ท่ามกลางเดือนแห่งการตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศ (ที่ควรจะตระหนักกันทุกเดือน) กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน วันนี้ (8 มิถุนายน) ที่ประชุมสภาฯ กำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลด้วย
กฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นกฎหมายสำคัญที่มีผลต่อชีวิตของประชาชน และเป็นเครื่องสะท้อนความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ซึ่งหลายประเทศก็อนุมัติใช้กฎหมายนี้มานานแล้ว
แล้วแต่ละประเทศมีกฎหมายสมรสแบบไหนบ้าง? ประเทศไหนที่ให้สมรสเท่าเทียมกับทุกเพศจริงๆ The MATTER ขอชวนมาดูกัน
1. ออสเตรีย
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติแก้ไขกฎหมายสมรส โดยให้ถอนวลี ‘ต่างเพศ’ ออกจากกฎหมายสมรส แล้วให้ใช้คำว่า ‘บุคคล’ ในกฎหมายแทน
จริงๆ แล้ว ออสเตรียเป็นประเทศที่มีกฎหมายให้คู่รักเพศกำเนิดเดียวกันจดทะเบียนกันได้อยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นกฎหมายที่แยกออกจากคู่สมรสต่างเพศ และได้สิทธิเกือบจะเท่าเทียมกัน แต่เมื่อปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ออกคำตัดสินใหม่ ให้แก้ไขกฎหมายสมรสทุกฉบับให้เท่าเทียมกัน
ตอนหนึ่งของคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรีย ระบุว่า “ความแตกต่างของกฎหมายสองฉบับระหว่างคู่ชีวิตต่างเพศและเพศเดียวกัน ละเมิดหลักการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งห้ามให้มีการเลือกปฏิบัติต่อปัจเจกบนฐานของลักษณะบุคคล เช่น รสนิยมทางเพศ”
2. นอร์เวย์
เป็นประเทศแรกในกลุ่มนอร์ดิกที่กำหนดให้ใช้กฎหมายสมรส gender-neutralแทนที่กฎหมายสมรสเดิม และรับรองสิทธิในการสมรสและเลี้ยงดูบุตรให้เท่าเทียมกันทุกเพศ
กฎหมายสมรส gender-neutral (Gender-neutral Marriage Law) เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2552 แทนที่กฎหมายสมรสเดิม (Registered Partnership) ที่มีมาตั้งแต่ปี 2536 โดยกฎหมายใหม่นี้ได้รับรองสิทธิในการแต่งงานและการเลี้ยงดูที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกเพศ รวมถึงสิทธิ์ในการรับบุตรบุญธรรมและการผสมเทียมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐด้วย
ขณะเดียวกัน พระมหากษัตริย์ของนอร์เวย์ยังออกมาสนับสนุนกลุ่มคนเพศหลากหลาย พร้อมตรัสว่า “ชาว LGBTQ+ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวนอร์เวย์” พร้อมมีคำอธิบายถึงชาวนอร์เวย์อีกว่า ชาวนอร์เวย์คือผู้หญิงที่รักผู้หญิง ผู้ชายที่รักผู้ชาย และผู้ชายผู้หญิงที่รักกันและกัน
3. ออสเตรเลีย
ปรับแก้กฎหมายสมรสเดิม โดยให้นิยามคำว่า ‘สมรส’ ว่า “การรวมกันของคนสองคน ที่ไม่รวมคนอื่น มาใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ”
กฎหมายที่อนุมัติให้คู่รักที่เพศกำเนิดเดียวกันสมรสกันได้ในออสเตรเลียนั้น เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งการปรับแก้นี้ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกเกือบทั้งหมดในสภาล่าง
แมลคัม เทิร์นบุลล์ (Malcolm Turnbull) อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า “เราโหวตกันวันนี้ เพื่อความเท่าเทียม ความรัก คือช่วงเวลาที่จะต้องเพิ่มการแต่งงานให้หลากหลายขึ้น มีความมุ่งมั่น ความรัก และเคารพกันมากขึ้น นี่คือออสเตรเลีย: ยุติธรรม หลากหลาย ความรัก และเต็มไปด้วยความเคารพ”
4. ไต้หวัน
ไต้หวันเป็นที่เดียวในเอเชียที่การสมรสของทุกคนเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยเมื่อปี 2565 ไต้หวันได้ออกกฎหมายสมรสขึ้นมาใหม่ ที่แม้จะเปิดกว้างให้เพศหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เท่าเทียมคู่สมรสต่างเพศ
ที่มาของกฎหมายสมรสนี้ในไต้หวันมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันมีคำตัดสิน เมื่อปี 2560 ว่า การห้ามคู่รักเพศกำเนิดเดียวกัน สมรสกัน เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิความเสมอภาคของพลเมือง ด้วยเหตุนี้ รัฐสภาจึงต้องเร่งแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับคำตัดสิน
อย่างที่เล่าไปว่า สิทธิของคู่ชีวิตในไต้หวันยังไม่เท่าเทียมคู่สมรสต่างเพศ เช่น การให้สมรสกับคู่รักชาวต่างชาติได้เฉพาะคนที่มีสัญชาติของประเทศที่มีกฎหมายรับรองการสมรสคนเพศหลากหลายแล้วเท่านั้น และอนุญาตให้คู่ชีวิตรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่บุตรบุญธรรมต้องมีสายเลือดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งสิทธิเหล่านี้คู่สมรสต่างเพศล้วนได้รับ
5. โคลอมเบีย
ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า การห้ามเพศกำเนิดเดียวกันสมรสกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงต้องออกกฎหมายให้ทุกเพศสมรสกันได้
โคลอมเบีย ถือเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่กฎหมายรับรองการสมรสของคนเพศกำเนิดขึ้นมาได้มาจากคำตัดสินของศาล ซึ่งกรณีของโคลอมเบียนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่าการห้ามการสมรสของคนเพศกำเนิดเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญโคลอมเบีย เมื่อปี 2534ด้วยคะแนนเสียง 6:3
นอกจากนี้ โคลอมเบียยังให้สิทธิแก่ LGBTQ+ อีกหลากหลายด้าน เช่น บุคคลข้ามเพศที่อายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ ให้สิทธิในการเลี้ยงบุตรบุญธรรม ให้การคุ้มครองจากการถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และออกกฎหมายป้องกันอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังทางเพศด้วย
สำหรับประเทศไทย เราคงต้องมารอดูกันว่า เราจะมีกฎหมายสมรสแบบไหน จะเป็นกฎหมายสมรสที่ถูกร่างขึ้นมาใหม่ให้ LGBTQ+ โดยเฉพาะอย่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือเป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่โดยลบวลีที่แสดงถึงความเป็นเพศออกไป แล้วใส่คำว่า ‘บุคคล’ เข้าไปแทน อย่างร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่เรียกกันว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
อ้างอิงจาก