‘เมืองพุทธ’ คือหนึ่งในคำอธิบายอย่างไม่เป็นทางการของประเทศไทย
ตั้งแต่จำนวนศาสนสถาน เปอร์เซ็นต์ศาสนิกชน ไปจนจุดเพ่งเล็งของรัฐที่จะโปรโมทศาสนาสักศาสนาหนึ่งทำให้แม้ว่าประเทศไทยไม่มีศาสนาประจำชาติ คุณค่าของ ‘พุทธศาสนา’ นั้นแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของประเทศและวัฒนธรรมไทย อย่างน้อยก็ในมุมมองที่ถูกปลูกฝังมาให้เชื่อแต่เด็ก
ไม่ใช่ทุกคนเห็นด้วยกับภาพนั้น หนึ่งในเสียงที่เถียงถึงความเป็นเมืองพุทธของไทยคือสุจิตต์ วงษ์เทศ กวี นักเขียน และผู้ก่อตั้งวารสารศิลปวัฒนธรรม “ทุกวันนี้ทุกคนบอกว่านับถือศาสนาพุทธ ไม่นับถือศาสนาผี แต่พฤติกรรมจริงๆ เนี่ย ผีทั้งหมด หรือผีปนพุทธ ปนพราหมณ์” สุจิตต์พูดในกิจกรรม Special Talk หัวข้อ ‘ศาสนาผีในไทย หลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน’ ที่เขาเชื่อว่านอกจากพุทธศาสนาในไทยแล้ว ศาสนาผีมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและความเชื่ออื่นๆ ไทยในหลากหลายแง่มุมด้วย โดยการพูดคุยครั้งนี้เป็นมุมมองของสื่อมวลชนและการสังกตเชิงตีความมากกว่าการพูดคุยเชิงวิชาการของสุจิตต์
ลักษณะของศาสนาผี
“ผีเป็นผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ไม่ว่าดีหรือร้ายเกิดขึ้นมาจาการกระทำของผี” สุจิตต์กล่าวเกี่ยวกับลักษณะความเชื่อของศาสนาผี ในขณะที่พุทธศาสนาอาจเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดและวัฏสงสาร ศาสนาผีไม่เชื่อเช่นนั้น ความเข้าใจในประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะนี่คือสิ่งที่มีความเข้าใจผิดมากที่สุดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับศาสนาผีคือศาสนาผีไม่ได้เชื่อในวิญญาณ แต่เชื่อในสิ่งที่เรียกว่า ‘ขวัญ’ ซึ่งมีข้อแตกต่าง
ในหนังสือ งานศพยุคแรกอุษาคเนย์ โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เล่าถึงพิธีกรรมการจัดการศพของคนภายในอุษาคเนย์ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ในโลกก่อนการเข้ามาของศาสนาอื่นๆ สุจิตต์อธิบายเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ของขวัญว่า “หมายถึงส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้…มีหลายหน่วย โดยแต่ละหน่วยจะสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ อาคารสถานที่ เป็นต้น” ฉะนั้นความต่างแรกคือไม่ใช่เพียงสิ่งมีชีวิตเท่านั้นที่มีขวัญ
ส่วนที่ขวัญและวิญญาณแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญคือเมื่อพูดถึงมนุษย์ โดยมากแล้วเราจะเชื่อว่าวิญญาณคือตัวตนของบุคคล แต่ในความเชื่อของผีนั้นตรงข้ามกัน “ขวัญคือส่วนที่ไม่เป็นตัวตนของคน” สุจิตต์เขียนในหัวข้อขวัญของคน ที่เขาอธิบายว่าในตัวคนตามแต่ละวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีหลายขวัญ และขวัญที่สำคัญที่สุดคือขวัญที่กลางหัว ที่เราเรียกกันว่าจอมขวัญ ซึ่งเป็นตัวแทนของชีวิตโดยตรง และนี่คือความเชื่อที่ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมไม่ชอบให้เล่นหัว ไม่เกี่ยวกับของต่ำของสูง
ความเข้าใจในขวัญนี้สำคัญเพราะว่ามันเป็นพื้นฐานของพิธีกรรมจำนวนมากภายใต้ศาสนาผี ตัวอย่างเช่นวิธีการทำงานศพดั้งเดิมของคนอุษาคเนย์นั้นจะไม่ได้เผา เพราะเชื่อกันว่าในขณะที่ร่างตายไปแล้ว ขวัญจะไม่ตาย เพียงแต่เคลื่อนไหวตามวิถีตัวเอง และวิธีจัดการศพจะมีความแตกต่างกันออกไปแล้วแต่สถานะทางสังคม อาจจะทำพิธีเรียกขวัญให้กลับเข้าสู่ร่าง แล้วให้แร้งกากินเพื่อนำขวัญที่ติดกับร่างของคนนั้นไปยังที่ที่ดีกว่า หรืออาจจะฝังกลางบ้านเมื่อเป็นชนชั้นนำเพื่อให้ขวัญกลับสู่ร่างแล้วกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ค่านิยมตรงข้ามศาสนาพุทธ
เมื่อเราพูดถึงพุทธศาสนาสิ่งแรกที่หลายๆ คนคืดถึงน่าจะเป็นไม่ภิกษุสงฆ์ ก็เป็นพระพุทธเจ้า สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือโดยมากแล้วตัวละครสำคัญของศาสนาพุทธเป็น ‘ผู้ชาย’ ผู้ชายต้องบวชให้พ่อแม่จับชายผ้าเหลืองไปสวรรค์ หรือหากจะมีผู้หญิงตามการตีความกระแสหลักผู้หญิงมักทำหน้าที่เป็นสิ่งเร้าที่นำไปสู่กิเลศตัณหา พระไม่อาจจับต้องสีกาได้
แต่นี่คือข้อแตกต่างสำคัญอีกอย่างเมื่อพูดถึงศาสนาผี
เพราะในมุมมองของศาสนาผีนั้น
มีการให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากกว่าอย่างสม่ำเสมอ
มีความเชื่อว่าวิธีที่ผีสามารถติดต่อกับมนุษย์ได้นั้นคือผ่านร่างทรงเท่านั้น และร่างทรงต้องเป็น ‘ผู้หญิง’ เท่านั้น “ร่างทรงผู้ชายมันหลอกครับแทงหวยนะครับ” โดยสุจิตต์อธิบายผ่านตัวอย่างโครงกระดูกผู้หญิงที่ขุดค้นที่โคกพนมดี อายุราวๆ 3,000 ปีมีเครื่องประดับเป็นลูกปัดและเปลือกหอยราวๆ 120,000 เม็ด แสดงให้เห็นถึงสถานะของคนผู้นี้ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นหัวหน้าเผ่าและเป็นร่างทรงของผีบรรพชนสูงที่สุดซึ่งคือผีฟ้าทำให้เธอเป็นผู้นำพิธีกรรมทางศาสนา
และในฐานะผู้ที่สามารถกำเนิดชีวิตได้ ในสมัยบราณการสืบเชื้อสายนั้นเป็นไปตามสายฝ่ายหญิงหรือทางแม่ ตรงข้ามกับค่านิยมพุทธและทุกๆ ศาสนาในปัจจุบัน ความสำคัญของเพศหญิงที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันคงเหลือไว้เพียงคำพูดที่ใช้เรียกคู่แต่งงาน เจ้าสาวที่แปลว่านาย และเจ้าบ่าวที่แปลว่าคนใช้ นั่นหมายความถึงค่านิยมที่ผู้ชายจำต้องเข้าไปเป็นคนใช้ในบ้านของผู้หญิงจนกว่าจะได้รับการอนุญาตให้เป็นสามีนั่นเอง
และสุดท้ายคือมุมมองต่อเซ็กซ์ ในขณะที่ศาสนาพุทธ หรือในกรณีนี้ ศาสนาใดๆ มักวางข้อจำกัดการเข้าถึงเซ็กซ์เอาไว้ ว่าเป็นเรื่องต้องห้ามของพระ หรือต้องผ่านพิธีกรรมก่อนจึงร่วมเพศกันได้ แต่ในศาสนาผี นอกจากจะเป็นการสืบพันธ์แล้ว การร่วมเพศในตัวของมันเองก็สามรถเป็นพิธีกรรมได้ด้วย โดยคนสมัยนั้นเชื่อมโยงมันโดยตรงกับการเจริญพันธุ์ของพืชพันธุ์ที่ให้การร่วมเพศเป็นพิธีกรรมขอฝน
หลักฐานของศาสนาผีในไทย
“ความจริงในโลกมันเริ่มต้นที่ศาสนาผีทั้งนั้นแหละ” สุจิตต์กล่าวเพื่อปูเข้าเรื่องความเก่าแก่ของศาสนาผี เขาเชื่อว่าก่อนจะมีศาสนาอะไรก็ตามไม่ว่าพุทธ พราหมณ์ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ ความเชื่อสไตล์ศาสนาผีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้นมาก่อน โดยเขายกตัวอย่างว่าโบราณสถานขนาดใหญ่ของโลก เช่น พีระมิด และสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ นั้นสร้างขึ้นมาจากหลักคิดเดียวกันกับศาสนาผี ร่างกายตายไปแล้ว แต่ยังมีขวัญอยู่รอเวลาที่จะกลับคืนชีวิต จึงต้องมีบริวาร เครื่องใน เครื่องใช้ไว้รอการกลับมา
ส่วนในไทย สุจิตต์เสนอว่าหลักฐานความเก่าแก่ของศาสนาผีนั้นอาศัยอยู่ภายในหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย นั่นคือภาพเขียนสีบนผนัง เช่น ภาพเขียนเขาจันทร์งาม ภาพเขียนถ้ำลายแทง ภาพเขียนผาหมอนน้อย และภาพเขียนสีผาแต้ม “รูปคนเนี่ย ไม่เหมือนคน ทำให้ชะลูด ไม่เหมือนปกติ นักโบบราณคดีมักบอกว่ามันสะท้อนวิถีชีวิตคนในสมัยนั้น แต่สำหรับผมไม่ใช่ มันสะท้อนผีในทัศนะของคนสมัยนั้น มันคือรูปของผีบรรพชน” สุจิตต์กล่าว ซึ่งแต่ละหลักฐานที่กล่าวมานั้นอายุราวๆ ที่ 2,500 – 3,000 ปี
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของภาชนะแบบต่างๆ ที่มักพบในหลุ่มฝังศพของคนสมัยนั้น พิธีศพของคนยุคนั้นอย่างที่ว่าไปต้องมีพิธีเรียกขวัญก่อนเป็นอย่างแรก แต่เมื่อเรียกแล้วขวัญไม่กลับมาร่างของผู้ตายก็เน่าสลายตามกาลเวลา จึงต้องนำศพไปฝังเพื่อรอขวัญไว้ก่อน และนั่นเป็นที่มาของหม้อลายขวัญที่พบเจอที่บ้านเชียง เป็นการสร้างภาชนะที่จะเป็นที่อยู่ของขวัญของผู้ตายรายนั้นๆ “(หม้อลายขวัญ) ไม่ใช่ของที่ระลึก และไม่ใช่ของอุทิศตามที่นักโบราณคดีชอบใช้ ถ้าใช้คำว่าอุทิศเป็นศาสนาพุทธทันที” เขาพูด
และเมื่อจบพิธีรูปแบบดังกล่าว หากมั่นใจแล้วว่าขวัญจะไม่กลับมา จะมีการขุดร่างของผู้เสียชีวิตที่เนื้อหนังย่อยสลายไปแล้วมาทำพิธีอีกครั้ง เรียกว่าฝังศพครั้งที่ 2 (Secondary Burial) โดยจะนำใส่ในภาชนะรูปแคปซูล โดยในไทยมีหลักฐานของพิธีกรรมนี้ในรูปแบบ ‘เฮือนแฮ่ว’ หรือ ‘เฮือนแฮ้ว’ เรือน 4 เสาคร่อมหลุมศพ โดยภาพจำลองเฮือนแฮ่วมีหลักอยู่บนกลองมโหระทึกในเวียดนาม กลองที่มักใช้ในงานเกี่ยวข้องกับความตาย
นอกจากนั้นเฮือนแฮ่วที่เป็นเรือนสมมติให้เหมือนที่อยู่อาศัยจริงๆ นักโบราณคดีตะวันตกเคยขุดพบร่างใต้บ้าน จึงสันนิษฐานว่าในพื้นที่นี้มีการจัดงานศพด้วยการฝังที่ใต้ถุนบ้านจริงๆ แต่ในมุมมองของสุจิตต์เชื่อว่าสิ่งปลูกสร้างเหนือหลุมศพนั้นๆ คือเฮือนแฮ่วนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันพิธีกรรมรูปแบบดังกล่าวจะสามารถพบได้อยู่ในเวียดนามเหนือและคนลาวทรงดำที่อาศัยอยู่แถบเพชรบุรีและเขาย้อย
ผีสู่พุทธ ความเชื่อและพิธีกรรมอะไรบ้างที่มาจากศาสนาผี
“ศาลหลักเมือง ผีครับ พระสยามเทวาธิราช ผีครับ ตึกพระเจ้าเหาที่ลพบุรี บางคนบอกว่ามาจากภาษาอังกฤษว่า house แต่ผมว่ามาจากภาษาจีนว่าเฮ่า แปลว่าเทพบิดร ผีครับ” สุจิตต์พูดเกี่ยวกับสิ่งที่เรามักมองว่าเป็นแนวคิดพุทธ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องผี หนึ่งในนั้นคือศาลพระภูมิ ที่เขาตั้งข้อสังเกตว่าแม้จะเรียกว่าเทวดา แต่พฤติกรรมการเซ่นไหว้นั้นเป็นแบบเดียวกันกับที่ใช้กับศาลเจ้าที่ เป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกว่านี่คือการแสดงความเคารพต่อผี
นอกจากนั้นอย่างที่บอกไปตอนต้น ขวัญเป็นเรื่องสำคัญของศาสนาผี และเช่นเดียวกัน งานทุกอย่างที่มีชื่อเกี่ยวกับขวัญนั้นเป็นพิธีกรรมที่มาจากศาสนาผีทั้งสิ้น เช่น การบายศรีสู่ขวัญ เวียนเทียนทำขวัญ รับขวัญ คำว่าของขวัญ โดยกิจกรรมเหล่านี้ในร่างปัจจุบันของมันมีการผสมควบรวมธรรมเนียมพุทธและพราหมณ์เข้าไปบ้าง แต่พื้นฐานของมันมาจากพิธีกรรมของผี
และพิธีที่มาจากศาสนาผีอีกอย่างคือพิธีไหว้ครู “มันเริ่มต้นมาจากการไหว้ผีที่อยู่ในเครื่องมือเครื่องใช้ทำมาหากิน” สุจิตต์พูด “ผมบอกแล้วว่าขวัญมันสิงอยู่ในทุกๆ อย่าง” เขาพูดต่อ โดยเป็นพิธีโบราณที่ขาดช่วงไปเมื่อสมัยอยุธยา แต่กลับมาเมื่อรัตนโกสินทร์เป็นพิธีไหว้ครูโขน ละคร และดนตรีไทย และในมุมมองของเขาพิธีไหว้ครูไม่ได้มีความหมายในการเคารพครูผู้สอน “ไหว้ครูในสมัยโบราณคือครูและศิษย์ ร่วมกันไหว้ครูผีที่ตายไปแล้ว ครูผีคือสัญลักษณ์ของหลักการทางวิชาการ” เขาพูด แสดงความไม่พอใจในรูปแบบการไหว้ครูรูปแบบที่เป็นที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน
สุจิตต์เล่าว่าถ้าหากมองดูแล้วเห็นว่ามองไปทางไหนก็เป็นผีเสียหมด เหตุผลคือเพราะมันเป็นศาสนาที่เกิดมาพร้อมกับมนุษย์ที่อาศัยในภูมิภาคนี้เมื่อหลายพันปีก่อน และมันฝังรากจนแม้จะถูกผันแปรโดยวัฒนธรรมอื่นๆ มากขนาดไหนมันก็จะยังมีอิทธิพลอยู่ “ปัญหามันอยู่ที่ว่าไม่ยอมรับความเป็นว่ามันมีศาสนาผีอยู่ในสังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นแหละ” เขาพูด
อ้างอิงข้อมูลจาก