*นี่คือการแนะนำคำศัพท์ฉบับผู้เริ่มต้น
ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีได้ชื่อว่าเป็นตลาดที่ผันผวนสูง แม้จะมีโอกาสทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็พ่วงมาด้วยความเสี่ยงสูง ด้วยปัจจัยจากการเก็งกำไร การมีอยู่ของวาฬ (หรือคนที่ถือเหรียญจำนวนมากๆ) การที่ยังไม่เป็นระบบชำระเงินที่ได้รับการรองรับจึงถูกมองว่าเป็นตลาดลงทุน และสาเหตุอีกมายมายก่ายกอง และแน่นอนว่าที่ลืมไม่ได้เลย คือ เหรียญที่ราคาขึ้นสุด ลงสุด อย่างรวดเร็ว เพราะตลาดคริปโตฯ ไม่มีเพดาน ไม่มีการปิดตลาดตลอด 24 ชั่วโมง
เราขอเรียกเหรียญประเภทที่ขึ้น-ลงหวาดเสียว ตามศัพท์แสลงของนักลงทุนว่า ‘เหรียญซิ่ง’ ซึ่ง Future Word วันนี้ เรามาพูดคุยถึงเหรียญประเภทนี้กัน
เหรียญซิ่ง (หรืออีกชื่อที่นักลงทุนเรียกก็คือ เหรียญกาว) คืออะไร ยูทูบแชนแนล MONEY HERO เคยทำคลิปอธิบายนิยามของคำๆ นี้ว่า “เหรียญที่ขึ้นเร็ว ลงแรง” การลงทุนไม่กี่ดอลลาร์ฯ ถ้าเข้าถูกตัว ถูกเวลา และขายทัน ก็จะทำกำไรได้หลายเท่า สามารถบวกเป็นพัน หรือหมื่นเปอร์เซ็นต์ได้เลยทีเดียว
ฟังแบบนี้แล้ว ดูดึงดูดใจให้น่าลงทุนใช่ไหมล่ะ แต่ลองคิดว่า หากทุกคนคิดในทิศทางเดียวกันว่า เข้าถูกเวลา ออกทัน ทำกำไร แล้วใครบ้างจะไม่รวย แน่นอนว่าสุดท้ายก็จะมีคนขาดทุนเพราะมาตอนตลาดวาย ซึ่งหลายคนก็ให้ความเห็นว่า มันเหมือนแชร์ลูกโซ่กลายๆ ลุกช้าจ่ายรอบวง
ส่วนใหญ่แล้ว เหรียญซิ่ง—หลังจากที่ผู้พัฒนาออกเหรียญมา และมีคนแรกเข้าซื้อ คนมาซื้อต่อถัดไป จะต้องแบ่งกระจายเหรียญตามเงื่อนไขแพลตฟอร์ม เช่น ให้กับคนถือเหรียญก่อนหน้านั้น คืนให้กับทีมพัฒนาเอาไปเพิ่มสภาพคล่องในโปรเจกต์หรือเผาทิ้ง ดังนั้น คนก่อนหน้าจะได้เหรียญเพิ่ม และราคาก็ขึ้นตามไปด้วย แต่คนมาทีหลังจะต้องเสียเหรียญส่วนหนึ่ง จำนวนแล้วแต่แพลตฟอร์มต่างๆ ว่าจะดีไซน์เงื่อนไขว่าอย่างไร
ซึ่ง ‘ข้อสำคัญ’ คือ ปกติการออกเหรียญคริปโตฯ ผู้พัฒนาจะมีโปรเจกต์สำรองไว้เพื่อความน่าเชื่อถือ หรือการลิสต์เหรียญจะต้องมี white paper มีโรดแมปเพื่อบอกว่าตัวเหรียญมีจุดประสงค์จะเอาไปทำอะไร แต่เหรียญซิ่งเหล่านี้ ดันเป็นเหรียญที่มีทั้งโปรเจกต์ที่ ‘ทำจริง’ และ ‘ไม่ทำจริง’ ประเภทที่ทำจริงก็จะมีโปรดักต์อื่นๆ มารองรับเหรียญ แต่เหรียญที่ทำมาโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเพื่อหลอกให้คนลงทุน เทขาย หรือชิ่งหนีปิดโปรเจกต์ หายไปดื้อๆ มันก็มีเช่นกัน (แต่ก็ไม่ใช่ทุกเหรียญหรอกนะ)
เหรียญที่ได้ชื่อว่าเหรียญซิ่ง ก็เช่น ‘SafeMoon’ ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาเหรียญโตทะลุ 6,000% ภายในเดือนเดียว โดยเป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงินแบบไร้ตัวกลาง แต่ทุกการทำธุรกรรมซื้อ-ขายจะมีการหักค่าธรรมเนียม 10% โดยจัดสรรค่าธรรมเนียมออกเป็น
5% จะถูกจัดสรรไปให้กับผู้ถือเหรียญ SafeMoon มาก่อน
5% จะนำไปเพิ่มสภาพคล่อง และเผาเหรียญทิ้ง (เผาเหรียญ คือ การซื้อเหรียญคืนเพื่อลดปริมาณเหรียญในระบบลง)
ดังนั้นคนมาใหม่ก็จะต้องจ่ายให้กับคนเก่า วนไปเรื่อยๆ เช่นนี้นี่เอง หลายคนจึงกังวลว่า สักวันมันอาจจะพังครืนลงมาได้ ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมา ราคาเหรียญก็ตกลงกว่า 70% แม้จะมีนักลงทุนเข้าไปซื้อเพิ่มกว่า 25,000 คนในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จนจำนวนผู้ครอบครอง SafeMoon มีเฉียด 3 ล้านคนทั่วโลก
นอกจากคำว่าเหรียญซิ่งจะใช้เรียกเหรียญที่มีโมเดลคล้ายแชร์ลูกโซ่แล้ว ยังมีการใช้เรียกบรรดา ‘เหรียญมีม’ หรือเหรียญที่เป็นที่นิยม และถูกปั่นได้ด้วยกระแสโซเชียลมีเดียได้ง่ายๆ ด้วย เช่น Dogecoin เหรียญที่เกิดมาโดยไม่มีโปรเจกต์อะไรรองรับ เพียงแค่ผู้สร้างอยากจะล้อเลียนบิตคอยน์เท่านั้น ซึ่ง Dogecoin ก็ถูก ‘อีลอน มัสก์’ มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยี ทวีตข้อความถึงว่า เขาชื่นชอบเหรียญ Doge มาก หรือ Doge to the moon จนราคาเหรียญจากราว 2-3 บาท พุ่งทะลุ 20 บาทในระยะเวลาไม่กี่เดือน กลายเป็นเหรียญหนึ่งที่คนทั่วโลกเทรดมากที่สุด (แม้ว่าขณะนั้นจะไม่มีโปรเจกต์หรือโปรดักต์อะไรรองรับความน่าเชื่อถือเลย) ก่อนที่เวลาถัดมา มัสก์จะผลักดันจน Doge ใช้ในการชำระสินค้าและบริการบางอย่างได้ในที่สุด
จะเห็นได้ว่า เหรียญซิ่งจึงซิ่งสมชื่อ แน่นอนว่า บทความนี้ไม่ใช่การแนะนำการลงทุนแต่อย่างใด เราแค่อยากแนะนำคำศัพท์อินไซด์ให้ฟังเท่านั้น และทุกการลงทุน ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนเสมอนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก