป่วน หรืออย่างเก่งไม่เกิน 3 วัน ซึ่งก็ใกล้เคียงภาวะวิกลจริตแล้ว
แต่ เอดิธ โบน ต้องถูกจองจำนานถึง 7 ปี ภายใต้ความมืดมิดที่ดูดกลืนทุกสรรพสิ่ง มีหนทางเดียวที่เธอจะไม่เป็นบ้าหรือไม่ชิงฆ่าตัวตายเสียก่อน เธอพบว่าสมองอันมหัศจรรย์สามารถสร้างประตูมิติที่ไม่มีกำแพงใดๆ มาขวางกั้นได้
เอดิธจึงฝันเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอด
เอดิธเริ่มฝึกฝนตัวเองให้ฝันกลางวันเพื่อประคับประคองความเป็นมนุษย์ กึ่งๆ กายบริหาร แต่เป็น ‘จิตบริหาร (Mental exercises)’ โดยเริ่มตั้งแต่จินตนาการถึงบทกลอนที่เคยอ่านแล้วแปลเป็น 6 ภาษา หรือนำมาเรียงกันใหม่จากภาษาต่างๆ
มองรูปทรงเลขาคณิตในห้องขังโดยแปลให้เป็นภาพที่มีความหมายเชิงเสรีภาพและสันติ เธอเอาตัวละครจากเชกสเปียร์มาเล่นร่วมกับตัวละครอื่นๆ ในนวนิยายที่เธอเคยอ่าน ผูกเรื่องให้น่าติดตาม จนต้องมาฝันต่อบ่อยๆ เพราะเจ้าหน้าที่ใจร้ายพอที่จะไม่ให้กระดาษ สมุด หรือหนังสือใดๆ ให้เธอขีดเขียนเลย
เธอฝันว่าเดินอยู่ในที่ต่างๆ ที่เธออยากไป โรม ฟลอเรนซ์ มิลาน เวียนนา หรือลอนดอน จินตนาการว่าได้เจอผู้คนต่างเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในความมืดมิด สร้างอิสรภาพทางความคิดที่รัฐบาลทหารไม่สามารถพรากไปจากเธอ
ได้ก็เพียงแค่ตัว หาใช่จินตนาการอันแจ่มชัด เธอจึงเลือกอยู่ข้างกับความหวังแทนจะอยู่กับความเจ็บปวด
ความฝันช่วยเยียวยาอีดิตอย่างน่าอัศจรรย์ จนกระทั่งเธอถูกปล่อยตัวในช่วงปฏิวัติฮังการี ผู้ประท้วง (ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา) บุกยึดคุกที่กักขัง และปล่อยตัวเธอออกมาโดยอีดิธยังคงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
เมื่อได้รับอิสรภาพ เธอจึงไปสถานที่ต่างๆ ที่เคยฝันถึง และย้ำเตือนกับตัวเองเสมอว่า “ชีวิตยังมีหวังเสมอ”
Wandering Mind
เมื่อคุณพยายามต่อสู้กับความเบื่อหน่าย ภาวะฝันกลางวันทำให้สมองคุณเข้าสู่สถานะ default mode โดยลดสิ่งเร้ารอบตัวลง และทำให้เรามองประสบการณ์และความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาอย่างถี่ถ้วนขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหวนนึกถึงอดีตว่าส่งผลอย่างไรต่ออนาคต และผู้คนรอบๆ มีปฏิกิริยาอย่างไรกับการกระทำของเรา นำไปสู่การตัดสินใจที่ละเอียดขึ้นกว่าการใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียว
จากการสำรวจของมหาวิทยาลัย York ในปี 2012 นำโดยนักจิตวิทยา Raymond Mar สัมภาษณ์ผู้คนที่มีอายุระหว่าง 18-85 ปี ว่าความฝันกลางวันเกี่ยวพันกับความพึงพอใจของชีวิตหรือไม่ พบว่าผู้คนทั้งชายและหญิงที่ฝันกลางวันถึงบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวจะมีความพึงพอใจกับชีวิตในระดับดี แต่คนที่ฝันกลางวันถึงคนแปลกหน้าหรือตัวละครในเรื่องสมมติมีแนวโน้มพึงพอใจในชีวิตต่ำกว่ากลุ่มแรกและรู้สึกโดดเดี่ยวกว่า
นอกจากนั้นการฝันกลางวันยังเชื่อมโยงกับศักยภาพการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เรามองข้ามปัญหาไปไกลอีกก้าว โดยส่วนใหญ่นักคิดนักประดิษฐ์มักไขปริศนายากๆ ด้วย ‘Eureka moment’ หรือ ‘อ๋อ! รู้แล้ว’ โดยการปล่อยสมองไม่ต้องไปโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ หนึ่งในนั้นคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่สามารถแยกระหว่าง ‘ภาระ’ และ ‘ความนึกคิดฟุ้งซ่าน’ ออกได้อย่างแยบคาย (โดยเชื่อว่ามันจะประจบกันในภายหลัง) ไอน์สไตน์มักเดินเก็บก้นบุหรี่บนทางเท้าแล้วพึมพำอะไรอยู่คนเดียว ระหว่างเอายาเส้นมามวนใหม่ความคิดเขาก็เตลิดไปไกลโดยไม่คิดเกี่ยวกับเรื่องงานเลย ไอน์สไตน์ยอมรับว่าความคิดดีๆ ส่วนใหญ่เกิดนอกห้องทดลองทั้งนั้น มันอยู่ในถนน มันอยู่ในผู้คน มันอยู่กับในเมฆ
แม้ฝันกลางวันจะทำให้เราพบประสบการณ์อื่นๆ แต่มันก็มีแง่มุมที่ไม่น่ารักอยู่เสียหน่อย เพราะหลายคนใช้ฝันเพื่อทำร้ายตัวเองอยู่บ่อยๆ โดยใช้ความทรงจำสร้างสถานการณ์ร้ายๆเป็น Scenario ที่ทำให้วิตกกังวลแทน และไม่สามารถแยกแยะความจริงกับความคิดได้ นำมาสู่การตัดสินใจผิดๆ ปฏิเสธสังคม และทำให้โดดเดี่ยวยิ่งกว่าเก่า
การปล่อยความคิดให้ไหลไป โดยสามารถควบคุมหางเสืออย่างอยู่มือช่วยพัฒนาความจำ การตอบสนองต่อสิ่งเร้า และการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
ใครๆ ก็ล้วนฝันท่ามกลางความปั่นป่วนที่ชีวิตต้องเผชิญ ความฝันบอกให้ใครฟังก็ไม่แจ่มชัดเท่าตัวเราเห็นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Solitude: In Pursuit of a Singular Life in a Crowded World