ตั้งแต่ลืมตาเกิดมาบนโลก ผู้ใหญ่หรือใครๆ มักบอกให้เราตั้งใจเรียนเข้าไว้ แต่แทบไม่มีใครเคยบอกเราเลยว่า ‘ควรเรียนอย่างไร’ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ คงไม่เกินสายไปที่จะเรียนรู้
คงไม่ต้องพูดพรํ่าซํ้าแล้วซํ้าเล่า เรารู้กันหมดว่าการเรียนไม่ได้จบลงเมื่อเราสิ้นสุดจากสายพานผลิตจากสถาบันการศึกษา การเรียนรู้ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปตลอดชีวิต การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เรื่อยๆ ยิ่งสำคัญในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
80,000 Hours จาก Oxford เป็นโครงการแนะแนวการศึกษาให้กับคนหนุ่มสาวที่กำลังว้าวุ่นและสับสน ว่าเราควรเลือกอาชีพอย่างไร และควรเรียนรู้ทักษะไหน 80,000 Hours ประเมินว่าคนเราต้องทำงานประมาณ 80,000 ชั่วโมงในชีวิต คงน่าเสียดายมากๆ หากช่วงเวลาหล่านั้นจมอยู่ในความทุกข์ และหาทางออกไม่ได้ จนปล่อยให้เวลาหมดไปในชีวิต
นอกจากแนะนำการเลือกอาชีพ 80,000 Hours ยังแนะนำว่าไม่ว่าจะเลือกทำอาชีพอะไร เราควรฝึกฝนทักษะที่เป็น Transferable Skills คือทักษะอันสามารถนำไปใช้ต่อได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนอาชีพหรือเปลี่ยนอุตสาหกรรมไปในช่วงชีวิตทำงานอันยาวนาน ทักษะทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการเลือกสายอาชีพ ทำให้เรามีต้นทุนทางวิชาชีพที่แข็งแรง
ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่คือทักษะที่สำคัญ
ความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ (ability to learn new things) คือหนึ่งในทักษะ Transferable Skill ที่สำคัญและใช้ได้กับทุกสถานการณ์ชีวิต ไม่ว่าจะเรียนเพื่อความสนุกส่วนตัว หรือเรียนเพื่อส่งเสริมอาชีพ
Coursera.org มีคอร์สสั้นๆ ยอดนิยม ชื่อว่า Learning How to Learn จาก University of California San Diego สอนโดย Dr. Barbara Oakley เธอเปลี่ยนสายอาชีพจากทหารมาเรียนสายวิทย์คณิตตอนอายุ 26 ปี วิชานี้เหมาะกับคนทีอยากเรียนรู้เรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะกำลังเรียนหนังสืออยู่หรือทำงาน เพื่อเพิ่มความเข้าใจ ลดความท้อแท้ในการเรียนสิ่งที่ยาก นอกจากนี้ยังมีหนังสือ How We Learn: The Surprising Truth About When, Where and Why It Happens ที่รวบรวมผลการศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาและการทำงานของสมองอันเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ซึ่งมีหลายประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนเองก็ไม่รู้มาก่อน แต่คิดว่าสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตใครก็ตามที่ยังอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ และคิดว่าไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็คงไม่สายเกินไป ดังนี้
การลืมเลือนคือเพื่อนรักของความทรงจำ
