1.
หากใครเคยใช้ google chrome ก็น่าจะพอรู้ว่าเราสามารถเลือกใช้โหมดท่องเว็บแบบไม่ระบุตัวตนที่เรียกว่า Incognito mode ได้ การเปิดใช้โหมดดังกล่าวจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ ‘ของคุณ’ ไม่เก็บข้อมูลการท่องเว็บเอาไว้ในเครื่อง
แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ รวมถึงเซอร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ที่คุณเข้าชมจะไม่เก็บข้อมูลการเข้าเว็บของคุณไปด้วย
ดังนั้นแล้วการใช้ Incognito mode จึงไม่ได้แปลว่าคุณไม่ได้ทิ้งรอยการใช้ออนไลน์เอาไว้ เพียงแต่ร่อยรอยนั้นไม่ได้ถูกเก็บเอาไว้ในเครื่องของคุณเท่านั้น
แต่เชื่อผมเถอะว่า ในยุคที่ data is the new oil เช่นในปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะแค่เว็บไซต์ที่คุณเข้าชมหรอกครับที่ติดตามการเคลื่อนไหวออนไลน์ของคุณ แต่แอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์อีกมากมายกำลังจับตาการใช้งานของคุณอยู่ด้วยเช่นกัน ผมแนะนำให้คุณลองใช้แอพนี้ดูเอง (www.mozilla.org/en-US/lightbeam/) เพื่อให้เห็นกับตาว่าใครกำลังติดตามดูพฤติกรรมการท่องเว็บของคุณบ้าง
2.
ร่องรอยดิจิทัลหรือที่เรียกว่า digital footprint นี้เองที่สามารถนำมาใช้ในการเปิดเผยตัวตนของคุณ รวมถึงพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และความสัมพันธ์ที่คุณมีต่อผู้คนต่างๆ ได้
ในระดับพื้นฐานที่สุด digital footprint ที่คุณทิ้งไว้บนโลกออนไลน์สามารถนำมาใช้ในการระบุตัวตนของคุณได้
เมื่อปลายปีที่แล้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford และ Princeton ได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคทางคณิตศาสตร์ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถนำข้อมูลประวัติการท่องเว็บ หรือ internet browsing history มาระบุตัวตนจริงๆ ของผู้ใช้ twitter ได้ โดยมีความแม่นยำมากถึง 72%
โดยความสำเร็จของเทคนิคดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า คนที่มีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตแบบหนึ่ง มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการใช้ทวิตเตอร์แบบหนึ่งด้วย เช่น ถ้าจากประวัติการท่องเว็บพบว่าคุณชอบเข้าเว็บไซต์ข่าวและเน้นอ่านบทความการเมือง ก็มีแนวโน้มที่คุณจะกด follow ทวิตเตอร์ของสำนักข่าวบางสำนัก รวมถึงของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์บางคน ในขณะเดียวกันถ้าคุณเป็นคนชอบท่องเที่ยวและเข้าเว็บไซต์หาตั๋วเครื่องบินถูกเป็นประจำ คุณก็มีแนวโน้มที่จะ retweet ข้อความหรือบทความที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น
และยิ่งคุณทิ้งร่อยรอยออนไลน์เหล่านี้ไว้มากเท่าไหร่ การจะระบุตัวตนของคุณก็จะยิ่งง่ายขึ้น
ดังนั้นแล้วในอนาคตอันใกล้ คนที่จับตาพฤติกรรมการใช้โลกออนไลน์ของคุณ จะไม่เพียงรู้ว่าตอนนี้ user นิรนามคนหนึ่งกำลังเข้าเว็บนี้เว็บนั้น แต่จะรู้ถึงขนาดว่า นายเอ (นามสมมติ) ผู้ใช้ทวิตเตอร์ด้วยชื่อ xxx และมี facebook ชื่อ xxx กำลังเข้าดูเว็บไซต์อะไรอยู่
แต่ข้อมูลที่เราทิ้งไว้มากมายบนโลกออนไลน์ ไม่เพียงแต่สามารถระบุตัวตนของเราได้เท่านั้น แต่ยังอาจบอกได้ด้วยว่าเราเป็นคนแบบไหน ชอบอะไรไม่ชอบอะไร รวมถึงมีนิสัยยังไง
เมื่อสองปีก่อน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford และ Cambridge ได้นำข้อมูลพฤติกรรมการกดไลก์ของผู้คนบน facebook มาวิเคราะห์ แล้วดูว่า ข้อมูลการกดไลก์เหล่านี้จะสามารถบอกตัวตนและลักษณะนิสัยของเจ้าของแอคเคาท์ได้ดีขนาดไหน
ผลที่ออกมาน่าทึ่งมากเลยครับ เพราะพวกเขาพบว่าเพียงแค่ข้อมูลการกดไลก์ของเราก็สามารถบอกได้ว่าเราเพศอะไร อายุเท่าไหร่ นับถือศาสนาอะไร รวมถึงจุดยืนทางการเมืองเป็นแบบไหน
ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือข้อมูลการกดไลก์เหล่านี้สามารถบอกลักษณะนิสัยของเราได้ตรงกับความเป็นจริงมากกว่าผู้คนรอบตัวในชีวิตเราเสียอีก นักวิจัยพบว่าข้อมูลการกดไลก์เพียง 10 ไลก์สามารถบอกลักษณะของเราได้ดีกว่าเพื่อนร่วมงาน ถ้าเพิ่มเป็น 70 ไลก์จะรู้จักเราดีกว่าเพื่อน ถ้าเพิ่มเป็น 150 ไลก์ จะยิ่งรู้จักเราดีกว่าคนในครอบครัว และถ้าเพิ่มเป็น 300 ไลก์ การวิเคราะห์จะทำให้สามารถเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้ได้ดีกว่าแฟนหรือคู่รักของคนคนนั้นเสียอีก
นอกจากนี้ รายละเอียดการใช้ชีวิตประจำวันของคุณก็ไม่ได้รับการยกเว้น เพราะหากคุณใช้ทวิตเตอร์และเปิดเป็นสาธารณะ บุคคลภายนอกก็สามารถดึงข้อมูลการใช้ของคุณทั้งหมดไปวิเคราะห์ได้
ทวิตเตอร์ไม่ได้เพียงบันทึกว่าคุณทวิตอะไรตอนไหน แต่ยังเก็บข้อมูลด้วยว่าคุณทวิตผ่านอุปกรณ์อะไรและจากที่ไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์รวมกันก็จะสามารถบอกได้ว่าในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนนั้นๆ มีรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไร เช่น ทวิตผ่านโทรศัพท์มือถือบ่อยในช่วงเย็นของทุกวันจากแถวสยาม ข้อมูลเหล่านี้จึงสามารถนำไปอนุมานถึงรูปแบบการใช้ชีวิตบนโลกออฟไลน์ของคนๆ นั้นได้ค่อนข้างละเอียดยิบ
ดังนั้นด้วยรอยเท้าดิจิทัลที่เราทิ้งเอาไว้ในทุกๆ วัน และมีแนวโน้มจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถนำข้อมูลที่เราทิ้งไว้เหล่านี้มาวิเคราะห์ เพื่อที่จะบอกได้ว่าตัวตนในโลกจริงของเราคือใคร มีแนวคิดและความเชื่อในเรื่องต่างๆ อย่างไร และมีรูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นแบบไหน
เรียกได้ว่าแทบจะบอกทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวจริงของเราได้ ด้วยเพียงการดูจากร่องรอยดิจิตอลที่เราทิ้งไว้บนโลกออนไลน์เท่านั้น นี่จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่เราจะได้เห็นความพยายามของรัฐไทย ผ่านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พยายามจะจัดตั้งศูนย์บิ๊กดาต้าขึ้นมา เนื่องด้วยข้อมูลร่องรอยการใช้อินเทอร์เน็ตที่เราๆ ท่านๆ ทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ เมื่อมาบวกกับเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่าบิ๊กดาต้า จะสามารถบอกหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับตัวตนของเราได้อย่างที่เราไม่อาจจินตนาการถึง
ในระดับโลก ตอนนี้เราเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเริ่มตระหนักถึงข้อมูลที่ตัวเองทิ้งไว้บนโลกออนไลน์มากขึ้น เราเห็นผู้คนหันมาใช้เสิร์ชเอนจินที่เก็บข้อมูลและติดตามการใช้งานของเราน้อยกว่ากูเกิ้ลอย่าง DuckDuckGo มากขึ้น เราเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ปกป้องความเป็นนิรนามของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น เช่น interviewing.io ซึ่งเป็นแอพสำหรับแปลงเสียงเพื่อรักษาความเป็นนิรนามเวลาสัมภาษณ์งานทางออนไลน์ รวมถึงแอพเพื่อการแชตแบบนิรนามก็มีอย่างมากมายให้เราเลือกนับไม่ถ้วนมาซักพักใหญ่ๆ
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า เราในฐานะพลเมืองเน็ตยังคงหวงแหนและต้องการรักษาความเป็นนิรนามบนโลกออนไลน์เอาไว้ แต่ด้วยร่องรอยดิจิทัลที่เราทิ้งไว้มากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีอย่างบิ๊กดาต้าที่ยิ่งพัฒนาขึ้นทุกวันๆ และถูกนำไปใช้มากขึ้นมากทั้งจากภาครัฐและบริษัทเอกชน
ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก ว่าเรายังจะสามารถปกป้องความเป็นนิรนามออนไลน์รวมถึงความเป็นส่วนตัว (privacy) ไปได้อีกนานแค่ไหน