กระทรวงดิจิทัล ตั้งงบกว่า 40 ล้านจัดซื้อระบบ ‘ตรวจสอบใบหน้า บุคคลในโซเชียลมีเดีย’ ที่รวมข้อมูลผู้ใช้ ผู้แชร์ คนคอมเมนต์ FB ได้
ไม่เพียงแค่ใบหน้า ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก (ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเจ้าหน้าที่) อาจจะถูกเก็บไว้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ แต่ข้อมูลของคนที่เข้าไป ‘คอมเมนต์’ และ ‘แชร์โพสต์’ ของกลุ่มเป้าหมายก็เข้าข่ายที่จะถูกเก็บด้วยเช่นกัน
เมื่อวานนี้ (24 ธันวาคม) เว็บไซต์กระทรวงดิจิทัลได้ลงข่าวในหน้าประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ในโครงการที่ชื่อว่า ‘ระบบตรวจสอบเปรียบเทียบใบหน้าบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์’ โดยได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งหมด 39,897,200 บาท
ในเอกสาร TOR เปิดเผยถึงหลักการ และเหตุผลของการมีระบบเทียบใบหน้าคนในสื่อสังคมออนไลน์ว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะช่วยสร้างประโยชน์ต่อการสื่อสารของประชาชนได้เป็นอย่างมาก แต่มันก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อช่วยตรวจสอบกลุ่มคนที่ไม่หวังดีด้วยเช่นกัน
“มีบุคคลบางกลุ่มได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน หรือเป็นไปในทางลบ ใช้ในการหลอกลวงและกระทำผิดกฎหมาย อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบในสังคมส่วนรวม และยังเป็นบ่อเกิดแห่งความวุ่นวายต่างๆ ในสังคม”
หน่วยงานที่จะใช้เทคโนโลยีนี้คือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ป.อ.ท.)
ใน TOR ได้อธิบายด้วยว่า ระบบนี้จะต้องมีคุณสมบัติคือสามารถตรวจสอบ ติดตาม วิเคราะห์ และรวบรวมใบหน้าบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และยูทูบได้
ทั้งนี้ ข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้เฟซบุ๊กกลุ่มเป้าหมายจะต้องมีรายละเอียด เช่น รูปประจำตัว ชื่อผู้ใช้ หมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี) และอีเมล (ถ้ามี) นอกจากนั้น ข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับ ‘ผู้ส่งต่อโพสต์’ และ ‘ผู้ที่แสดงความคิดเห็นในโพสต์’ ของผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็จะถูกรวบรวมด้วย
เอกสารบอกถึงวัตถุประสงค์หลักๆ ว่าเพื่อปรับปรุง พัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจของ ป.อ.ท. และเป็นเครื่องมือค้นหา รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่ทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
The MATTER เคยรายงานถึงเรื่องที่กระทรวงดิจิทัลมีโครงการที่จะจัดตั้ง ‘ศูนย์ข้อมูล Big Data และวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ’ โดยประกาศไว้ในแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ ปี 2561 ภายใต้งบ (ในขณะนั้น) คือ 128 ล้านบาท
และเคยมีคำชี้แจงจากกระทรวงดิจิทัลว่า ศูนย์ฯ นี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อ ‘มุ่งจับผิดเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มใด’ และไม่ใช่การลิดรอนสิทธิของประชาชนแต่เป็นไปเพื่อปราบปรามอาชญากรรมเท่านั้น
หลังจากนี้ ต้องจับตากันว่าแล้วโครงการเหล่านี้จะเดินต่อกันอย่างไร
เข้าไปดูรายละเอียดของโครงการระบบตรวจสอบเปรียบเทียบใบหน้าบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์ ได้ที่นี่
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/
https://www.facebook.com/