เราอาจท้อแท้ หงุดหงิด และสิ้นหวังยามที่เราจำเรื่องที่เคยเรียนหรืออ่านไปไม่เคยได้ คนมักคิดว่า ‘การลืม’ เป็นศัตรูของการเรียนรู้ แต่การศึกษายาวนานโดยศาสตราจารย์ Robert Bjork กลับพบว่าตรงกันข้ามเลย สมองของเราจำเป็นต้องลืมบางสิ่งเพื่อจัดระเบียบข้อมูล และตัดข้อมูลที่ไม่สำคัญออกจากชีวิตของเรา
สมองเรานั้นไม่ได้บรรจุข้อมูลเหมือนฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์ และความทรงจำไม่ได้เก็บไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งในสมอง แต่ถูกเก็บกระจายไว้ในหลายๆ ส่วนจากการเชื่อมต่อกันของเซลล์ประสาท (neuron) ทั้งสมองความทรงจำที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเบอร์โทรแม่ เพลงที่ทำให้นึกถึงวัยรุ่น หนังสือที่เพิ่งอ่าน ล้วนเกิดจากการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทในสมองที่เชื่อมโยงกันไปมา ทุกครั้งที่เราระลึกถึงความทรงจำที่เก็บไว้ การเชื่อมโยงที่เคยเกิดขึ้นก็จุดประกายเชื่อมติดอีกครั้ง และหากยิ่งเชื่อมกันบ่อยๆ ก็จะยิ่งจำได้ฝังแน่นมากขึ้น
Robert Bjork ได้ก่อตั้งแล็บแห่งการเรียนและลืม (Bjork Learning and Forgetting Lab) ในมหาวิทยาลัย UCLA เขาเสนอทฤษฎี New Theory of Disuse ขึ้นในปี 1992 ความทรงจำอันน่าประหลาดของมนุษย์ มีลักษณะดังนี้
1. ความสามารถในการบรรจุข้อมูลปริมาณมหาศาลพร้อมทั้งสามารถนึกออกได้
2. การนึกออกถึงความทรงจำที่บรรจุเก็บไว้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม บุคคลรอบข้าง อารมณ์ และสภาวะร่างกายในขณะนั้น
3. การระลึกข้อมูลจากความทรงจำนั้นมีผลต่อความทรงจำนั้นในระบบ
4. การเข้าถึงข้อมูลจะถดถอยเมื่อเวลาผ่านไป (แต่ไม่ได้สลายหายไป) ข้อมูลที่เรียนรู้มาใหม่จะถูกระลึกถึงง่ายกว่าความทรงจำที่เรียนรู้ก่อนหน้า แต่ไม่ได้เขียนทับกัน
ความทรงจำใดก็ตามที่ถูกบรรจุมาในหัวเรา สามารถจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ Storage Strength เป็นความทรงจำที่ถูกบันทึกจดจำได้ในระยะยาว และ Retrieval Strength เป็นความทรงจำที่นึกออกโดยง่ายหรือโดยไว
บางครั้งที่เรานึกไม่ออก ไม่ได้แปลว่าเราลืมหรือลบข้อมูลนั้นไปแล้ว แต่อาจหมายถึงการที่เราเข้าถึงความทรงจำหรือข้อมูลที่บันทึกเก็บไว้ได้ยากหน่อย เพราะไม่ได้ใช้ เช่นเราอาจใช้เวลาสักพักในการสนทนาภาษาอังกฤษเพื่อรื้อฟื้นความคล่องในภาษาที่เราเคยถนัดจนกลับมาดีได้เหมือนเดิม ความสามารถนี้ไม่ได้ร่วงสลายหายไปไหนแค่ไม่ได้รื้อฟื้นเป็นเวลานาน
หากอยากจำอะไรสักอย่างให้แม่นยำและยาวนาน ลองทิ้งช่องว่างให้ลืมมันไป และระลึกจดจำใหม่อีกครั้ง !
ความรู้ในความทรงจำนั้นเสนอว่าการออกแบบแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นช่วงเวลาสั้นๆ มีช่วงเว้นระยะให้เราได้ลืมบางส่วนที่เพิ่งเรียนไป ยิ่งระลึกใหม่ทุกครั้ง ความทรงจำนั้นก็ยิ่งติดแน่นทนนานมากกว่าการพยายามจำข้อมูลมหาศาลในรวดเดียวซํ้าๆ แล้วมันก็หายไปตลอดกาลหลังสอบเสร็จ
Spacing Effects: การเหม่อลอย นั่งเฉยๆ พักผ่อนช่วยอาจให้แก้ปัญหาได้
บทเรียนแรกของ Learning How to Learn เล่าถึงระบบการคิดของสมอง 2 โหมด เพื่อจะแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง คือโหมดโฟกัส (focused) ที่ใช้ในในการแก้ปัญหาทางตรงที่เป็นเหตุเป็นผล วิเคราะห์เป็นลำดับขั้นตรงไปตรงมา เมื่อเราสนใจบางอย่างเข้มข้นโหมดนี้จะทำงาน การแก้ปัญหาใดใดนั้นใช้ความคิดอย่างเข้มข้นโฟกัสเสมอ จนเราไม่ปล่อยให้หัวว่าง หรือมีเวลาว่างเลย มองว่าเป็นเวลาที่เสียไปโดยไร้ประสิทธิผล ส่วนอีกโหมดคือโหมดกระจาย (diffuse) เป็นช่วงเวลาที่เราเกิดความคิดอะไรบางอย่าง พบทางแก้ไขปัญหาทางใหม่ๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อเราหยุดคิด ใจลอย เหม่อมองเพดาน หลับตา ปล่อยความคิดให้ไหลไป ทำให้เห็นภาพรวมได้ชัดขึ้น ได้ไอเดียและ insight ใหม่ๆ โหมดนี้เองที่ทำให้เราเกิดไอเดียปิ๊งขณะกำลังเข้าห้องนํ้า วิ่ง หรืออาบนํ้า หากเราไม่ทำให้สมองว่างเลยสักวินาที เราอาจไม่เห็นทางออกใหม่ๆ ได้แต่เดินไปตามวิธีคิดแบบลำดับ 1-2-3 เพราะการเรียนหัวข้อที่ยากต้องการเวลาในความเข้าใจมากกว่ายัดข้อมูลเข้าไป
การคิดและเข้าใจอะไรที่ยากหรือซับซ้อนมักอาศัย 2 โหมดนี้สลับๆ ควบคู่กันไปแต่ไม่สามารถเปิด 2 โหมดได้ในเวลาเดียวกัน เหมือนการขับรถที่มีคนขับได้แค่คนเดียว ณ เวลาหนึ่งเท่านั้น
Daphne Gray-Grant อาจารย์สอนการเขียน นิยามว่าโหมดโฟกัส คือโหมดสมองของบรรณาธิการ (Editing Brain) ส่วนโหมดกระจายคือโหมดสมองของนักเขียน (Writing Brain)
เราไม่สามารถใช้สมองโหมดโฟกัสอันเที่ยงตรง แม่นยำ ช่างจับผิดในเวลาที่กำลังสร้างงานหรือเขียนได้ เพราะเมื่อเราคิดมากไปหรือวิจารณ์มากไปขณะกำลังทำ อาจทำให้เราไม่สามารถผลิตอะไรออกมาได้เลยเป็นชิ้นเป็นอัน ล้มล้างตัวอย่างอยู่อย่างนั้น กลายเป็น Creative Block หรือภาวะคิดไม่ออกสมองไม่แล่นที่เราคุ้นเคย เพราะเราใช้ความคิดส่วนวิจารณ์ก่อนที่จะได้ลองสร้าง ลองคิดถึงความเป็นไปได้ ลองผิดลองถูกไปก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ แต่สร้างก่อนแล้วค่อยมา edit ปรับปรุง วิจารณ์ทีหลังเมื่อเริ่มมีอะไรออกมาบ้างแล้ว
หากคิดไม่ออกให้ออกไปเดินเล่น นอนหลับ พักผ่อน หาอย่างอื่นทำแล้วค่อยกลับมาลองคิดใหม่ ในการเรียนหรือทำงาน เราควรเว้นช่วงสำหรับเวลาว่างไว้บ้างในตาราง ซึ่งเราอาจเดิน วิ่ง นอนเฉยๆ เหม่อลอยเสียบ้างเพื่อให้สมองส่วน Diffuse Mode ได้ทำงาน เราอาจพบไอเดียอะไรใหม่ๆ ที่คิดไม่ออกจากการนั่งจมจ้องโจทย์ข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย
สิ่งสำคัญมากๆ คือการนอนหลับให้เพียงพอ เวลาที่เราหลับไป สมองเราไม่ได้ปิดตัว หยุดไป แต่ยังทำงานอยู่เพื่อจัดระบบระเบียบข้อมูลและประสบการณ์ที่เราได้พบในวันนั้นเพื่อสร้างความทรงจำระยะยาว สมองจะเลือกเก็บส่วนที่มีความหมาย และกำจัดความทรงจำที่เป็น noise ออกไป การนอนจึงไม่ใช่สัญญาณของความขี้เกียจ แต่เป็นมิตรแท้ของการเรียนรู้ที่ขาดไปไม่ได้
Practice makes permanent: ฝึกน้อยๆ แต่บ่อยๆ ทำให้ความรู้อยู่ทนนานกว่า
การยัดความรู้จำนวนมหาศาลไปในเวลาอันสั้นนั้นอาจทำให้เราจำและสอบได้ผลระยะสั้น แต่เรามีแนวโน้มที่เราจะลืมเลือนไปอย่างรวดเร็วกว่า สมองต้องการเวลาในการจัดระเบียบข้อมูลที่เราได้รับ งานวิจัยพบว่าการพยายามจำเรื่องใดเรื่องหนึง โดยเรียนซํ้า 20 ครั้งในคืนเดียว ผลคือความรู้จะไม่ติดทนนานเท่าการค่อยๆ ฝึกไปจำนวน 20 ครั้งในช่วงเวลาหลายวัน ค่อยๆ บรรจุความรู้ลงไป เหมือนค่อยๆ รอให้ปูนแห้งก่อนก่อเข้าไปเพิ่ม
คอร์ส Learning How to Learn แนะนำให้ใช้วิธีการเรียนแบบ Spaced Repetition คือซํ้าอย่างมีช่องว่าง โดยแบ่ง session ของการเรียนรู้โดยซอยย่อยๆ และมีช่วงเวลาพักว่างอย่างสม่ำเสมอ แทนที่เราจะวางแผนการอ่านจบ 3 ชั่วโมงรวด อาจแบ่งเป็น อย่างละครึ่งชั่วโมง 6 ครั้ง และพัก 5-10 นาที ทุกๆ ½ – 1 ชั่วโมง นอกจากนี้การเรียนแล้วทดสอบนั้นให้ทำให้จดจำดีกว่าการเรียนซํ้าสองรอบ การเรียนแบบเว้นระยะ (Spaced) นั้นให้ผลดีกว่าการเรียนแบบเป็นก้อนใหญ่ (Massed) ในการสร้างความทรงจำระยะยาว
Dr. Barbara Oakley อธิบายว่า การรีบอัดความรู้จำนวนมากเข้าไปก่อนทดสอบเป็นเหมือนก่อผนังอิฐโดยไม่รอให้ปูนแห้งก่อน แทนที่จะค่อยๆ วางเรียงอิฐ รอเวลา เพิ่มพูนขึ้นไปให้ครบอย่างแข็งแรง แต่สุดท้ายกำแพงก็จะล้มลงและพังทลาย เราอาจผ่านข้อสอบมาได้ และอาจได้คะแนนดี แต่ความรู้แทบทั้งหมดอาจสลายหายไปในอากาศเหมือนไม่เคยมีอยู่ เพราะรีบก่อสร้างมากเกินไปโดยไม่สนใจโครงสร้างและเว้นช่องว่างให้ลืมสลับกับจดจำไปจนแน่นและเข้าใจถ่องแท้
Input Less, Output More: บรรจุยัดอัดเข้าไปให้น้อยลง ปล่อยออกมาให้มากขึ้น
เมื่อ Robert Bjork ส่องดูสมุดบันทึกของนักศึกษา เขาพบว่าหลายๆ คนขยันแบบตะบี้ตะบัน จดบันทึกตามตำราทุกบรรทัดทุกคำอย่างขันแข็ง และไฮไลต์ข้อความมากเกินไป จนส่วนที่ไม่ได้ไฮไลต์กลายเป็นส่วนที่เด่นออกมาแทน น่าเสียดายเวลาและพลังงานที่ทุ่มเทลงไป ทุกคนหวังว่าการจดบันทึกตามจะช่วยให้จดจำฝังเข้าไปในสมองอย่างขึ้นใจ แต่การเรียนรู้แบบนี้เป็นการเรียนแบบเสพความรู้ทางรับทางเดียว (passive learning)
Robert Bjork แห่งแล็บแห่งการเรียนรู้และการลืม UCLA อธิบายถึงหลักการ Input Less, Output More
Bjork เสนอว่าเมื่อเราเริ่มเรียนอะไรสักอย่าง เราควรหยิบนำความรู้น้อยนิดที่เพิ่งได้มาใช้ ลองสังเคราะห์ปล่อยออกมาแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอให้เชี่ยวชาญหรือจดจำได้ เช่น ลองวางโครงข้อมูลในบทคร่าวๆ ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง วาดแผนภูมิ ลองนึกถึงตัวอย่างนอกเหนือจากที่หนังสือบอก ลองอธิบายให้เพื่อนฟัง เขียนสรุปสิ่งที่เพิ่งรู้โดยไม่ใช่ตัดแปะของเดิมเพียงอย่างเดียว ลองเรียบเรียงสร้างใหม่ในแบบที่เราเข้าใจ (เช่น การเขียนเรียงความเรื่องนี้ก็ผลักดันให้ผู้เขียนต้องเข้าใจในสิ่งที่อ่านมากพอจะถ่ายทอดต่อไปได้) ไม่ต้องรอให้ตัวเองเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วค่อยสอนหรืออธิบายให้เพื่อนฟังก็ได้ เพราะเมื่อได้ผลิตอะไรสักอย่างออกมา เราค่อยแก้หรือต่อยอดจากตรงนั้นก็ได้
เช่น หากอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวัน อาจจะลองเริ่มจากการอ่านบทความยาวๆ แล้วลองสรุปในภาษาของเราจนกระทั่งเราทำได้ไวและแม่นขึ้นไปเอง ไม่ต้องกลัวผิดพลาด หรือเด๋อด๋า เพราะเราจะพัฒนาปรับปรุงไปเอง
นอกจากการอ่านแบบ passive แล้ว การฟังเลกเชอร์ก็เป็นการเรียนแบบ passive เช่นเดียวกัน เราจะทำอย่างไรให้ผ่านเลกเชอร์อันน่าเบื่อไปได้ เขาเสนอว่า ความสนุกในการไปฟังอาจารย์บรรยาย ควรเป็นการได้ตั้งคำถามที่นำไปสู่บทสนทนาและประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าเรื่องที่อ่านเองได้ สิ่งนี้เองที่ทำให้เราต้องไปเรียนหนังสือ ไม่ใช่ไปฟังอาจารย์อ่านสไลด์ให้ฟัง บทสนทนาทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ในความรู้ที่เลกเชอร์ และการอยู่ท่ามกลางคนที่มีความคิดเห็นและความคิดสร้างสรรค์ ได้พูดแลกเปลี่ยนถกเถียงกันในประเด็นนั้นๆ ได้คุยประเด็นที่มีความหมายสำคัญมากในการเรียนรู้เรื่องใดก็ตามให้ฝังลึกไม่ลืม
แนวคิดวิธีการเรียนแบบอัจฉริยะอันโดดเดี่ยวที่ขังตัวเองอยู่ในห้องคนเดียว อ่านหนังสืออย่างรวดเร็วว่องไวยาวนานจนจำได้ขึ้นใจสอบได้ที่ 1 อาจจะเวิร์กสำหรับบางคน แต่การพาตัวเองออกมาจากถํ้าหรือห้องส่วนตัวมาพบปะผู้คนและพูดคุยในสิ่งต่างๆ ที่สนใจบ่อยๆ ทำให้เราได้ความเข้าใจและจดจำเรื่องนั้นๆ ได้ดีขึ้นเหมือนกัน เพราะสิ่งแวดล้อมและคนรอบๆ ตัวนั้นก็สำคัญกับการเรียนเช่นกัน
แน่นอนว่า เราไม่สามารถสรุปสาระวิธีการเรียนรู้ทั้งชีวิตบรรจุในเรียงความขนาดไม่กี่หน้าได้หมดครบถ้วน หากอยากรู้เพิ่มเติมก็สามารถไปเรียนเพิ่มเติมได้ คงไม่มีเรียงความไหนที่สามารถทำให้เราเรียนเก่งขึ้นได้หลังอ่านทันใด อย่าเชื่อใครที่บอกว่าจะทำให้คุณเก่งหรือฉลาดขึ้นได้ในฉับพลัน หากอยากเรียนและจดจำได้ดีขึ้น ลองสำรวจการเรียนของตัวเองและทดลองหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง
อัจฉริยภาพอาจสร้างได้ในคํ่าคืนราวปาฏิหาริย์ แต่อัจฉริยะที่จะอยู่คงทนยาวนานต้องอาศัยการฝึกฝน และเรียนรู้ใหม่ไปเรื่อยๆ จะสร้างกำแพงก่ออิฐต้องใช้เวลาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ใจเย็นๆ อย่ารีบก่ออิฐทั้งที่ปูนยังไม่แห้งดี
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้และการลืมเพื่อจดจำใหม่จนขึ้นใจและเชี่ยวชาญ หากติดขัด คิดไม่ออก ท้อแท้ ถอดใจ พักสมองและหยุดการเรียนข้างหน้าลงก่อน ลองกลับมาดูว่าเราควรเรียนอย่างไร เพราะของขวัญพิเศษของการเป็นมนุษย์ คือสมองที่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เรื่อยๆ ในทุกวัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Learning How to Learn: Powerful mental tools to help you master tough subjects
How We Learn: The Surprising Truth About When, Where, and Why It Happens: by Benedict Carey
80,000 Hours: Find a fulfilling career that does good by Benjamin Todd
Bjork Learning and Forgetting Lab
Forgetting as a friend of learning: Implication for Teaching & Self Regulated Learning: Robert A. Bjork UCA