ปาฐกถาของอาจารย์ธงชัยกำลังอยู่ในความสนใจ และคาดกันว่าปาฐกถาดังกล่าวจะกลายเป็นคำอธิบายสังคมไทยและรัฐไทยร่วมสมัยในวงวิชาการของไทยต่อไป
แน่นอนว่าปาฐกถาสำคัญล่าสุดนี้ เป็นข้ออธิบายที่อธิบายถึงรากเหง้าของปัญหาทางการเมือง และอาจรวมถึงภาวะบางประการของสังคมไทย โดยปาฐกาของอาจารย์ในครั้งนี้ ก็ดูจะปรากฏ ‘คำศัพท์’ ทางวิชาการต่างๆ ที่อาจารย์อภิปรายความเป็นไปของสังคม โดยคำศัพท์และความคิดอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะกึ่งอาณานิคมหรือประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกฏหมายไทยที่ถูกกล่าวถึงนั้นก็ดูจะสะท้อนความสนใจและผลงานทางวิชาการชิ้นก่อนหน้า และเพื่อเป็นการเข้าใจทั้งสังคมไทยจากทัศนะของอาจารย์นั้น การกลับไปอ่านผลงานของอาจารย์ธงชัยอีกครั้ง จึงอาจช่วยทำให้เรามองเห็นรากเหง้าของปัญหาร่วมสมัยที่อาจารย์พยายามชี้ให้เห็นอยู่ก็เป็นได้
ธงชัย วินิจจะกูล ถือเป็นนักวิชาการชั้นแนวหน้าของโลก เป็นนักวิชาการในสาขาที่เราอาจเรียกว่าไทยศึกษา (Thai Studies) โดยสาขาไทยศึกษาของอาจารย์นั้นคือการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่และความเป็นไทยร่วมสมัยโดยใช้กรอบความคิดทางวิชาการ เช่น ประวัติศาสตร์นิพนธ์ วัฒนธรรมศึกษาและทฤษฎีเชิงวิพากษ์ต่างๆ เข้ามาทำความเข้าใจ ผลงานของอาจารย์มีความโดดเด่นในทุกๆ แง่มุม ทั้งการใช้กรอบความคิดทฤษฎี โดยที่ไม่ได้ยึดติดกับกรอบความคิด หากแต่เป็นการใช้และตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างถี่ถ้วน ซึ่งเราอาจนิยามว่าเป็นวิธีการแบบที่เราเรียกว่าการรื้อสร้าง (deconstruction) ถึงอย่างนั้น ผลงานของอาจารย์ที่มีความซับซ้อนทางความคิด กลับได้รับการถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ ด้วยภาษาที่เรียบง่าย และทำให้งานวิชาการนั้นพอจะเข้าใจได้แม้จะไม่ใช่คนในวงวิชาการโดยตรง
Siam Mapped ถือเป็นงานวิชาการที่สำคัญยิ่งทั้งในฐานะผลงานของอาจารย์เอง และในฐานะงานอันเป็นหมุดหมายสำคัญของวงวิชาการไทยร่วมสมัย สยามแม็พเป็นงานที่กลับไปทบทวนรากเหง้าของความเป็นชาติไทย การกำเนิดสยามที่ก่อนหน้านี้เราอาจรู้สึกว่าความเป็นชาติ ความเป็นสยามประเทศนั้นเป็นสิ่งที่มีมาอยู่แล้ว แต่ในสยามแม็พนั้นเสนอว่าชาติไทยนั้นเกิดขึ้นได้สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของแผนที่ เทคโนโลยีการทำแผนที่ ทำให้เรามองเห็นขอบเขต เนื้อหนังของความเป็นชาติผ่านเส้นแบ่งเขตแดน พร้อมๆ กับนิยามตนเองว่าสยาม ผ่านการนิยามให้แตกต่างจากคนอื่น และการเผชิญหน้ากับโลกตะวันตก
ความเข้าใจเรื่องความเป็นไทยในสายของอาจารย์ธงชัย และนักวิชาการทางไทยศึกษานั้น จึงอาจเป็นคำอธิบายที่ทำให้เราเข้าใจสภาวะอันลักลั่นของสังคมไทยบางส่วน ทำให้เราเข้าใจสภาวะแปลกประหลาดของชนชั้นกลาง ความรู้สึกทั้งรักทั้งชังที่มีต่อชาติตะวันตก ความรู้สึกต่อคนชายขอบต่างภาค ประเด็นทางชนชั้น และการปะทะของความคิดและอุดมการณ์ร่วมสมัยในสังคมไทย
อนึ่ง งานเขียนทางวิชาการที่เป็นบทความ หรือเป็นปาฐกถาที่ไม่ใช่หนังสือเล่มส่วนใหญ่ อาจารย์ธงชัยได้รวบรวมไว้ใน academia.edu ไว้ค่อนข้างครบถ้วน สามารถดูได้ที่ https://wisc.academia.edu/ThongchaiWinichakul
กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ
ในโลกที่เราพูดถึงประเทศ พูดถึงชาติ บางครั้งเราใช้ความเป็นชาติ ความรักชาติ และสิ่งเป็นนามธรรมนั้นวัดค่าโจมตีกัน แต่นักวิชาการก็ตั้งคำถามว่าอะไรคือชาติ อะไรคือจุดเริ่มต้นของประเทศ Siam Mapped หรือฉบับภาษาไทยคือ กำเนิดสยามจากแผนที่ อันเป็นผลงานวิชาการชิ้นแรกๆ และชิ้นสำคัญของอาจารย์ธงชัย พาเรากลับไปสำรวจการก่อร่างขึ้นของสยาม ของความเป็นชาติแบบสมัยใหม่ ผ่านการที่ชนชั้นสยามใช้แผนที่สร้างสำนึกแบบใหม่ขึ้น งานเขียนชิ้นนี้จึงดูจะเป็นรากฐาน และแสดงให้เห็นสไตล์งานวิชาการของอาจารย์ธงชัย ในการใช้การสืบเสาะประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา ความสนใจเรื่องอัตลักษณ์ไทย การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ ตัวตนสมัยใหม่โดยเฉพาะไทยร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่สยามรับความเป็นสมัยใหม่และการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกตะวันตก
Quest for Siwilai: a Geographical Discourse of Civilizational Thinking int he late 19th and early 20th Century Siam
Quest of Siwilai ถือเป็นงานเขียนสำคัญอีกชิ้น มีฉบับภาษาไทยชื่อ ‘ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์’ งานศึกษานี้กลับไปสำรวจการสร้างตัวตนของชนชั้นนำสยาม ในขณะที่เผชิญกับการล่าอาณานิคม โดยงานศึกษาชิ้นนี้เป็นประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา คือทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทาง ‘โลกทัศน์’ ของสยาม จากโลกทัศน์แบบเดิมไปสู่การมองโลกแบบใหม่ การรับเอาความเป็นสมัยใหม่ทั้งความคิดและความรู้ในการสร้างและนิยามความศิวิไลซ์ของตน โดยที่คำที่เราพูดๆ กันว่า ‘อาณานิคม’ นั้น ชนชั้นนำของไทยอาจจะไม่ได้ต่อต้านความเป็นอาณานิคม แต่รับการล่าอาณานิคมเข้ามาใช้กับผู้คนในขอบขัณฑสีมาของเราเองผ่านการสร้างความรู้เรื่องชาติพันธุ์ ในขณะเดียวกันโลกทัศน์บางอย่างของเราก็อาจจะยังสถิตสถาวรมาจากยุคก่อนสมัยใหม่มาอย่างยาวนาน
Coming to Terms with the West: Intellectual Strategies of Bifurcation and Post- Westernism in Siam ใน The Ambiguous Allure of the West
The Ambiguous Allure of the West เป็นรวมงานวิชาการของนักวิชาการไทยศึกษาที่สร้างความสั่นสะเทือนให้วงการวิชาการ โดยเล่มรวมงานศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจสภาวะของไทยร่วมสมัย ผ่านการใช้กรอบความคิดแบบหลังอาณานิคม (post-colonialism) ว่าโอเค ลัทธิอาณานิคมหรือการส่งต่อทางความคิดจากโลกตะวันตกนั้นส่งผลกระทบในระดับโลก ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีการมองว่าเราอยู่ในภาวะกึ่งอาณานิคม คือไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการรับ ปรับ ประยุกต์เอาความคิดแบบอาณานิคมเข้าไปสู่ตัวตนและสังคมของเราด้วย ยิ่งของไทยยิ่งมีความลักลั่นซับซ้อน ทั้งรักทั้งชัง มี ‘ความดึงดูดอย่างคลุมเครือของโลกตะวันตก’ ในบทความของอาจารย์พูดถึงเหล่าปัญญาชนไทยในช่วงทศวรรษหลัง (ก่อนและหลังปี 2000) ในการรับมือและมีปฏิสัมพันธ์กับตะวันตกและความคิดแบบตะวันตก ในนามของ ‘ฝรั่ง’ ทำอย่างไรปัญญาชนไทยจึงพยายามเอาชนะฝรั่ง ‘ไม่ตามก้นฝรั่ง’ ในบทวิเคราะห์นี้อาจารย์พูดถึงกลยุทธ์การใช้ความคิดเรื่องจิตวิญญาณ อย่างที่เราคุ้นๆ ว่า เรามีจิตวิญญาณ โลกตะวันตกมีวัตถุ ความสัมพันธ์และการสร้างปรัชญาแบบพุทธร่วมสมัยอันเป็นส่วนสำคัญของความเป็นไทยร่วมสมัย
คนไทย/คนอื่น: ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย
หนังสือ คนไทย/คนอื่น นี้ เป็นงานรวบรวมและสรุปแนวคิด ที่สำรวจประเด็นเรื่องความเป็นไทย โดยที่ความเป็นไทยหรือคนไทยนั้น เกิดจากการเปรียบต่างกับ ‘คนอื่น (other)’ แต่คำว่าคนอื่นของคนไทยนี้มีใครบ้าง โดยในการสร้างความเป็นอื่นนี้นำไปสู่ปัญหาและการจัดการกับคนอื่นภายในสังคมของเรา ความสำคัญของการศึกษาคนอื่นและความเป็นอื่นนี้ อยู่ที่ว่า คนอื่น หรือต่างด้าวนั้น บางครั้งเป็นต่างด้าวที่อยู่ในแดนเรา เป็นคนที่ถูกเราทำให้เป็นคนอื่น และนำไปสู่ความขัดแย้งและความเกลียดชัง การดูถูกหมิ่นแคลนผู้คนด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันต่างด้าวที่แท้จริง ที่เราอาจจะบอกว่าแสนจะไม่สลักสำคัญเช่นพวกฝรั่งดั้งขอ อาจจะสำคัญกับตัวตนของเราอย่างที่คาดไม่ถึง
6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : ว่าด้วย 6 ตุลา 2519
ต้องไม่ลืมว่าอาจารย์ธงชัยเป็นหนึ่งในคนเดือนตุลา และดูจะเป็นคนที่ใช้ความคิดและงานวิชาการเพื่อเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดและความอยุติธรรมในสังคมไทย งานของอาจารย์จึงไม่ได้แยกขาดออกจากสังคม ซึ่งอาจสังเกตได้จากปาฐถาของอาจารย์ที่มักใช้เวทีเพื่อมอบความคิดที่ค่อนข้างมีความเป็นการเมือง เป็นการวิเคราะห์พร้อมวิพากษ์สังคม งานเขียน 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง จึงเป็นทั้งงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นบันทึกจากประวัติศาสตร์จากนักประวัติศาสตร์ผู้เป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ในเดือนตุลา เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่อยากถูกลืมเลือนมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของสังคมไทย
โฉมหน้าราชาชาตินิยม : ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย
หนังสือ โฉมหน้าราชาชาตินิยม เป็นรวมบทความว่าด้วยประวัติศาสตร์ ที่แน่ล่ะว่าดูจะสืบต่อจากงานเขียนว่าด้วยความเป็นศิวิไลซ์ คือการกลับไปทบทวนการเขียนประวัติศาสตร์ ไปจนถึงมุมมองของสังคมที่มีชนชั้นนำ โดยเฉพาะชนชั้นสยาม—จากศูนย์กลางของกรุงเทพ ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไปจนถึงประวัติศาสตร์ภาคประชาชน งานเขียนชิ้นนี้วิเคราะห์ให้เห็นว่าการมีประวัติศาสตร์กระแสหลักนำไปสู่การลบเลือน หลงลืมและกดทับเสียงและเรื่องราวในปริมณฑลอื่นได้อย่างไร
ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย
ชิ้นนี้น่าจะเรียกว่าตำราได้เต็มปาก เป็นงานเขียนที่อาจารย์พาเราไปกลับไปนิยามและทบทวนมิติของคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ การเขียน และการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ใหม่ในแขนงต่างๆ ที่ไม่ได้แค่เอาคอนเซปต์ประวัติศาสตร์นิพนธ์ต่างๆ มาอธิบายเชิงความคิดให้ฟัง แต่คือการกลับไปสอบทานความคิดเรื่องประวัติศาสตร์ของไทย แล้วจึงเสนอวิธีการอ่านประวัติศาสตร์ตามกระแสต่างๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้กับประวัติศาสตร์อันเป็นการอ่าน ‘นอกขนบ’ โดยกรอบความคิดทั้งหมดที่อาจารย์กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นหลังมาร์กซ์ หลังความเป็นชาติ หลังอาณานิคมรวมไปถึงวิธีคิดแบบวงศาวิทยาและประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาแบบมิเชล ฟูโกต์นั้น ก็ดูจะเป็นการอภิปรายและอธิบายถึงเบื้องหลังการทำงานประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของอาจารย์เองด้วยอีกคำรบหนึ่ง