อังกฤษที่ออกจาก EU อาจทำให้ความก้าวหน้าทางวิทยาการ ‘ถอยหลังครั้งมหึมา’
ในวันที่ EU ไม่มีอังกฤษ ถือเป็นเหตุการณ์ช็อกความรู้สึกคนในทุกๆ วงการ ไม่เว้นแม้แต่ แวดวงวิทยาศาสตร์และงานวิจัยที่สั่นสะเทือนไม่แพ้กัน ทำให้เหล่านักวิจัยตาใสๆ เริ่มใจตุ้มๆต่อมๆ ว่างานวิจัยตัวเองจะอยู่ดีมีสุข หรือโดนตัดท่อน้ำเลี้ยง และท้ายสุดอาจไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่คาดหวังไว้ หากอังกฤษจะออกจาก EU แบบอึ้งๆ งงๆ
นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษส่วนใหญ่กำลังปวดหัวกับสิ่งที่กำลังตามมา เพราะประเด็นสำคัญอย่างยิ่งยวด คือ ทุนวิจัยของพวกเขาส่วนหนึ่งมาจาก EU น่ะสิ! แล้วงานวิจัยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงก็ต้องการความร่วมมือกันจากหลายชาติ ถ้าคิดบินเดี่ยวก็เสียวจะร่วงลงมาปีกหัก!
The MATTER ขออาสาพาไปสำรวจว่า
“ทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงไม่เอา Brexit”
ใครทำงานกับคุณ?
พื้นฐานความสำเร็จของงานวิจัย คือคำถามง่ายๆ ว่า “มีใครเก่งๆ ทำงานกับคุณบ้าง” เพราะ แวดวงวิทยาศาสตร์เติบโตจากการร่วมมือของหลายชาติ การที่อังกฤษออกจาก EU เหมือนเป็นการตัดขาดจากนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังใกล้จบปริญญาเอกจากฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน โรมาเนีย ซึ่งล้วนมาจากมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อด้านวิทยาศาสตร์และงานวิจัย หากชาวลอนดอนจะเป็นศูนย์กลางของ Tech Business อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่หากขาดคนเก่งๆ จากทั่วยุโรปมาร่วมงานในองค์กรที่กำลังเติบโต (เป็นองค์กรขนาดเล็กถึงปานกลางที่ต้องการคนรุ่นใหม่) อาจจะทำให้อังกฤษโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น
การโหวตออกจาก EU ของชาวอังกฤษมีผลพวงมาจาก ‘ความหวาดกลัวผู้ลี้ภัยและชาวต่างชาติ’ เมื่อ Brexit เสร็จสมบูรณ์ อังกฤษออกจาก EU เรียบร้อย (โดยอาจใช้เวลาอย่างมาก 2 ปี) นักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปกว่า 27 ประเทศสมาชิกจะสูญเสียสิทธิในการทำงานและพำนักอาศัยในอังกฤษ แต่เป็นไปได้ว่าอังกฤษอาจจะออกแบบ Policy เพื่อให้นักวิจัยเก่งๆ อยู่ต่อได้โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
แต่สำหรับนักวิจัยชาวต่างชาติ อาจรู้สึกว่าคนอังกฤษไม่ได้มองพวกเขาเหมือนเดิมอีกแล้ว ทำให้อังกฤษอาจไม่ดึงดูดพอและไม่น่าต้อนรับเหมือนในอดีต คนเก่งๆ มักมีแนวโน้มที่จะถูกดึงตัวตลอดเวลา ถ้าอังกฤษมีลีลาที่ไม่น่าดึงดูด พวกเขาอาจไปประเทศอิ่นที่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
นักวิจัยกระเป๋าฉีก
เป็นที่รู้กันว่า งานวิจัยในอังกฤษได้รับการสนับสนุนทุนจาก EU 10% นั่นเท่ากับว่า นักวิจัยต้องหัวหมุนกว่าเดิมในการเรียกระดมทุนมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป แม้ประเด็นนี้จะยังไม่ฟันธง เพราะในเชิงกฎหมายแล้วนักวิจัยจะยังคงได้รับเงินสนับสนุนก้อนนี้อยู่ แต่ในบางมุมมอง เมื่อคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ EU ก็เหมือนกับเพื่อนตัวดีมาขอบ้านคุณนอนเล่นๆ และกินข้าวฟรี การจะแบกหน้าไปขอเงินจาก EU อาจทำให้นักวิจัยตะขิดตะขวงใจอยู่ไม่น้อย หากจะไปขอระดมทุนจากประเทศสมาชิกในเมื่อคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมันแล้ว
ยกตัวอย่าง House of Lords Select Committee of Science and Technology ระบุเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า อังกฤษได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก EU คิดเป็น 18.3% ที่ลงทุนไปกับโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (R&D) แบบเน้นๆ คิดเป็น 1 ใน 5 ของงบประมาณทั้งหมด คิดดูว่า EU เองก็จริงจังกับการค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา
นักวิจัยอังกฤษเองก็นิยมไปเสนอผลงานกับ EU เพื่อประกวดราคาโครงการวิจัย ซึ่งในกรณีทีผ่านมา อภิมหายักษ์โปรเจคยักษ์ระดับยุโรป ‘Horizon 2020’ ใช้เงินในการระดมทุนกว่า 80 พันล้านยูโร เพื่อวิจัยนวัตกรรมตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2020 อาจประสบปัญหา และเป็นเรื่องยากที่อังกฤษจะเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์อีก
คงได้แต่นั่งอิจฉาประเทศเพื่อนๆ อดสนุกเลย
บอกลาโครงการใหญ่ๆ และคุณจะรั้งท้ายเสมอ
โครงการ Horizon 2020 ถูกตั้งต้นให้เป็นอภิมหาไอเดียของศูนย์กลาง ‘งานวิจัยเปลี่ยนโลก’ โดยเหล่าประเทศสมาชิก EU มันถูกวาดฝันว่าจะสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาการระดับก้าวกระโดด เป็นเจ้าแรกที่ปั่นงานวิจัยจากห้องทดลองเป็น Product ถึงมือผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพื่อยืนยันว่ายุโรปคือ World class ของวิทยาศาสตร์นะจ๊ะ โดยใช้ทุนมหาศาลราว 80 พันล้านยูโร สนับสนุนโครงการวิจัยเป็นพันๆ ชิ้น เป็นเวลา 7 ปี (2014 – 2020 ตามชื่อ)
แต่เมื่ออังกฤษจะจากไป Horizon 2020 จึงเริ่มไม่ชัวร์ แม้ว่าอังกฤษจะใช้เวลาอีก 2 ปีในการออกจาก EU โดยสมบูรณ์ตามสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งล่าสุดทางการอังกฤษออกมายืนยันแล้วว่า พวกเขาจะสนับสนุนโครงการ Horizon ต่อจนถึงปี 2020 แม้อังกฤษจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ EU แล้ว กระนั้นเลยหลายฝ่ายเริ่มออกมาวิจารณ์แล้วว่า หากอังกฤษจะสนับสนุนต่อ ‘ต้องยอมจ่ายอย่างมหาศาล’ เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยและนักวิจัยให้ทำงานต่อ
แต่หลังจาก 2020 ล่ะ? หลังโครงการสิ้นสุดแล้ว อังกฤษจะเอาวิทยาศาสตร์ของตัวเองไปอยู่ตรงไหน?
ภารกิจสำรวจอวกาศที่ยังคั่งค้าง
แน่นอนมันได้รับผลกระทบ! โครงการอวกาศอันน่าตื่นตาจากฝั่งยุโรปล้วนมาจาก Europe’s space programs หรือ ESP ที่อังกฤษเป็นสมาชิกด้วย อย่างไรก็ตาม EU และอังกฤษต้องมีการจัดวาระหาข้อสรุปที่ทำให้โครงการอวกาศได้รับผลกระทบ ‘น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’ เพราะตอนนี้คุณปฏิเสธอวกาศไม่ได้ Space Race ครั้งที่ 2 มันเริ่มไปแล้ว แต่ละชาติต้องการความก้าวหน้าทางวิศวกรรมอวกาศเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับวิทยาศาสตร์ แต่อธิบดีของ ESP นาย Johann-Dietrich Woerner ออกมาผ่อนคลายความวิตกว่า Brexit จะไม่กระทบกับภารกิจสำรวจอวกาศ อังกฤษยังมีส่วนในภารกิจ เฉกเช่น แคนาดา นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ที่ไม่ได้อยู่ใน EU แต่มีส่วนร่วมกับ ESP ได้
แต่มันมีเรื่องยุ่งตรงที่ ระบบนำร่องกาลิเลโอ (Galileo’s PRS) เนี่ยล่ะ เพราะ กาลิเลโอเป็นระบบนำร่องสำหรับพลเรือนที่มีศักยภาพเทียบเท่าหรือดีกว่า GPS ของฝั่งอเมริกาประกอบด้วยดาวเทียม 30 ดวง ล้วนเป็นสิทธิการเข้าถึงของ EU (สหภาพยุโรป) ในจุดนี้ยังถกเถียงกันอยู่ว่า อังกฤษยังมีสิทธิในระบบกาลิเลโอนี้อยู่ไหม เพราะระบบนำร่องเป็นกระดูกสันหลังของการคมนาคม การขนส่งทุกเส้นทางที่คุณนึกออก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษโดยตรง
ในแวดวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ล้วนโหวตให้อังกฤษเลือกที่จะอยู่ต่อกับ EU เพราะโครงการวิจัยส่วนใหญ่ต้องการความต่อเนื่อง และอังกฤษจะได้ประโยชน์กว่าหากเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ในมุมมองของตัว EU เองก็อาจจะเปลี่ยวเหงาหากไร้อังกฤษคอยร่วมยินดีเมื่อพวกเราสามารถสร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกได้
อย่างไรก็ตาม Life will find the way อังกฤษจะต้องทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นไปสดๆร้อนๆ สหภาพยุโรปก็ต้องเปิดใจกันหน่อยและหาข้อตกลงร่วมกันที่ละมุนละม่อมที่สุด เพราะเมื่อ Brexit – Make British exit ล้วนมีคนต้องอดหักถ้วนหน้า
อ้างอิง
Britain’s Shaky Status as a Scientific Superpower
Britain’s quitting the EU, but will it be forced out of EU space programs
Researchers Reeling as the U.K. Votes to Leave the E.U.