คงดีใช่ไหม ถ้ามีคนคิดจะวางระเบิดธนาคาร ปล้นร้านชำ หรือดักทำร้ายใครตามมุมตึก แล้วตำรวจจะวิ่งเข้าไปช่วยเหลือและจับกุมได้ก่อนที่จะเกิดเหตุ อาจจะก่อนที่ผู้ร้ายคนนั้นจะรู้ตัวด้วยซ้ำ อาชญากรรมจะลดลง และชีวิตเราคงจะปลอดภัยมากขึ้น
นั่นคือพล็อตของภาพยนตร์เรื่อง Minority Report และซีรีส์ Person of Interest ที่มีกล้องวงจรปิดคอยเป็นผู้ช่วยพระเอก ตรวจจับใบหน้าผู้คนพร้อมวิเคราะห์ความน่าจะเกิดขึ้นของการก่อเหตุร้าย แต่นั่นไม่ใช่แค่เรื่องราวในหนังหรือซีรีส์อีกต่อไป เพราะในหลายๆ ประเทศ AI ได้เริ่มทำการตรวจจับใบหน้าผู้คน เพื่อสืบสาวหาผู้ร้ายในกลุ่มคนที่เดินไปเดินมาบนถนนแล้ว
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เบอร์ลินเพิ่งทำการทดลองใช้กล้องวงจรปิดที่มีระบบตรวจจับใบหน้า (Facial Recognition) เป็นครั้งแรกที่สถานีรถไฟใหญ่ของเมือง ในขณะที่จีนได้ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้านี้ในฐานข้อมูลของตำรวจมากกว่า 50 เมืองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เช่นเดียวกันกับที่จอร์เจีย ที่เริ่มใช้การตรวจใบหน้าเพื่อหาผู้ต้องสงสัยในหลายๆ เมืองใหญ่ทั่วประเทศ
หลักการทำงานของระบบนี้ หลักๆ คือ มีการเก็บ Big Data ของประชากร ทั้งประวัติส่วนตัว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตต่างๆ รวมถึงภาพการเคลื่อนไหวในที่สาธารณะตลอดหลายปีที่ผ่านมา แล้วระบบจะใช้ประโยชน์จาก Big Data ก้อนนี้ ในการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมที่กล้องซึ่งมีระบบจดจำใบหน้าตรวจจับได้ เพื่อประเมินแนวโน้มในการก่ออาชญากรรม
ตัวอย่างเช่น หากกล้องตรวจจับได้ว่าบุคคลที่อาจมีประวัติกระทำผิด หรือว่ามีพฤติกรรมหรือสภาวะทางจิตวิทยาที่น่าระแวดระวังนั้น เดินทางไปในสถานที่ต้องสงสัยหรือสถานที่สาธารณะในรูปแบบที่น่าสงสัย ระบบก็จะทำการจับตามองและแจ้งเตือนไปยังตำรวจ เพื่อคอยจับตาดูบุคคลนี้
นอกจากการตรวจจับใบหน้า จะใช้สืบสาวหาตัวผู้กระทำผิดแล้ว ในอนาคตอันใกล้ ยังคาดว่าจะมีการใช้ระบบนี้ เพื่อใช้ประโยชน์หรืออำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ ให้กับชีวิตเรา อย่างเช่น
Disney ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าตรวจดูว่าเวลาเราดูหนังอย่าง Inside Out, Big Hero 6 หรือ Zootopia เรารู้สึกอย่างไร ในช่วงเวลาไหน และยังใช้อัลกอริธึมที่เรียกว่า ‘Factorised Variational Autoencoders’ (FVAEs) เพื่อวิเคราะห์มวลอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับเราได้ด้วย ซึ่ง Disney ก็สามารถเอาข้อมูลตรงนี้ไปวิเคราะห์เพื่อสร้างภาพยนตร์ในเรื่องต่อๆ ไปให้โดนใจคนมากขึ้น
ระบบจดจำใบหน้ายังได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีบทบาทกับชีวิตเราในส่วนของการเดินทางเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2020 การเดินทางโดยรถไฟทั่ว UK คาดว่าจะไม่ใช้บัตรโดยสารแล้ว แต่จะใช้ระบบจดจำใบหน้าแทน โดย Bristol Robotics Laboratory บอกว่า ระบบตรวจจับใบหน้าที่พัฒนาขึ้นมานี้ จะตรวจองค์ประกอบบนใบหน้าโดยละเอียด รวมถึงเก็บฐานข้อมูลใบหน้าแบบ 3D บวกกับการตรวจแบบอินฟราเรด เพื่อป้องกันการปลอมแปลง
ส่วนที่สนามบิน Canberra ในออสเตรเลียก็กำลังติดตั้งระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อใช้แทนการตรวจพาสปอร์ตของแผนกตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยลดปริมาณและเวลาของนักเดินทางที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปี 2019 นอกจากนี้ ตม. ของออสเตรเลียยังมีแผนระยะยาวที่จะใช้ AI มาช่วยดำเนินงานตั้งแต่เรื่องของวีซ่า ตั๋วเครื่องบิน และบอร์ดดิ้งพาส เรียกได้ว่าต่อไปเราอาจจะเดินทางเข้าออสเตรเลียแบบอัตโนมัติเลยก็ว่าได้
แม้ระบบจดจำใบหน้า จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับเราได้หลายอย่าง แต่ประเด็นที่ยังคงค้างคาใจหลายคนหลายฝ่ายคือเรื่องของความเป็นส่วนตัว เพราะการที่จะได้มาซึ่ง Big Data สำหรับการวิเคราะห์ รวมถึงกล้องที่สอดส่องเราอยู่ทั่วเมืองนั้น นั่นหมายถึงว่า แม้เราจะไม่ใช่คนร้าย เราก็ต้องถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา
ลองเงยหน้าดูกล้องวงจรปิดใกล้ตัวคุณดูสิ อาจจะมีใครกำลังมองคุณอยู่ก็ได้ You’re being watched!
การทดลองระบบตรวจจับใบหน้าที่เบอร์ลิน
reuters.com
การติดตั้งซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้าที่จีน
ft.com
การตรวจจับใบหน้าที่จอร์เจีย
zdnet.com
Disney ตรวจจับใบหน้าเพื่อดูว่าคนดูหนังสนุกไหม
mashable.com
แผนติดตั้งระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อใช้แทนการตรวจพาสปอร์ตที่สนามบิน Canberra
canberratimes.com.au
แผนการใช้ระบบตรวจจับใบหน้าขึ้นรถไฟใน UK
dailymail.co.uk