ไอเดียดีๆ จาก TED อีกแล้วกับ Alain de Botton นักปรัชญาหนุ่มร่วมสมัยพาเราไปครุ่นคิดถึงภาวะความเชื่อและศาสนาของคนร่วมสมัยที่เราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่ได้รับการชี้นำโดยศาสนา แต่บางทีเราก็ยังต้องการบางแง่มุมของศรัทธาอยู่ บางทีการแบ่งการมี/ไม่มีศาสนาโดยสัมบูรณ์ไปเลย แบบว่าฝ่ายหนึ่งปฏิเสธไม่เอา กับอีกฝ่ายที่ยังคงศรัทธาอย่างเหนียวแน่น สุดท้ายในโลกที่ซับซ้อนมันอาจจะไม่ได้แบ่งแยกออกไปโดยสิ้นเชิงขนาดนั้น
ในฐานะมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ เราเคยรู้สึกงงๆ ไหมที่ว่า ด้านหนึ่งของเราก็เป็นมนุษย์สมัยใหม่ เป็นมนุษย์แห่งเหตุผล เราไม่เชื่อหรอกเรื่องอำนาจลึกลับที่มาสร้างและกำหนดความเป็นไปของโลก เราเชื่อในเหตุผล เชื่อในตัวเอง เชื่อในวิทยาศาสตร์ ตรงนี้เองที่ทำให้ใครหลายคนอาจจะเริ่มพิจารณาตัวเองว่าเป็นพวกอเทวนิยม คือไม่เชื่อในเรื่องพลังศักดิ์สิทธิ์และการถูกกำหนดชะตาชีวิต เราเชื่อในตัวเอง
แต่การเป็นมนุษย์สมัยใหม่มันก็มี ‘ความยากลำบาก’ พวกเราเองจริงๆ แล้วก็เป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ดังนั้นบางทีโดยแกนแล้วเราก็ไม่ได้เชื่อในพลังเหนือธรรมชาตินะ แต่ในทางปฏิบัติเราก็ยังคงทำในกิจกรรมที่มันไม่อเทวนิยมเท่าไหร่ เราอาจจะไปปล่อยปลาเพื่อความสบายใจ แอบอ่านคอลัมน์หมอดูเพื่อชี้นำชีวิตสักหน่อยซิว่าวันนี้ชีวิตจะเป็นยังไงนะ ซึ่งก็ไม่ได้เชื่อหรอก ไม่ใช่แค่นั้น เราอาจจะชอบงานศิลปะบางอย่างที่มีรากฐานมาจากความเชื่อทางศาสนา มีที่มาหรือแรงบันดาลใจมาจากศรัทธา
กระแสเรื่องการหันไปสู่ ‘การไม่มีศาสนา’ ในโลกที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าทุกวัน ผู้คนดูจะหันเหออกจากศาสนาและไปสู่การเป็น ‘คนไม่มีศาสนา’ มากขึ้น สถาบัน Pew Research Center ทำการสำรวจการนับถือศาสนาในปี 2010 พบว่า กลุ่มศาสนาสำคัญเช่นคริสตศาสนาหรืออิสลามยังคงมีผู้นับถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ศาสนาที่มีคนนับถือเป็นอันดับสองในแต่ละประเทศก็คือการ ‘ไม่มีศาสนา’ นี่แหละ เช่นในอเมริกาเหนือและหลายพื้นที่ในยุโรปเอง ถัดจากคริสเตียนแล้วคนจะพิจารณาว่าตัวเองไม่มีศาสนา ซึ่งปริมาณคนที่ไม่นับถือศาสนาจะคิดเป็น 16% ของประชากรทั้งหมดในโลก (เยอะนะ)
โดยเผินๆ แล้วการเป็นอะเตอิส (Atheist) โดยนัยแล้วมันคือการที่เราสมาทานความคิดแบบพวก ‘ขี้สงสัย (skepticism)’ ดังนั้นพวกขี้สงสัยก็มักจะได้ข้อสรุปว่า การเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติเชื่อในพระเจ้าเป็นเรื่องที่ไม่ต่างอะไรกับนิทานสำหรับเด็ก แต่ในขณะเดียวกัน – ย้อนกลับไปอ่านด้านบน
ตรงนี้เองที่เดอโบตองบอกว่า เฮ้ย มันง่าย – และยากไปนะที่เราจะมาแบ่งแยกอะไรแบบที่ว่าฉันเป็นคนไร้ศาสนาแล้วจะต้องปฏิเสธความเชื่อรวมไปถึงอะไรทั้งหลายที่มากับศาสนานั้น
สิ่งที่เดอโบตองพยายามชี้ให้เห็นคือการแบ่งแยกมุมมองสองมุมมองให้ขาดออกจากกันอาจจะไม่ถูกต้องนัก
ถ้าเรามองฟังก์ชั่นของเรื่องทางโลก (secular) และทางศาสนา (religious) โบตองชี้ให้เห็นว่าจุดยืนของมุมนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับทางโลก – แน่ล่ะมีรากฐานมาจากยุคสมัยใหม่ที่เชื่อมั่นในมนุษย์ สิ่งที่โลกสมัยใหม่จะให้ได้คือข้อมูลข่าวสาร เพราะโลกสมัยใหม่เชื่อว่าเราคือ ‘ผู้ใหญ่’ ที่โตแล้ว มีเหตุผล และจัดการตัวเองได้ ดังนั้นก็เอาข้อมูลไปขบคิดเอา ในขณะที่โลกศาสนาเริ่มจากจุดที่ต่างจากนั้นอย่างสิ้นเชิง ศาสนามองเราว่าเป็น ‘เด็ก (child)’ ดังนั้นสิ่งที่ศาสนาจะให้เราได้คือ ‘การชี้ทาง (guidance)’
ดังนั้น มันเหมือนกับเป็นมุมมองที่ต่างกัน แต่เอาจริง ในห้วงเวลาๆ หนึ่งของคนๆ หนึ่ง เราเองก็ไม่ได้เข้มแข็งตลอด ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ หรือไม่ได้เป็นเด็กตลอด ดังนั้นมันเลยไม่แปลกเนอะที่ในใจเราอาจจะมีความเชื่อมั่นอย่างหนึ่ง แต่บางทีความอ่อนแอก็อาจจะต้องทำให้เราตระหนักและยอมรับว่าเรามันก็เป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ขอคำชี้ทาง ขอความช่วยเหลือให้ฉันบ้าง
วิธีการของเดอโบตองค่อนข้างเป็นการรื้อว่ามุมมองสมัยใหม่ที่ปฏิเสธศาสนาจากจุดยืนของเหตุผลอาจจะทำให้เรามองข้ามความซับซ้อนขององค์กรหรือสถาบันที่ดำรงและชี้นำมนุษย์มากว่าพันปีว่า จริงๆ แล้ว ในความคร่ำคร่าเหล่านั้นอาจประกอบด้วยความซับซ้อนบางอย่างที่อาจจะมีผลที่ดีต่อการดำรงชีวิตโดยเฉพาะในโลกที่ยากลำบากใบนี้
โลกสมัยใหม่ที่แห้งแล้ง การเป็น ‘ผู้ไม่ศรัทธา’ ในศาสนาที่เราต่างก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป ศาสนา รวมถึงวิธีคิดและแง่มุมส่วนประกอบอื่นๆ ก็อาจจะเป็นเหมือนอุปกรณ์หรือตัวช่วยให้เราได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวได้ ถ้าเรามีความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีหรือไม่มีศาสนาก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก