เลื่อนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก ปัดสตอรี่ไอจี ไถไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ เลื่อนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก ปัดสตอรี่ไอจี ไถไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ เลื่อนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก ปัดสตอรี่ไอจี ไถไทม์ไลน์ทวิตเตอร์
บางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่าได้กดเข้าแอพพลิเคชั่นที่เราเพิ่งจะกดออกไป 5 วินาทีที่แล้ว เป็นเพราะเราติดนิสัยเช็คโซเชียลมีเดียซ้ำๆ ตลอดเวลา อาจจะเพราะความว่าง ความเบื่อ หรือความเหงา จึงทำให้เราอยากรู้ว่าโลกข้างนอกเป็นยังไงหรือเกิดอะไรขึ้นบ้าง
แต่บางคนอาจลืมไปเช็คว่า self-esteem ของเราตอนนี้ก็มีอะไรผิดปกติเหมือนกัน
เฟซบุ๊กที่เราใช้กันในปัจจุบันคือเวอร์ชั่นดิจิทัลของสิ่งที่เรียกว่า ‘เฟซบุ๊ก’ (face-book) หนังสือที่มีรูปหน้าของคนหลายๆ คนพร้อมกับประวัติโดยย่อของพวกเขา แต่ละคนมาจากไหน จบจากที่ใด และงานอดิเรกคืออะไร เป็นหนังสือที่มักจะแจกให้กับเด็กมหาลัยไว้ทำความรู้จักเพื่อนร่วมรุ่น
เฟซบุ๊กในปัจจุบันใช้ไอเดียเดียวกัน เมื่อเราคลิกไปที่ชื่อของใครสักคน สิ่งแรกที่เราจะเห็นคือโรงเรียนที่เขาจบ สถานที่ที่เขาทำงาน ภูมิลำเนาที่เขาอยู่ หรือสถานภาพความสัมพันธ์ตอนนี้ เช่นเดียวกันกับหนังสือเล่มนั้นของเด็กมหาลัย เพียงแค่ย้ายรูปแบบมาอยู่บนโลกออนไลน์เท่านั้นเอง
และสิ่งที่เรามักจะอดไม่ได้เวลาที่ดูเฟซบุ๊กทั้งสองเวอร์ชั่นนั่นก็คือ ‘เห้ยแก ใครอะ สวยจัง? คนนู้นก็หล่อ ดูสิคนนี้สิ จบจากโรงเรียนดังด้วย แล้วทำไมคนนี้ดูเนิร์ดจังวะ หน้าตาไม่น่าเข้าหาเลยอะ’ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าเรากำลังอยู่ในกระบวนการเปรียบเทียบทางสังคมอยู่ หรือที่เรียกว่า social comparison
เปรียบเทียบเพื่ออยู่รอดหรือลดทอนคุณค่าตัวเอง
การเปรียบเทียบทางสังคมเป็นแนวคิดที่ถูกคิดค้นโดย ลีออน เฟสทิงเกอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์เรียนรู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้น หรือ self-evaluation ผ่านการประเมินทัศนคติ ความสามารถ ความเชื่อของตัวเอง และเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อให้รู้ว่าตอนนี้ตัวเรากำลังเป็นยังไง หรืออยู่ในระดับไหนแล้ว
การเปรียบเทียบทางสังคมมีอยู่สองแบบ คือ การเปรียบเทียบกับคนที่ดีกว่าเรา (upward comparison) ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองได้เกิดการปรับปรุง แก้ไข ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเองในที่สุด และการเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเรา (downward comparison) ที่เปรียบเทียบเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี เพราะยังมีคนที่แย่กว่า ลำบากกว่า เป็นการทำเพื่อให้ self-esteem ของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และหลีกเลี่ยงความล้มเหลวที่ตัวเองได้เจอมา
ดังนั้นลีออนจึงให้เหตุผลว่าการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจึงเป็นเรื่องที่ ‘หลีกเลี่ยงไม่ได้’ เพราะมันคือกระบวนการหนึ่งที่มนุษย์ใช้เพื่ออยู่รอด โดยมนุษย์มีจะแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตที่เกิดจากการประเมินความสามารถของตัวเองเปรียบเทียบกับมาตรฐานของสังคมอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อสังคมไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน มนุษย์ก็เริ่มเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่อยู่รอบๆ ตัว
ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวก็ได้ซ่อนอยู่ในการเปรียบเทียบทั้งสองแบบ แต่เฟซบุ๊กทำให้เราเห็นภาพความล้มเหลวของการเปรียบเทียบแบบ upward comparison มากกว่า เพราะสุดท้าย บางคนไม่ได้นำการเปรียบเทียบนั้นไปสู่การพัฒนาตัวเอง แต่เผลอ ‘ลดคุณค่า’ ของตัวเองลงโดยไม่รู้ตัว และอาจคุกคามต่อความสุขของเราได้
โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่ถึงแม้จุดประสงค์หลักของมันจะไม่ได้อยากให้เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใครหรอก แต่นั่นก็คือ ‘ผลกระทบ’ ตามมาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี
ยอดไลก์หลักพันหรือมีคนมาคอมเมนต์ชื่นชมยินดี น้อยคนที่จะปฏิเสธผลตอบรับเหล่านี้ นอกซะจากว่าคุณเป็น introvert จ๋า ชนิดที่ว่าไม่อยากให้ใครมายุ่งจริงๆ ผลตอบรับเช่นนั้นทำให้เราชอบที่จะโพสต์ความสำเร็จ รูปถ่ายมุมดีๆ เช็กอินต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมออนไลน์
แต่อย่าลืมว่าคนอื่นก็เช่นกัน ในเมื่อเราเลือกที่จะเสนอในแง่มุมนั้นเพื่อต้องการฟีดแบ็คที่น่าพึงพอใจ คนอื่นก็ต้องการแบบเดียวกัน ทำให้การเลื่อนฟีดแต่ละครั้ง ไถไทม์ไลน์แต่ละที หรือการปัดสตอรี่ไอจีไปเรื่อยๆ เราถึงได้เห็นชีวิตดีๆ ด้านดีๆ ของคนอื่นอยู่เสมอ เช่น เที่ยวต่างประเทศ เซลฟี่กับแฟน ดินเนอร์ภัตราคารหรู หรืออวดกระเป๋าใบใหม่ ท้ายที่สุด แม้เราจะคิดว่าชีวิตเราดีมากพอแล้ว แต่เราก็ต้องหยุดคิด เพราะเราได้เห็นชีวิตของคนอื่นๆ เช่นกัน
คาเรน นอร์ธ (Karen North) ผู้อำนวยการหลักสูตรสื่อสังคมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอเนียร์ ได้สังเกตพฤติกรรมการประเมินค่าความสำเร็จของผู้คนในปัจจุบันแล้วก็พบว่า หลายคนเป็นซึมเศร้าหลังจากใช้เวลาจำนวนมากไปกับเฟซบุ๊ก เพราะพวกเขารู้สึกไม่ดีเมื่อเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ
และในสมัยนี้ การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใครก็ทำได้ง่ายเกินไป เพราะแม้ในชีวิตจริงเราอาจจะไม่ได้เจอใครมากมาย อย่างคนในครอบครัว เดอะแก๊ง เพื่อนที่ทำงาน ป้าร้านข้าว และลุงคนขับรถ แต่เมื่อคลิกเข้าไปในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เรากลับได้พบคนอีกร้อยพันคนในนั้น หรือแม้แต่เพื่อนมัธยมที่ไม่ได้เจอกันนานเป็นชาติ ซึ่งอยู่ห่างไปอีกทวีปของโลก เราก็สามารถรู้ว่าวันนี้เขากินข้าวกับอะไร ไปเที่ยวที่ไหนมา หรือช่วงนี้หน้าตาเป็นยังไงบ้าง
ความง่ายดายของเฟซบุ๊กเวอร์ชั่นดิจิทัลจึงทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบทางสังคมกันได้ง่ายมากขึ้น
ดีแค่ไหน โลกออนไลน์ถึงเรียกว่าดีพอ?
