เมื่อวันก่อนผมเพิ่งอ่านบทความหนึ่งถึงเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงชอบแชร์ข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาดหนักๆ มีการแชร์ข่าวปลอมกันเต็มหน้าเฟสบุคส์ไปหมด โดยเหตุผลคร่าวๆ ที่ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์จาก Warwick Business School ประเทศอังฤษ อธิบายคือสิ่งเหล่านี้เกิดจากความรู้สึกข้างใน (ซึ่งในเคสนี้คือความกลัว) ข่าวจริง ข่าวปลอม อะไรก็ตามถ้ามันตอบสนองความรู้สึกนั้นเราก็พร้อมจะรับมันเอาไว้และแชร์ต่อไปในทันที
ข่าวปลอมเป็นปัญหาเพียงอย่างหนึ่งจากก้อนปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ยังมีทั้งเรื่องการบูลลี่ออนไลน์ การเหยียดเพศ ผิว สถานะการเงิน การเผยแพร่ข่าวที่บ่อนทำลายชื่อเสียงคนอื่น ความเป็นส่วนตัวที่หายไป ฯลฯ แต่ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดผลในทางลบมากแค่ไหนกับชีวิตของผู้ใช้งาน มันก็ดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียก็ยังคงไม่หายไปไหนง่ายๆ
ที่ผ่านมาเราได้เห็นการประท้วงของธุรกิจต่างๆ ที่จะไม่ลงโฆษณากับ Facebook เพราะจัดการ Hate Speech ไม่เด็ดขาดพอ ตัวอย่างบริษัทใหญ่ๆ เช่น Unilever, Coca-Cola, The North Face และ Patagonia ต่างก็เห็นตรงกันว่าไม่ควรสนับสนุน Facebook จนกว่าที่โซเชียลมีเดียแห่งนี้จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างเฉียบขาด แต่จากรายงานของเว็บไซต์ The Information บอกว่า มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ได้พูดกับพนักงานของบริษัทว่าอีกไม่นานบริษัทเหล่านี้ก็จะกลับมา เพราะว่าบริษัทพวกนี้ไม่มีทางเลือกมากนัก เฟซบุ๊กถือข้อมูลขนาดมหาศาลของลูกค้าเอาไว้ในมือ เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วพวกเขาจะต้องกลับมาแน่นอน แม้แฮชแทค #StopHateForProfit จะถูกพูดถึงมากขนาดไหน ความรู้สึกของพี่มาร์กก็คงคิดว่าทำไมจะต้องแก้ไขปัญหาในเมื่อสำหรับเขาก็ไม่เห็นว่ามันต้องทำอะไรเลย
คำถามที่ถามซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ถูกฉายขึ้นมาอีกรอบ “มันไม่มีทางที่ดีกว่านี้แล้วเหรอ? โซเชียลมีเดียที่ดีกว่านี้เป็นไปได้ไหม?” มีนักข่าวของ New York Times ชื่อ ชาร์ลี วาร์เซล (Charlie Warzel) ทวีตถามทีเล่นทีจริงว่า
“คำถามแปลกๆ แต่ : แม้ว่าจะดูเป็นไปไม่ได้ แต่มีไอเดียอะไรไหมที่จะซ่อมโซเชียลมีเดียได้? บางอย่างที่น่าจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย”
มีคนกดปุ่มตอบกลับมากกว่า 1000 ครั้ง, ซึ่งเห็นได้ว่าคนมีไอเดียเยอะขนาดไหน (แม้จะดูว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้น) และต้องการความเปลี่ยนแปลงจริงๆ
เขาสรุปไว้ในบทความ ‘Facebook Can’t Be Reformed’ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ‘เฟซบุ๊กไม่มีทางแก้ไขได้’ เราแค่ต้องหาวิธีการเอาตัวรอดจากความยิ่งใหญ่ของมันให้ได้เพียงเท่านั้น แต่ถึงอย่างงั้นก็ตามที ก็มีหลายไอเดียที่น่าสนใจแม้บางอันจะดูเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังชวนให้ขบคิดอยู่ไม่น้อยเลย
”ทำให้ Social Media เป็นธุรกิจเพื่อสังคม เป็น non profit organization”
นี่จะเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่เลยก็ว่าได้ เมื่อหักลบเอาผลกำไรทางการเงินออกไปให้หมดโซเชียลมีเดียเพื่อสังคมจะไม่พยายามสร้างระบบขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจของคน ไม่เก็บข้อมูลที่ไม่จำเป็น แต่จะลงทุนในการดูแลผู้ใช้งาน รองรับความต้องการและปรับเปลี่ยนตามปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็อย่างที่รู้ว่าถ้าเจ้าอื่นที่ทำเพื่อผลกำไรเป็นเม็ดเงิน ก็จะสร้างระบบที่ดึงดูดกว่า ทำให้คนใช้งานมากยิ่งขึ้นเพื่อต้องการข้อมูล
“แบนระบบอัลกอริทึ่มที่คัดเลือกโพสต์ในการขยายสู่กลุ่มผู้ใช้งานขนาดใหญ่”
โดยไอเดียนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะว่ามันจะกลับไปเหมือนช่วงที่โซเชียลมีเดียเกิดขึ้นในยุคแรกๆ เราจะเห็นแค่ไม่กี่อย่าง โพสต์จากเพื่อนและโพสต์จากเพจที่เราไปตาม แค่นั้น! ซึ่งในที่นี้อาจจะมีโพสต์ข่าวจากที่แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อย่าง NYT, WSJ หรือ The Economists มาปนๆ เพื่อข่าวสารที่กว้างขึ้นและทำให้มันน่าสนใจก็ไม่ได้เสียหายอะไร เมื่อไม่มีระบบอัลกอริทึ่มที่มาดันโพสต์ คนที่ต้องการจะหาผลประโยชน์จากการสร้างกระแสไวรัลก็หมดไป จะมีแต่โซเชียลมีเดียที่เป็นอัพเดทจากเพื่อน ข่าวสารที่คัดกรองมาแล้วเพียงเท่านั้น จะว่าไปก็คงคล้ายๆ กับนิตยสารสมัยก่อนที่เราต้องไปซื้อที่แผงหนังสือ แน่นอนว่าด้านลบของมันก็คือว่าบางโพสต์ที่น่าสนใจ (ที่เราสนใจจริงๆ) มันก็จะถูกถมลงไปเรื่อยๆ แทนที่จะโผล่ขึ้นมาให้เราได้เห็นเป็นอันดับแรก แถมแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้บางครั้งก็ต้องเช็กสองสามที่เพื่อความแน่ใจอยู่ดี เพราะมนุษย์ยังไงก็ผิดพลาดได้
“ไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัวและหยุดโฆษณาที่มาจากพฤติกรรมการใช้งาน”
จะเป็นการปิดฉากของการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเลยทีเดียว ระบบจะไม่ยุ่งเกี่ยวเลยว่าชีวิตเราจะทำอะไรบ้าง ไม่มาชี้นำหรือโน้มน้าวเพื่อให้เราคลิกซื้อหม้อทอดไร้น้ำมันเพียงเพราะเราไปกดไลค์โพสต์หมูกรอบของเพื่อน แต่มันก็มีด้านลบตรงที่ว่าโฆษณาที่จะโผล่มาบนฟีดของเราก็จะเต็มไปด้วยอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่สนใจ ซึ่งอาจจะกระทบกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีงบการตลาดน้อยไม่สามารถโฆษณาแบบกวาดทั้งตลาดได้
“ให้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติของผู้มีอำนาจ”
โดยที่ไม่ใช่มีแต่คนผิวขาวเท่านั้นที่คอยกำกับทุกอย่างอยู่ด้านบน ถ้าจะมีความเท่าเทียมควรมีตั้งแต่ด้านบนลงมา ไม่ให้มีความเอนเอียงไม่ว่าคุณจะผิวสีสัญชาติอะไร เพราะในเมื่อผลิตภัณฑ์เป็นของทุกคน มันคนจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียม แต่ปัญหาที่อาจจะตามมาก็คือว่ากลุ่มผู้นำใหม่ๆจะต้องเจองานโหดหินที่ท้าทายในองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งแรงกดดันจากทางฝั่งธุรกิจ เพื่อนร่วมงาน การแข่งขันในตลาด ไปจนถึงความต้องการของลูกค้า สุดท้ายแล้วมันก็อาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
“เปิดโอกาสให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแข่งขัน”
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ถ้าได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากทั้งรัฐบาลและเอกชนรวมไปถึงผู้ใช้งานเองด้วย ช่วยเพิ่มการแข่งขันที่เห็นประโยชน์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่ใช่มีเจ้าใหญ่ๆ เพียงไม่กี่เจ้า พี่มาร์กอาจจะไม่ใจเย็นแบบนี้ถ้าในตลาดมีทางเลือกมากกว่านี้ อาจจะเป็นโซเชียลมีเดียขนาดเล็กสำหรับกลุ่มคนบางกลุ่มในพื้นที่สร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ร่วมกันที่ชัดเจน แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาก็คือว่ายิ่งมีการแข่งขันมาก ยิ่งมีความเสี่ยงที่ว่าบริษัททั้งหลายเหล่านี้จะยิ่งพยายามเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานให้มากยิ่งขึ้นเพื่อทำให้ตัวเองนำหน้าคู่แข่งในตลาดให้ได้ และสุดท้ายก็จะต้องมีคนที่คิดไม่ซื่อเล่นเอาเปรียบคนอื่นอยู่ดี
“ปิดโซเชียลมีเดียไปเลย”
ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นยาแรงที่อาจจะได้ผล แต่ก็เพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะสุดท้ายเมื่อมีเทคโนโลยี ไอเดียของสิ่งเหล่านี้ก็จะวนกลับมาอยู่ดี
โซเชียลมีเดียอย่างที่รู้กันว่ามีปัญหาของมันมาโดยตลอด แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นช่องทางที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนในยามที่จำเป็นเร่งด่วน อย่างกรณีประท้วงที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ในอเมริกา หรืออย่างการเคลื่อนไหวของ #MeToo ที่ผ่านมา มันเป็นแรงขับเคลื่อนทางสังคมที่เกิดจากโซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียก็มีประโยชน์เพียงพอที่จะเราจะพยายามทำให้มันดีขึ้นในอนาคต แม้ว่าไอเดียต่างๆ ที่บอกมาอาจจะเป็นไปไม่ได้แบบเดี่ยวๆ แต่มันก็ทำให้เห็นว่าไอเดียสำหรับโซเชียลมีเดียที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหวัง แม้อาจจะยังไม่ชัดเจนว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหนก็ตามที
ใครสนใจไอเดียอื่นๆ ลองอ่านโพสต์ของ NYT ที่พูดถึงเรื่องโลกหลัง Social Media ดูครับ สนุกไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะไอเดียของ Slow Social ที่เราโพสต์วันนี้ แล้วโพสต์ของเราจะไปโผล่ในอนาคตตามคิว เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น อาจจะเป็นอาทิตย์หน้า โลกคงจะหมุนช้าลงและคนคงเลิกใช้ Social Media ไปเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก