แม้เวลาของเราจะเท่ากัน แต่ทำไมการรับรู้เรื่องเวลาถึงต่างกัน? เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมยิ่งเราโตขึ้น ก็ยิ่งรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปเร็วกว่าตอนเด็กๆ เยอะเลยนะ
คำถามนี้สามารถอธิบายได้ผ่านการทำงานของสมอง ด้วยแนวคิดชื่อ ‘Holiday Paradox’ ที่อธิบายว่า เวลาที่เราเจอประสบการณ์น่าตื่นเต้นที่แปลกใหม่ หรือเป็นข้อมูลใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน สมองของเราจะทำงานหนักเป็นพิเศษในการจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้น
คล้ายกับการที่เราจดจำวันหยุดต่างๆ ที่เราได้มีโอกาสไปทำสิ่งที่ไม่เคยทำ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตได้เป็นอย่างดี
แต่ถ้าเจอเหตุการณ์ที่เราคุ้นชินอยู่แล้ว หรือเป็นเหตุการณ์ที่เราทำซ้ำอยู่บ่อยๆ จนเคยชิน เช่นการเดินทางแต่ละวัน สมองของเราก็จะใช้พลังงานในการจัดเก็บความทรงจำเหล่านั้นน้อยกว่า
พอเป็นแบบนี้ เวลาที่เรามองย้อนกลับไปในอดีต เราเลยจะเห็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ เยอะและรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าสมองใช้พลังในจัดเก็บข้อมูล-ความทรงจำเหล่านั้นไว้ค่อนข้างเยอะนั่นเอง
อธิบายให้ชัดขึ้นก็คือ เวลาเรามองกลับไปที่อดีต อดีตก็ดูจะยาวและกินเวลานานกว่าตอนนี้ เพราะสมองจัดเก็บข้อมูลความเหล่านั้นเอาไว้เยอะ จึงมีอะไรให้นึกถึงได้เยอะ แต่พอเราโตขึ้นมาแล้ว และไม่ได้เจอประสบการณ์อะไรที่แปลกใหม่มากนัก (เพราะผ่านอะไรมาเยอะแล้ว) เราก็จะรับรู้ว่า อะไรๆ มันผ่านไปเร็วเหลือเกิน
อย่างไรก็ดี การรับรู้เรื่องเวลาของเรายังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายและสุขภาพสมองของเราที่อาจลดน้อยลงเมื่อแก่ขึ้น
ในทางกลับกัน บางคนก็ไม่ได้รู้สึกว่า เวลาในตอนโตมันผ่านไปเร็วขนาดนั้น เพราะเขายังคงผูกพันกับอดีตและความทรงจำบางอย่าง ที่สมองเก็บเอาไว้เป็นอย่างดี และไม่สามารถสลัดมันออกไปได้ เมื่อครุ่นคิดกับมันนานเป็นพิเศษ เราก็อาจจะรู้ว่า บางทีเวลามันก็เดินช้าเหลือเกิน กว่าที่จะผ่านจุดนั้นมาได้เหมือนกัน
อ้างอิงจาก
https://qz.com/1516804/physics-explains-why-time-passes-faster-as-you-age/
https://www.businessinsider.com/why-time-speeds-up-as-we-grow-older-2018-1
#Goodsmorning #TheMATTER