‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านแล้ว! จะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป และจะต้องติดตามต่อบ้างนะ?
เมื่อวานนี้ (18 มิถุนายน 2567) วุฒิสภามีมติเห็นชอบกับร่าง พรบ. สมรสเท่าเทียม ทำให้ร่างกฎหมายนี้จะเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้ต่อไป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่าภายในปลายปีนี้
The MATTER จึงได้สรุปมาให้แล้วว่า ประเด็นสำคัญที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีอะไรบ้าง และยังมีประเด็นใดที่ยังคงขาดหาย และจะต้องผลักดันต่อไปหรือไม่
สิ่งที่เปลี่ยนแปลง
- บุคคลเพศเดียวกัน สมรสและหมั้นกันได้ตามกฎหมาย
- เปลี่ยนคำในกฎหมาย ไปใช้คำที่มีความเป็นกลางทางเพศ
- สามีและภริยา เป็น ‘คู่สมรส’
- ชายและหญิง เป็น ‘บุคคล’
- ชายและหญิง เป็น ‘ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น’
- ฟ้องชู้ได้ทุกเพศ โดยแก้ไขคำในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ที่ว่าด้วยสิทธิการได้รับค่าทดแทนจากคู่สมรสและจากผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดู หรือผู้เป็นเหตุของการหย่านั้น
- ขยับอายุที่สมรสได้ตามกฎหมาย จาก 17 ปี เป็น 18 ปี
โดยสรุปแล้ว คู่สมรสเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย จะได้รับสิทธิทางกฎหมายเหมือนกับที่เดิมคู่สมรสต่างเพศได้รับ เช่น สิทธิลงนามยินยอมให้รักษาอีกฝ่าย สิทธิรับมรดก สิทธิจัดการทรัพย์สิน
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ขาดหายไปจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ คือ ‘สิทธิการสร้างครอบครัว’ ของคู่รักเพศเดียวกัน
คู่รักเพศเดียวกันจึงจะยังไม่สามารถมีสถานะเป็นบุพการี (พ่อ-แม่) ของเด็กได้ เนื่องจากกฎหมายยังใช้คำว่า บิดาและมารดา ซึ่งจะต้องเป็นเพศชายและเพศหญิง
ด้วยเหตุนี้ ในการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจึงไดัเสนอให้แก้ไขจากคำว่าบิดาและมารดา เป็นคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ เพื่อให้เป็นคำที่มีความเป็นกลางทางเพศ และเป็นการรับรอง ’สิทธิการมีครอบครัว‘ ของคู่สมรสเพศหลากหลาย
แต่ประเด็นนี้ก็ถูกปัดตกไปในการพิจารณาชั้นสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ด้วยเหตุผลที่กรรมาธิการเสียงข้างมากยกมาว่า เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและยังเกี่ยวข้องกับเด็ก จึงจะต้องศึกษาและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน ดังนั้น เรื่องบุพการีลำดับแรกจึงเป็นประเด็นที่จะถูกผลักดันใหม่อีกครั้งในโอกาสต่อๆ ไป
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ทั้ง สส. และภาคประชาชนกำลังผลักดัน ได้แก่ สิทธิการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ สิทธิเปลี่ยนคำนำหน้านามตามเพศสภาพ สิทธิข้ามเพศ ฯลฯ
การที่สมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาและกำลังจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ จึงถือเป็นก้าวแรกที่ตอกย้ำส้าสิทธิเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะทุกคน ทุกเพศ ย่อมมีความเสมอภาคกันในความเป็นมนุษย์ จึงจะต้องติดตามต่อไปว่าในประเด็นสิทธิด้านอื่นๆ จะได้เข้าสู่สภาฯ เร็วๆ นี้หรือไม่ และคนเพศหลากหลายจะได้รับสิทธิเหล่านี้เมื่อไร