สหภาพแรงงานหรือสหภาพวิชาชีพ เป็นการรวมตัวกันของลูกจ้าง-คนทำงาน ในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์และหาจุดสมดุลระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง หลายครั้งที่กลุ่มคนทำงานมีการเรียกร้องข้อเสนอบางอย่างและอาจจะไม่ได้รับการตอบสนอง กลุ่มคนทำงานมีการ ‘นัดหยุดงาน’ เพื่อกดดันนายจ้าง ในแง่หนึ่งคือเป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัทและองค์กรต่างก็ต้องพึ่งพากันและกัน ถ้าไม่มีคนทำงาน กิจกรรมต่างๆ ก็ยุติลง วันนี้ (พฤหัสที่ 22 กุมภาพันธ์ 2018) คณาจารย์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์) มีการ ‘นัดหยุดสอน’ ครั้งใหญ่ เพื่อเรียกร้องป้องกันเรื่องสิทธิประโยชน์เงินบำนาญ
การนัดหยุดงาน – สไตรก์ (strike) – ของคนทำงานในระดับอุดมศึกษาในอังกฤษครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง สาเหตุสำคัญคือมีการเปลี่ยนแปลงแผนบำนาญ (USS pension scheme) ซึ่งทางคณาจารย์ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลเสียต่อผู้รับผลประโยชน์โดยรวม ข้อเสนอที่กระทบสำคัญๆ อาทิ จะไม่มีการการันตีเงินบำนาญ อัตราเงินบำนาญจะสัมพันธ์กับผลของการลงทุน – ทำนองว่าถ้าเงินที่สมทบไปมีปัญหา ก็อาจส่งผลผกผันกับเงินบำนาญที่อาจได้รับ โดยรวมแล้วเป็นการเอาความเสี่ยงมาสู่สมาชิกกองทุนบำนาญ กระทบกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในเครือข่ายทั่วสหราชอาณาจักร 65 แห่ง
ผลคือทางสหภาพคณาจารย์มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (The University and College Union : UCU) อันเป็นสหภาพในระดับอุดมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเห็นแย้งและต้องการต่อรอง ความขัดแย้งเรื่องสิทธิประโยชน์และข้อกำหนดดังกล่าวในที่สุดยังไม่ได้รับการตอบสนอง ทางสหภาพจึงเริ่มการกดดันด้วยการนัดหยุดงานสอน รวมไปถึงภาระงานต่างๆ ทั้งหมด
การนัดหยุดงานครั้งใหญ่นี้ได้เริ่มขึ้นในวันพฤหัสนี้และจะหยุดงานต่อเนื่องไปจนถึงวันพรุ่งนี้ หากข้อขัดแย้งยังไม่ยุติ การหยุดงานจะดำเนินต่อไปในสัปดาห์หน้าด้วยการหยุดงานเป็นระยะเวลาสามวัน และจะหยุดเพิ่มขึ้นหนึ่งในวันสัปดาห์ถัดไปจนครบ 5 วัน การหยุดสอนครั้งมโหฬารนี้จะส่งผลกระทบถึงมหาวิทยาลัยสำคัญกว่า 60 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร มีการประเมินว่าจะมีนักศึกษาได้รับผลกระทบกว่าหนึ่งล้านคน และมีชั่วโมงการเรียนการสอนเสียหายกว่า 5 แสนชั่วโมง
Steven Parfitt นักประวัติศาสตร์จาก Loughborough University ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อังกฤษและสหรัฐอเมริกาในประเด็นเรื่องแรงงานและสังคมโลก พูดถึงการสไตรก์ในครั้งนี้ว่า เกิดจากปัญหาในวงการศึกษาและวิชาการที่ฝังรากลึกในสังคมอังกฤษมาอย่างยาวนาน คือในขณะที่นักศึกษาจ่ายค่าเทอมแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลประโยชน์ที่คนทำงานได้รับกลับผกผันไปจากรายได้ที่ได้รับ
ในที่สุด การจัดสรรระหว่างผลประโยชน์และสิทธิประโยชน์ในการทำงานอย่างเป็นธรรมดูจะเป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าจะในภาคส่วนไหน ครั้งนี้ในสหราชอาณาจักรในฐานะพื้นที่สำคัญของการศึกษาในระดับโลก จากการหาจุดลงตัวระหว่างคนทำงานและนายจ้างไม่ได้ การหยุดสอนไปเรื่อยๆ จนครบห้าวัน ทั้งประเทศ ย่อมเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระเทือนอย่างรุนแรงแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก