“เรียนจบไปทำอะไร” เป็นคำถามลำดับต้นๆ เวลาที่พ่อแม่ถามคนเรียนสายมนุษยศาสตร์ ในทางกลับกัน เราก็ต่างเข้าใจว่ามนุษยศาสตร์—สาขาวิชาที่ว่าด้วยความรู้ ความคิด เป็นแกนสำคัญหนึ่งในการ ‘ให้การศึกษา’ ประเด็นเรื่องที่ว่ามนุษยศาสตร์ยังจำเป็นอยู่ไหม เรียนแล้วนำไปสู่อะไร สาขาวิชาที่ไม่ได้ผลิตทักษะเฉพาะที่ตอบสนองกับโลกธุรกิจกำลังไม่เป็นที่ต้องการและกำลังตายลงหรือไม่เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอยู่เสมอ
ข้อมูลการวิเคราะห์ของ Benjamin Schmidt นักประวัติศาสตร์จาก Northeastern University พบว่าวิกฤติมนุษยศาสตร์ (จากคำของผู้ศึกษาเอง)—ปริมาณสัดส่วนบัณฑิตสายมนุษยศาสตร์กำลังหดตัวลงสอดคล้องกับวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2008 วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
จากตัวเลขข้อมูลสัดส่วนการเลือกศึกษาในสาขาวิชาสายมนุษยศาสตร์ ผู้ศึกษาพบว่าตัวเลขโดยรวมของสาขาสำคัญ เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภาษา ศาสนา และสาขาทางวรรณคดีมีจำนวนการเลือกเรียนที่หดตัวลงอย่างสำคัญ เช่นสาขาวิชาประวัติศาสตร์มีสัดส่วนบัณฑิตลดต่ำลง โดยเฉลี่ยแล้วก่อนปี 2008 มีสัดส่วนเฉลี่ยต่อบัณฑิตอยู่ที่ 2% แต่หลังจากปี 2012 (หลังวิกฤติทางเศรษฐกิจ 4 ปีพอดี) ตัวเลขบัณฑิตค่อยๆ ลดต่ำลงจนเหลือเพียง 1% จากบัณฑิตทั้งหมด โดยทิศทางขาลงดังกล่าวปรากฏใกล้เคียงกันในทุกสาขาทางมนุษยศาสตร์ (และสาขาใกล้เคียงเช่นสังคมศาสตร์) ในขณะที่สัดส่วนสาขาวิชาที่มีแนวอาชีพชัดเจน เช่น สาขาวิชาการทางแพทย์และการพยาบาล วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์มีสัดส่วนบัณฑิตมากขึ้นเรื่อยๆ
ทาง Schmidt ตีความการหดตัวนี้ว่า เป็นไปได้ว่าหลังวิกฤติและความยากลำบากทางเศรษฐกิจ การเลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา—นักศึกษามีการเลือกสาขาวิชาเพื่อการอาชีพ มีความตระหนักเรื่องรายได้และการได้งานทำมากขึ้น โดยทางผู้วิจัยยังบอกอีกว่า ตัวเลขการเลือกสาขามนุษยศาสตร์ที่ลดลงอาจอาจสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มนักศึกษาในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ คือจำนวนนักศึกษาที่เข้าศึกษาในระดับสูงเป็นเพศหญิงและมาจากครอบครัวที่ยากจนกว่า ทัศนคติต่อการศึกษาจึงเป็นการเลือกเรียนเพื่อความอยู่รอด เพื่อการประกอบอาชีพด้วยส่วนหนึ่ง
ความน่ากังวลหนึ่งคือทัศนคติในการเลือกสาขาวิชาที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤติเศรษฐกิจกลับไม่ปรับเปลี่ยนคืนมาเมื่อวิกฤติทางเศรษฐกิจคลี่คลายแล้ว ทิศทางสัดส่วนบัณฑิตสายมนุษยศาสตร์ก็ยังคงลดลงและมีแนวโน้มลดลงต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก