อยากจำอะไรสักอย่างให้ดีแม่นๆ แต่พอยิ่งตั้งใจว่าจะต้องจำให้ได้ สุดท้ายก็กลับกลายเป็นลืมมันไปเสียอย่างนั้น บางครั้งความทรงจำของเรามันก็เหมือนเพื่อนที่แอบดื้อๆ คนนึงเหมือนกันเนอะ
อย่างไรก็ดี บางทีมันอาจเกิดขึ้นเพราะวิธีการพยายามจดจำของเรามันดุเดือดและมุทะลุเกินไปก็ได้ คือรีบอัดสิ่งที่ต้องการจดจำเข้าสมองเยอะๆ และอย่างต่อเนื่องเหมือนช่วงอ่านหนังสือสอบข้ามคืน
ในคอร์สวิชา Learning How to Learn ที่สุดฮิตจาก coursera.org ได้แนะนำให้เรารู้จักกับวิธีเรียนรู้แบบที่เรียกว่า ‘Spaced Repetition’ ที่ระบุว่า การแบ่งการเรียนรู้หรือจดจำเนื้อหาอะไรสักอย่างแบบซ้ำๆ และมีเวลาพักย่อยๆ อยู่เสมอ มันอาจจะช่วยให้เราจำสิ่งนั้นได้ดีกว่าการอ่านยาวๆ ทีเดียวไปเลย 3-4 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก
ยกตัวอย่างก็คือ ถ้าเราต้องการอ่านหนังสือให้จบในหนึ่งคืน อาจต้องมีเวลาพักอย่างน้อยในทุกชั่วโมง มันอาจจะดีกว่าการนั่งอ่านไปให้ยาวๆ ในรวดเดียวเลยเป็นหลายชั่วโมงติดต่อกัน
พูดในอีกแบบหนึ่งก็คือ การมี ‘Space’ หรือช่องว่างเพื่อเว้นไว้สำหรับการพักเล็กๆ มันจะช่วยให้เราจดจำสิ่งที่เพิ่งอ่านไป ได้ดีกว่าการบุกตะลุยอ่านไปแบบไม่มีเวลาพักนั่นเอง
วิธีการแบบนี้จะยิ่งดีขึ้นไปอีก ถ้าหากเรามีโน้ตให้กับตัวเอง หรือทดเอาไว้ตั้งแต่แรกว่า การอ่านในครั้งนี้เราอยากจะจำรายละเอียดไหนได้บ้าง เพื่อให้เตือนตัวเองไปอีกทางหนึ่ง และเพื่อให้สมองเราได้มีหมุดหมายบางอย่างให้จดจำ และตัวเราเองก็จะมีโฟกัสมากขึ้นด้วย
อ้างอิงจาก
https://fs.blog/2018/12/spacing-effect/
https://www.coursera.org/learn/learning-how-to-learn
https://thematter.co/thinkers/learning-how-to-learn/56895
#GoodsMorning #memory #TheMATTER