ล่าสุด BBC ไทยไปถ่ายนักศึกษาและนักวิชาการเรื่องไทยๆ ในลอนดอน เราอาจรู้สึกเซอร์ไพรส์ว่า เอ๊ะ ในต่างประเทศเขาศึกษาเรื่องบ้านเรากันด้วยหรือ แต่ในโลกวิชาการเราอาจพบว่า สำนักวิชาและนักวิชาการเรื่องไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกจำนวนไม่น้อยเป็นคนต่างประเทศ หรือสังกัตอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ในคลิป BBC สถาบัน SOAS หรือวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน ถือเป็นหนึ่งในวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับบ้านเมืองและดินแดนแถบเรา
อย่าไปคิดว่าไม่ใช่คนไทย หรือเป็นคนไทยแต่ไม่ได้อยู่ในไทยจะมารู้อะไร นักวิชาการจากทั่วโลกนี้ต่างเป็นคนที่สร้างคุณูปการและสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องไทยๆ ให้กับวงวิชาการ เราอาจเข้าใจตัวเองได้จากสายตาของคนอื่น และที่สำคัญคือเมื่อมองจากด้านนอก เราอาจจะมองเห็นอะไรได้ด้วยมุมมองเชิงวิพากษ์มากขึ้น เราจึงมีนักศึกษาและนักวิจัยที่ไปทำเรื่องไทยๆ ในต่างประเทศมากมาย
The MATTER ชวนไปรู้จักกับนักวิชาการที่ศึกษาและเชี่ยวชาญเรื่องไทยที่กระจายตัวอยู่ในสำนักต่างๆ ทั่วโลก ว่าใครสนใจและสร้างองค์ความรู้อะไรเกี่ยวกับบ้านเราบ้าง อนึ่งเราแนะนำทั้งนักวิชาการทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติ ที่ผลิตงานอยู่นอกประเทศเรา
Benedict Anderson
ถึงแม้ว่า ‘ลุงเบน’ จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เราขอแนะนำไว้ลำดับแรกในฐานะนักวิชาการต่างชาติที่สร้างความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยคนสำคัญ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยในหลายแง่มุม ผลงานสำคัญที่เป็นที่รู้จักคือแนวคิดเรื่อง ‘ชุมชนจินตกรรม’ อันเป็นแนวคิดที่ชวนทบทวนประเด็นเรื่อง ‘ชาตินิยม’ และความเป็นชาติ ผลงานที่เกี่ยวกับเมืองไทยของลุงเบนค่อนข้างเป็นประวัติศาสตร์สังคมยุคสมัยใหม่ เช่น ‘บ้านเมืองของเราลงแดง’ พูดถึงสภาวะสังคมในช่วง 6 ตุลาคม 2519 และประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน อาทิ ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน อันเป็นงานที่ใช้ตัวบทวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในการทำความเข้าใจสังคมไทย
Chris Baker
อีกหนึ่งนักวิชาการที่ผลิตผลงานเชิงประวัติศาสตร์และสังคมไทยร่วมสมัย เป็นงานระดับหมุดหมายที่ใครๆ ก็ต้องอ่านและใช้อ้างอิง คริส เบเกอร์ – ทำงานร่วมกับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร สองสามีภรรยานักวิชาการคนสำคัญ ที่ล่าสุดเพิ่งได้รับ ‘รางวัลฟุกุโอกะ’ รางวัลซึ่งมอบให้กับนักวิชาการที่สร้างผลงานทางวัฒนธรรมองค์ความรู้ให้กับทวีปเอเชีย ผลงานของเบเกอร์โดดเด่นเรื่องประวัติศาสตร์ระยะหลังของไทยในมิติที่ซับซ้อนเกี่ยวพันทั้งมิติทางสังคม เศรษฐศาสตร์ และวัฒนธรรม หนังสือเล่มสำคัญเช่น A History of Thailand และ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ เรียกได้ว่าใครๆ ก็ต้องเปิดและอ้างอิงงานของสองท่านนี้แน่นอน
Rachel V. Harrison
หนึ่งในคุณแม่ที่เชี่ยวชาญเรื่องไทย รวมไปถึงหนังและวรรณกรรมไทย Rachel Harrison เป็นหนึ่งในนักวิชาการแถวหน้าเมื่อพูดถึงมิติทางวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ทางวัฒนธรรมไทยศึกษา (Professor of Thai Cultural Studies) อยู่ที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน ผลงานศึกษาสำคัญๆ เป็นเรื่องภาพยนตร์ศึกษา มิติเรื่องเพศสถานะในหนังไทยร่วมสมัย เรื่อยไปจนถึงประเด็นเรื่องผลกระทบของความทันสมัยที่มีต่อสังคมไทย
Peter A. Jackson
Peter Jackson เป็นนักวิชาการชาวออสเตรเลียที่สนใจประเด็นเรื่องพุทธศาสนา เพศสถานะ และผลกระทบจากโลกโลกาภิวัตน์ในสังคมไทยสมัยใหม่ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทยที่ Australian National University ผลงานศึกษาของ Jackson ส่วนใหญ่เน้นไปที่สังคมและประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในมิติต่างๆ ตั้งแต่พุทธศาสนาแบบเถรวาท การปฏิรูปศาสนาในยุคสมัยใหม่ของไทย ไปจนถึงเรื่องเควียร์ในสังคมและภาพยนตร์ไทย
Craig J. Reynolds
Craig J. Reynolds เป็นอีกนักประวัติศาสตร์จากออสเตรเลียที่ผลิตงานทางประวัติศาสตร์สำคัญๆ เกี่ยวกับบ้านเรามากมาย อาจารย์เครกเขียนงานเชิงประวัติศาสตร์ในประเทศภูมิภาคบ้านเราทั้งพม่า ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ผลงานสำคัญหลายชิ้นเกี่ยวกับบ้านเราเป็นงานที่กลายเป็นตำราเช่น เจ้าสัว ขุนศึก ศักดินา ปัญญาชน และคนสามัญ เป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ที่พูดถึงมิติทางวัฒนธรรมในหลายแง่มุมเช่น พูดถึงพงศาวดารจีน เรื่อยไปจนถึงเรื่องการชุมนุมประท้วง
Thak Chaloemtiarana (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ)
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เคยเป็นอดีตอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการศูนย์อุษาคเนย์ศึกษาประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา อาจารย์ทักษ์มีผลงานวิชาการทั้งทางการเมือง เช่นหนังสือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ และทางวรรณกรรมศึกษา ไปจนถึงงานแนววรรณกรรมศึกษาที่ใช้ตัวบทวรรณกรรมเพื่อทำความเข้าใจจินตนาการของคนไทยและความเป็นไทย งานแนววิเคราะห์วรรณกรรมก็มีเช่นหนังสือที่ว่าด้วยความเป็นไทยที่สัมพันธ์กับการเข้ามาของความทันสมัย ในชื่อ ‘อ่านจนแตก: วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย’ หรืองานบทความว่าด้วย การเสนอภาพคนจีนในวรรณกรรมไทยช่วงศตวรรษที่ 20
Shigeharu Tanabe
มาสู่งานวิจัยภาคสนามบ้าง ชิเกฮารุ ทานาเบ นักมานุษยวิทยาชาวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ถือเป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาระดับแนวหน้าที่ลงศึกษาอยู่พื้นที่ในประเทศไทยเรามายาวนานกว่าทศวรรษ งานของทานาเบเป็นงานแนวมานุษฯ เน้นการลงพื้นที่เก็บข้อมูลมิติความคิด ความเชื่อ และพิธีกรรม งานหลักๆ ศึกษาพื้นที่แถบภาคเหนือในช่วงยุคเปลี่ยนผ่าน หนังสือ พิธีกรรมและปฏิบัติการในสังคมชาวนาภาคเหนือของประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในรวมบทความทางวิชาการที่พูดถึงวัฒนธรรมและการต่อสู้ของสยามในช่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 เราจะเห็นภาพของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่งชาวนา เจ้านาย และการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง