“ขอให้มีความสุขมากๆ” คำพูดที่เราอวยพรคนอื่นหรืออธิษฐานกับตัวเองบ่อยๆ แน่ล่ะ ใครๆ ก็อยากมี ‘ความสุข’ กันทั้งนั้น เรารู้ว่ามันดีต่อใจ แถมมันก็ยังดีต่อ(ร่าง)กายเราด้วย คนที่มีความสุขจะมีชีวิตที่ดีและยาวนาน งานวิจัยบอกเราแบบนั้น
แต่.. อย่าเพิ่งให้ความดีความชอบกับความสุขมากเกินไป เพราะงานวิจัยล่าสุดพบว่า จริงๆ แล้ว ความหลากหลายทางอารมณ์ (Emodiversity) ต่างหาก ที่ดีต่อสุขภาพเรามากกว่า
ลองจินตนาการว่าอารมณ์ของเราเป็นระบบนิเวศ ความหลากหลายทางอารมณ์ก็เปรียบได้กับความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศจะสมบูรณ์แข็งแรงก็ต่อเมื่อสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ดำรงชีวิตตามหน้าที่ของมัน แต่หากมีสายพันธุ์ไหนที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นจนมากเกินไป ก็จะเสียสมดุล เช่นเดียวกันกับระบบนิเวศทางอารมณ์ของมนุษย์ ต้องอาศัยอารมณ์ที่หลากหลาย และต่างฝ่ายต่างต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้เหมาะสม เพื่อที่อารมณ์จะควบคุมพฤติกรรมของเราให้สมดุลและเหมาะกับแต่ละสถานการณ์ได้
ในทางวิทยาศาสตร์ ยังไม่สามารถระบุตัวชี้วัดทางชีววิทยาที่บอกว่าอารมณ์มีผลต่อสุขภาพของเราได้ งานวิจัยชิ้นนี้จึงเลือกใช้อาการอักเสบทั่วร่างกาย (Systemic Inflammation) การตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวเนื่องกันกับโรคเรื้อรัง และการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นตัววัดผล
ผู้เข้าร่วมการทดลอง 175 คน อายุระหว่าง 40-65 ปี ได้ทำการบันทึกสภาพอารมณ์ของตัวเองทุกเย็นเป็นเวลา 30 วัน โดยพวกเขาจะต้องประเมินอารมณ์ต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญมาตลอดทั้งวันด้วยการให้คะแนน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ด้านบวกอย่าง ความสุข ความภาคภูมิใจ ความ กระตือรือร้น หรือความรู้สึกแข็งแรง รวมถึงอารมณ์ด้านลบอย่าง เศร้า โกรธ อาย หรือรู้สึกผิด ซึ่งความหลากหลายทางอารมณ์นั้น คำนวณจากจำนวนของอารมณ์ที่แตกต่างกัน การกระจายตัวระหว่างอารมณ์ขั้วบวกและลบ รวมถึงความถี่ของแต่ละอารมณ์ด้วย
ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างเลือดผู้เข้าร่วมการทดลองในวันที่เริ่มต้นการทดลอง และ 6 เดือนหลังจากนั้น เมื่อทีมวิจัยทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดด้วยตัวชี้วัดการอักเสบ ผลปรากฏว่ากลุ่มที่มีอัตราการอักเสบต่ำที่สุด คือคนที่มีความหลากหลายทางอารมณ์ด้านบวกมากที่สุด งานวิจัยยังชี้ให้เห็นอีกว่า การมีความหลากหลายทางอารมณ์ด้านลบ หรือข้ามไปมาระหว่างบวกลบ ไม่มีผลใดๆ ทางชีวภาพของสุขภาพร่างกาย
ทั้งนี้ ทีมวิจัยก็บอกว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปไป เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างแค่วัยกลางคนและในพื้นที่เดียว หากต้องการสรุปผลที่แน่ชัดกว่านี้ ต้องไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่กว้างและหลากหลายกว่านี้
จริงๆ แล้วก่อนหน้างานวิจัยชิ้นนี้ เคยมีการทดลองเรื่อง ความหลากหลายทางอารมณ์กับคน 37,000 คนมาก่อนแล้ว ซึ่งงานวิจัยชิ้นก่อนพบว่า ความหลากหลายทางอารมณ์ทั้งด้านบวกและลบ มีผลต่อสุขภาพกายและใจของคนเราจริง
จากการสำรวจคน 35,000 คน พบว่าคนที่มีความหลากหลายทางอารมณ์ทั้งด้านบวกและลบ มีแนวโน้มที่จะซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่มีความหลากหลายทางอารมณ์ด้านบวกอย่างเดียว และจากที่สำรวจคนอีก 1,300 คน ก็พบว่าคนที่มีความหลากหลายทางอารมณ์ทั้งด้านบวกและลบ มีแนวโน้มที่จะใช้ยาน้อยกว่า จ่ายค่าบริการด้านสุขภาพน้อยกว่า เจ็บป่วยน้อยกว่า มีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายที่ดีกว่า รวมถึงไม่ค่อยสูบบุหรี่ด้วย
เมื่อมองภาพรวมแล้ว ไม่สำคัญว่าจะเป็นอารมณ์ด้านบวกหรือลบ ความหลากหลายทางอารมณ์ต่างหากที่สำคัญและดีต่อสุขภาพ ซึ่งมันก็เหมือนกับความหลากหลายทางชีวภาพที่ช่วยป้องกันนักล่าสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ไม่ให้ยึดครองหรือทำลายระบบนิเวศได้ เช่นเดียวกับที่ความหลากหลายทางอารมณ์ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้อารมณ์ร้ายๆ อย่างความเครียด ความโกรธ หรือความเศร้ามาครอบงำอารมณ์ทั้งหมดของเราได้
ตอนนี้เรารู้แล้วว่าความหลากหลายทางอารมณ์เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ดี แต่เราก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร ทฤษฎีหนึ่งจากนักจิตวิทยา ก็คือการที่เราเผชิญกับอารมณ์ที่หลากหลาย จะช่วยให้เรามีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าการเผชิญหน้ากับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง รวมถึงความหลากหลายนั้นยังช่วยให้เราตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เมื่อเผชิญกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน (เจอมาเยอะ เจ็บมาเยอะแล้วไง)
แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่าสุขภาพร่างกายที่ไม่ดี จะทำให้เรามีอารมณ์ที่ไม่หลากหลาย พูดง่ายๆ ก็คือเราจะมัวแต่โกรธ เศร้า หรือกังวล เพราะฉะนั้นคือเราก็ยังไม่รู้ว่าความหลากหลายทางอารมณ์นั้นเป็นเหตุหรือผลของสุขภาพร่างกายกันแน่
แต่เท่าที่รู้แน่ๆ ตอนนี้ก็คือ ความหลากหลายทางอารมณ์เป็นผลดีกับเรา ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ไม่ว่าจะสุขหรือเศร้า เพราะฉะนั้นอย่ากังวลถ้าในวันๆ หนึ่งเราจะทั้งดีใจ โกรธ ผิดหวัง และแอคทีฟ อย่ากังวลถ้าต้องเผชิญหน้ากับอารมณ์ดีและอารมณ์เสียในตัวเอง
ที่สำคัญ อย่าคาดหวังที่จะมีความสุขเพียงอย่างเดียว เพราะคนเรามีอารมณ์ที่หลากหลาย จำไว้ว่าต้องยิ้มให้ได้ และร้องไห้ให้เป็น
ที่มา : nymag.com