มันไม่เคยหมดสิ้นไป หรือเรียกว่าเป็น endless comparison ก็ว่าได้ เพราะตราบใดที่เราเลือกที่จะมองว่าคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์อยู่ที่รูปถ่ายสวยๆ ยอดไลค์จำนวนมาก หรือความสำเร็จเบื้องหน้าที่ผู้อื่นเลือกหยิบมานำเสนอ เราก็พร้อมที่จะเอาคุณค่าเราไปผูกอยู่กับสิ่งเหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ
และไม่เพียงแต่จะหยุดที่การมองภาพสองภาพระหว่างตัวเรากับคนอื่น เพราะมันไปไกลถึงการตั้งคำถามว่า “แล้วฉันดีกว่าพวกเขาหรือเปล่า?” ซึ่งเป็นคำถามมิติเดียว ที่ไม่มีใครสามารถตอบได้ จนวันหนึ่งจิตใจของเราเสพติดคำถามนี้ แต่ไม่ว่านานแค่ไหนก็หาวิธีมาวัดค่านี้ได้ว่าสรุปอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ดีกว่า’
เราจะวัดความสำเร็จของตัวเองยังไงบนโลกที่ไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน?
แม้จะเป็นเรื่องดีที่เราคอยเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตัวเอง แต่บางครั้งเราก็เผลอเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับสิ่งที่ไกลตัวเกินไป และสิ่งสิ่งนั้นก็พยายามเป็นภาพแทนของชีวิตคนในสังคม (ซึ่งบางครั้งมันก็ค่อนข้างเกินจริงไปหน่อย)
จากเดิมเราอาจจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้าง เช่น คนในออฟฟิศ หรือลูกของป้าในวันรวมญาติ แต่ตอนนี้ เราดันเอาตัวเองไปเทียบกับใครก็ไม่รู้ที่มีชีวิตเหนือกว่าเราไปมาก อย่างอินฟลูเอนเซอร์หรือดาราที่มีชื่อเสียง โดยที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มาเกี่ยวข้อง หรือลืมไปว่าเงื่อนไขชีวิตคนเราต่างกันแค่ไหน และเบื้องหลังของเขามีอะไรซ่อนอยู่บ้าง
“เราไม่ได้ประโยชน์จากการเทียบกับผู้คนในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม เพราะเราไม่เห็นธรรมชาติจริงๆ ของคนเหล่านั้น สิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงแค่เบื้องหน้าที่ผู้คนอยากให้เห็นเท่านั้น” คาเรน นอร์ธ กล่าว เราอาจจะเห็นภาพเพื่อนของเราดำน้ำดูปะการังที่มัลดีฟ แต่เราไม่เห็นว่าวันนั้นเพื่อนทะเลาะกับแฟนแรงแค่ไหน แต่นั่นก็ทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะเกิดแรงกดดันตามมา เมื่อเราโพสต์ชีวิตที่น่าเบื่อ และเผลอไปเปรียบเทียบกับโมเมนต์ใหญ่ๆ ในชีวิตของคนอื่น
และถ้าหากมองในมุมเศรษฐศาสตร์ การยึดติดอยู่กับการเปรียบเทียบทางสังคมถือเป็นค่าเสียโอกาสในชีวิตที่แพงที่สุดอย่างหนึ่ง การที่เราเสียเวลาทั้งหมดไปกับการลดคุณค่าตัวเอง มันทำให้เราหมดโอกาสที่จะลองเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือพัฒนาตัวเองให้อยู่ในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม เพราะมัวแต่คิดว่า ฉันจะต้องดีให้ได้มากกว่าคนนั้น จะต้องมีให้ได้มากกว่าคนนี้ จนลืมไปว่าบางครั้งสิ่งดีๆ ที่เราพยายามจะทำ เราควรทำเพื่อความสุขของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อให้มันดูดีกว่าใครๆ
ดีที่สุดในแบบของตัวเอง
เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา และทุกครั้งเมื่อมีการอัพเดตชีวิตดีๆ ของใครสักคน เราก็เก็บมันมาตรวจสอบตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำแบบนี้ซ้ำๆ แล้วแบบนี้ลูปการเปรียบเทียบของสังคมจะจบลงได้ยังไง? เมื่อปัญหามันอยู่ที่การคอยอัพเดทชีวิตคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทำไมเราไม่ลองหาทางหนีออกจากวังวนด้วยการลอง ‘ปิดการอัพเดต’ สักพัก แล้วกลับมาอยู่ในโลกชีวิตจริงดูบ้างล่ะ?
ปลายปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา อาจจะเคยได้ยินข่าวว่าอินสตาแกรมทดลองฟีเจอร์ใหม่ ‘Private Like Counts’ หรือการปิดยอดไลก์ของรูปภาพไม่ให้คนอื่นเห็น ซึ่งได้สุ่มทดสอบในประเทศต่างๆ ได้แก่ แคนาดา บราซิล ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าผู้ใช้งานในกลุ่มวัยรุ่น มี ‘แรงกดดัน’ จากการทำโพสต์ให้มันยอดไลก์สูง และเมื่อไม่ได้ยอดตามที่หวังไว้ จึงเกิดเป็นปัญหาเครียดตามมา
อินสตาแกรมต้องการที่จะดึงพวกเขากลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ให้เจ้าตัวโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองรักและสนใจจริงๆ โดยไม่ต้องกังวลถึงยอดไลก์หรือฟีดแบ็ค และให้อินสตาแกรมเป็นพื้นที่ที่มีแต่ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฟีเจอร์นี้ก็ยังไม่ถูกนำมาใช้จริง เพราะทำให้ธุรกิจของอินฟลูเอนเซอร์หลายคนที่ต้องพึ่งพายอดไลก์เกิดปัญหา
ดังนั้นเราอาจจะกลับมาแก้ไขที่ตัวเราเอง เมื่อโซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นชีวิตของคนอื่นง่ายนิดเดียว เพียงแค่ใช้ปลายนิ้วกดเข้าแอพฯ แล้วทำไมเราไม่ทำให้มันรู้สึกว่าการเห็นชีวิตคนอื่นเป็นเรื่องที่ยาก? อย่างการวางโทรศัพท์สักพัก ปิดแจ้งเตือน ออกมาอยู่กับตัวเอง และจะพบว่าผู้คนที่ในหนึ่งวันเราต้องเจอนั้น ไม่ได้มีถึง 1,324 คนเหมือนบนเฟซบุ๊ก หรือ 596 คนที่ติดตามในอินสตาแกรมแน่นอน ซึ่งมันจะทำให้การเปรียบเทียบจบลงเพียงแค่ปลายนิ้ว
ก่อนที่เรากำลังจะค่อยๆ กลายเป็นนักโทษทางสังคมที่ถูกล่ามติดอยู่กับการเปรียบเทียบฉันและเธอตลอดเวลาว่าใครดีกว่าใคร เป็นแรงงานไร้อารมณ์ที่สร้างกำไรให้ระบบทุนนิยมอีกที แข่งกันปีนขึ้นไปบนจุดที่ไม่มีใครรู้เลยว่ายอดมันอยู่ที่ตรงไหน และถามว่าเราได้อะไรกลับมาจากการกระทำเหล่านี้บ้าง นอกเสียจากความทุกข์ใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก