“วิชานี้นี่เรียนไปทำไมนะ?”
คำถามที่เราแต่ละคนตั้งคำถามมาตั้งแต่เดินเข้าโรงเรียนไปจนเดินออกมาจากมหาวิทยาลัย ศิลปะไม่ใช่ทุกคนอยากเรียนรึเปล่า? ภาษาไทยนี่ไม่ใช่ว่าอ่านออก พูดได้ เขียนเป็นก็พอแล้วเหรอ? ประวัติศาสตร์นี่เรียนซ้ำไปซ้ำมาจะเรียนทำไม? แล้วปรัชญาเรียนไปจะเอาไปทำอะไรกิน? คำถามเหล่านี้ยิ่งมากขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเราเติบโตมาเจอกับโลกจริงที่แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรจัดการให้ระบบการศึกษาทำหน้าที่หลักเป็นสายพานในการป้อนมนุษย์เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมต่างๆ
แนวคิดสำหรับจุดมุ่งหมายการพัฒนาหลักสูตรและระบบการศึกษามักมี 2 ขั้วใหญ่ๆ ขาหนึ่งคือขาเชิงปรัชญา ที่เชื่อว่าความรู้นั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง และสังคมที่มีความรู้ที่หลากหลายไม่ว่าจะในสาขาไหนตั้งแต่คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไปจนจริยศาสตร์และปรัชญาย่อมเป็นสังคมที่เจริญก้าวหน้าและมีจริยธรรม ส่วนอีกขาหนึ่งคือขาของนักอุตสาหกรรมที่เชื่อว่าการศึกษามีหน้าที่สอนวิชาที่ ‘ใช้ได้จริง (pragmatic)’ และมันต้องนำผู้คนเข้าสู่อุตสาหกรรมให้ได้เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงาน
เมื่อเรามองโลกในปัจจุบัน เราน่าจะรู้ว่าโลกของเราเอนเอียงเข้าสู่ขาไหนมากกว่ากัน และอีกขาที่เหลือก็ตกอยู่กับคำถามว่า ‘เรียนไปทำอะไร?’ และสายการศึกษาที่มักโดนข้อหาดังกล่าวบ่อยที่สุดหนึ่งสายน่าจะเป็นสายวิชามนุษยศาสตร์ สายการเรียนที่ตั้งอยู่ในขาการศึกษา ‘ความรู้มีค่าในตัวของมันเอง’ อย่างสุดโต่ง
ในขณะที่ไม่ว่าประเด็นเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนใดๆ ในระบบการศึกษาไทยนั้นสามารถเป็นประเด็นให้ตั้งคำถามได้ สิ่งที่อยากชวนคุยในวันนี้คือในสภาพของโลกปัจจุบันทั้งในเชิงสังคมและเทคโนโลยี เราสามารถละทิ้งมนุษยศาสตร์ได้จริงๆ หรือเปล่า?
มนุษยศาสตร์สอนอะไร?
การพูดว่า ‘มนุษยศาสตร์คือการเรียนเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์’ คงเพิ่มคำถามมากกว่าคำตอบ คำถามที่เป็นเชิงปรัชญามากกว่าอะไรที่มีคำตอบเดียวตายตัว
อะไรคือความเป็นมนุษย์? ความเป็นมนุษย์คับแคบเกินไปรึเปล่า?
ซึ่งโดยมากคำตอบจะเปลี่ยนไปแล้วแต่ว่าใครเป็นคนตอบ คนคนนั้นมีความเชื่ออะไร ยึดถือคุณค่าอะไร และเจอประสบการณ์อะไรในชีวิตมาบ้าง เพราะไม่ใช่ว่าอะไรก็ตามที่มนุษย์เจอในชีวิตก็คือประสบการณ์การเป็นมนุษย์อย่างนั้นเหรอ? อย่างนั้นแล้วเราอาจจะต้องเริ่มคุยกันว่า มนุษยศาสตร์สอนอะไร และเราเรียนมันไปทำไม
วรรณกรรม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา เพศสภาพศึกษา ภาษาศาสตร์ ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้และจุดตัดระหว่างพวกมันคือประเด็นที่มนุษยศาสตร์สนใจ โดยนักปรัชญาชาวเยอรมัน วิลเฮล์ม ดิลธีย์ (Wilhelm Dilthey) เรียกมนุษยศาสตร์ว่า วิทยาศาสตร์แห่งจิตวิญญาณ (Spiritual Science) สร้างข้อแตกต่างระหว่างมันกับกับวิชาสังคมวิทยาหรือวิทยาศาสตร์และเรียกมนุษยศาสตร์ว่าวิชาที่อยู่นอกเหนือจากศาสตร์ที่จับต้องได้
เมื่อมองดูประเด็นที่มันสอน อาจดูว่ามันเป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน แต่ทั้งหมดอยู่ในร่มเดียวกัน นั่นคือการทำความเข้าใจเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ผ่านวิธีการวิเคราะห์ด้วยการตีความและทฤษฎีมากกว่าการใช้ข้อมูลทางคณิตศาสตร์และสถิติ ซึ่งเมื่อมองจากมุมมองภายนอกอาจดูเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลและนำไปปรับใช้ในการทำงานยากเกินไป แต่ลักษณะดังกล่าวในตัวของมันเองคือความเป็นมนุษย์หรือไม่?
ไฮน์ริค ไรค์เคิร์ต (Heinrich Rickert) นักปรัชญาชาวเยอรมันบอกว่าลักษณะของมนุษยศาสตร์นั้นไม่ได้มาจากประเด็นที่พวกเขาสนใจ แต่เป็นวิธีที่พวกเขาศึกษามันมากกว่า นั่นคือการไม่ยึดอยู่กับหลักหรือกฎสากลของอะไรเป็นหลัก แต่ยึดตัวอยู่กับบริบทของธรรมชาติความเป็นมนุษย์
กลับไปที่ ‘มนุษยศาสตร์คือการเรียนเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์’ เมื่อลองอ่านหัวข้อนี้มาแล้ว เราอาจขยายความมันออกมาได้ว่า ‘มนุษยศาสตร์สอนให้เรามองประเด็นต่างๆ ด้วยวิธีการมองที่เป็นมนุษย์’ คงไม่เกินจริงไปนัก และประเด็นที่มันมักหยิบจับนั้นล้วนเป็นประเด็นที่จะอธิบายบางอย่างเกี่ยวกับประสบการณ์ของมนุษย์ ในแง่มุมที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลายๆ แง่มุมอาจเถียงได้ว่ามันเข้าใกล้กันกับความเป็นมนุษย์ได้มากกว่า
เข้าใจแล้วเอาไปทำอะไรได้?
อย่างที่คุยกันไป ระบบการศึกษาโดนวางกรอบว่าปลายทางของการเรียนรู้คือเราต้องนำสกิลที่เรามีเข้าไปใช้ในอุตสาหกรรมการทำงานในเรื่องที่เราศึกษาอยู่ ในขณะที่เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิด คำถามคือทำไมจึงต้องรู้สึกว่าเราต้องเลือกระหว่างการมีเงินในการเอาชีวิตรอดและการเข้าใจในมนุษย์ด้วยกัน? และทำไมการเข้าใจในวิธีการทำงานของมนุษย์จึงดูด้อยค่าไปกว่าการทำงาน?
ในงานวิจัย Factors in Successful Humanities Integration: A Case Study of One Physical Therapist Education Program โดยเจสสิการ์ คามาราตา (Jessica Cammarata) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิก แผนกกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยเซนต์ฟรานซิสที่ศึกษาหาหนทางการนำมนุษยศาสตร์เข้าแทรกอยู่ในการศึกษานักกายภาพบำบัดอธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ที่มนุษยศาสตร์มอบให้ว่ามันสามารถเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจ การคิดวิเคราะห์ การสังเกตการณ์มนุษย์ เสริมความสามารถในการสื่อสาร เข้าใจในโลกที่ตัวเองไม่ได้อาศัยอยู่ สะท้อนชีวิตเราเข้ากับผู้อื่น และเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม
ความสามารถดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่เป็นผลดีและจำเป็นแค่กับวิชาชีพเกี่ยวกับการแพทย์และการรักษา การทำงานของมนุษย์จำนวนมากในโลกอาศัยการสื่อสารระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะระหว่างเพื่อนร่วมงานต่อเพื่อนร่วมงาน ผู้นำกับพนักงาน ลูกค้ากับคนประสานงาน ไปจนการคุยกับคนนับร้อยนับพันบนโซเชียลมีเดีย การเข้าใจเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์นั้นอาจจะเรียกว่าไม่จำเป็นก็ได้ เราสามารถคุยกับทุกคนที่ลิสต์อกมาโดยไม่มีความเข้าใจหรือเห็นใจเลยก็ทำได้ แต่เราอยากทำแบบนั้นแน่หรือเปล่า?
และไม่ได้แปลว่าการไม่เรียนรู้เกี่ยวกับมนุษยศาสตร์จะทำให้เราไม่มีและไม่มีวันเข้าใจความเป็นมนุษย์ เราล้วนต่างได้ผ่านประสบการณ์มนุษย์เมื่อเราใช้ชีวิตกันทั้งหมด แต่บ่อยครั้งเราแต่ละคนไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร ประสบการณ์การเป็นมนุษย์ของเราและของผู้อื่นอาจแตกต่างออกไปอย่างมาก และการเรียนรู้เกี่ยวกับมนุษยศาสตร์สามารถช่วยเติมช่องว่างตรงนั้นสำหรับเราได้
เมื่อโลกห่างไกลและใกล้มนุษย์ขึ้นพร้อมๆ กัน เราต้องการมนุษยศาสตร์มากขึ้นหรือน้อยลง?
‘โลกไร้พรมแดน’ เมื่อราวๆ สิบกว่าปีก่อนหน้านี้มีข้อสันนิษฐานมากมายเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจะมีต่อโลกและสังคมมนุษย์ ระยะทางจะไม่ใช่ปัญหาในการสื่อสารอีกต่อไป ไม่ว่าเราจะเป็นใครเราอยู่ในพื้นที่เดียวกันนั่นคืออินเทอร์เน็ต และนั่นอาจก่อให้เกิดความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมากขึ้นสำหรับคนในยุคถัดๆ ไป
ตัดภาพมาในโลกออนไลน์ของปี 2023 ในขณะที่บางข้อสันนิษฐานนั้นเป็นจริง ข้อถกเถียงระหว่างว่าเราเอาคนคนละสีผิวมาเล่นเป็นนางเงือกได้มั้ย? สิ่งนี้เป็นของกัมพูชาหรือไทย? ทำไมต้อง BLM ไม่ใช่ ALM ? ภาพวาดจากเอไอนี่นับเป็นศิลปะรึเปล่า? เราเอาเอไอมาทำงานแทนคนได้มั้ย? และอีกเป็นหมื่นแสนข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์แสดงถึงระยะห่างบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างคนจากต่างชนชั้น ต่างวัฒนธรรม ต่างชาติกำเนิด ต่างเพศ ฯลฯ
และเราโดนจับมาอยู่ในบริเวณเดียวกันโดยยังไม่ได้เข้าใจในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
จริงอยู่ว่าโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตสามารถพาให้เรารู้จักเรื่องราวต่างๆ มากมายเกี่ยวข้องกับคนที่หลากหลายมากขึ้น ที่ที่เราไม่เคยเห็น ประเทศที่เราไม่เคยไป แต่การ ‘รู้’ ไม่ได้แปลความหมายได้ว่าเรา ‘เข้าใจ’ เสมอไป ข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์นั้นคือเราไม่อาจถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ของเราแบบ 1:1 ไปให้ใครได้อย่าง 100% สิ่งที่เราทั้งหมดทำได้คือการนำประสบการณ์บางอย่างของตัวเองเข้าไปเทียบกับสิ่งที่คนอีกคนเจอมา และบ่อยครั้งการเปรียบเทียบรูปแบบนั้นอาจสร้างภาพเงาให้พอเห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่ร่างนั้นๆ บิดเบือนและขาดความใกล้ชิดพอจะเข้าใจ
ความรู้เกี่ยวข้องกับมนุษยศาสตร์สามารถมาเป็นเครื่องมือและวิธีคิดที่พาเราเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ของอีกฟากฝั่งการสื่อสารได้ การเข้าใจเหตุที่คนคนหนึ่งเป็นอย่างที่เขาเป็น ทำไมเขาโกรธในเรื่องที่เขาโกรธ ทำไมคำบางคำเราพูดไม่ได้ ทำไมเพศกำเนิดไม่ใช่เพศรูปแบบเดียวสำคัญ และอีกมากมาย
ไม่ใช่ว่าเราทุกคนต้องแห่กันไปเรียนมนุษยศาสตร์ แต่ความเข้าใจโดยพื้นฐานของมันหากแทรกเข้าไปอยู่ในวิธีเรียนหรือวิธีสอนในทุกระดับชั้นของการศึกษายังไงเสียก็เป็นข้อดีมากกว่าข้อด้อย โดยเฉพาะในโลกที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการอยู่กับคนที่เราไม่มีประสบการณ์ร่วมด้วยได้เช่นทุกวันนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก