ข้างหลังประตูเป็นห้องสีเทา รูปภาพที่แขวนติดผนังคือบรรยากาศในธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกสงบ โซฟาและที่นั่งถูกจัดวางในระยะห่างที่เหมาะสม ไม่คับแคบหรือห่างเหินจนเกินไป ทุกอย่างในห้องได้รับการออกแบบมาอย่างดี เพื่อให้ผู้มาเยือนผ่อนคลายมากที่สุด
ปกติแล้ว ห้องนี้จะถูกใช้งานเป็นพื้นที่ให้นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้เข้ามาปรึกษาปัญหาสภาพจิตใจกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาประจำ ‘ศูนย์สุขภาวะทางจิต’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากพูดให้ถึงที่สุด ที่นี่อาจจะไม่มีใบสั่งยาเป็นแนวทางการช่วยเหลือ หากแต่ให้บริการเป็น ‘เพื่อนผู้รับฟังอย่างเข้าใจและด่วนไม่ตัดสิน’
“สิ่งที่ช่วยได้ดีที่สุด ไม่ใช่การบอกว่าเขาต้องทำอะไร แต่เราควรรับฟังเขาให้มาก เพื่อให้เขามีโอกาสที่เขาจะได้ระบายความคิดและความรู้สึก”
นี่คือหลักการเบื้องต้นในการทำงานที่ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์แห่งนี้เล่าให้กับเราฟัง ก่อนการสัมภาษณ์จะเริ่มต้น
The MATTER คุยกับ อาจารย์ ณัฐสุดา เพื่อหาคำตอบว่า คนในวัยเรียนกำลังเผชิญหน้าปัญหาด้านจิตใจในรูปแบบไหน อะไรคือปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเจอกับภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน
แต่ละชั้นปีมีโจทย์ชีวิตที่แตกต่าง
“ส่วนใหญ่แล้ว คนวัยนี้จะมีปัญหาตรงตามทฤษฏีเลย คือเมื่อเขาเป็นวัยรุ่น ปัญหาหลักก็จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับทั้งเพื่อน คนรัก รวมถึงปัญหากับคนในครอบครัวที่เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น” อาจารย์ ณัฐสุดา ยืนยันว่าปัจจัยลำดับต้นๆ ที่มีผลกระทบต่อภาวะจิตใจคนวัยเรียนมากที่สุด คือเรื่องความสัมพันธ์
“บางคนอาจมองว่าไม่ซีเรียส แต่มันคือเรื่องใหญ่มากสำหรับเด็กคนหนึ่งแค่มีเพื่อนกินข้าวหรือเข้าห้องน้ำ รวมถึงการเปลี่ยนกลุ่มเพื่อนนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขาเลยนะ แค่นี้ก็ส่งผลกับเขามากแล้ว เพราะแต่ละช่วงชีวิตของเด็กก็มีโจทย์และระดับพัฒนาการที่แตกต่างกันไป เคยมีงานวิจัยของนิสิตปริญญาโท คนหนึ่ง เขาไปสัมภาษณ์นักจิตวิทยาที่เคยทำงานกับเคสที่ฆ่าตัวตาย แล้วสิ่งที่เขาพบคือ สิ่งที่มันสั่นสะเทือนตัวตนคนเรามากที่สุดเลย คือการสูญเสีย และการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของคนที่มีความสัมพันธ์ด้วยไม่ว่าจะเป็นเพื่อน แฟน คนรักที่ในทางจิตวิทยาเรียกว่าเป็น signification person ของเขา”
ถึงแม้ในภาพรวม เราอาจมองว่าคนในวัยเรียนน่าจะมีชุดรูปแบบของปัญหาที่คล้ายกัน แต่จากประสบการณ์คลุกคลีให้คำปรึกษากับ นิสิต นักศึกษา มามากมาย จึงทำให้ อาจารย์ ณัฐสุดา มองเห็นโจทย์ชีวิตที่คนในแต่ละชั้นปีมีไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
“ปัญหาหลักของเด็กปีหนึ่งคือการปรับตัว ลองนึกว่า สิ่งแวดล้อมของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงนะ เราอาจจะนึกว่าอะไร อยู่กรุงเทพเหมือนกัน ก็อยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน แต่ความจริงคือมันเปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่ระบบมัธยมที่มีกฎระเบียบชัดเจน เปลี่ยนเป็นมหาลัยที่มีอิสระมากขึ้น เข้าเรียนหรือไม่เข้าเรียนก็ได้ เพราะอาจารย์เช็คชื่อแล้วค่อยไปวัดผลกันท้ายเทอม บางคนปรับตัวกับระบบนี้ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งสภาพสังคมเปลี่ยนไป คนต่างจังหวัดหรือแม้แต่คนในเมืองต้องมาอยู่คอนโด อพาร์ตเมนต์กันมากขึ้น การเดินทางมหาวิทยาลัยก็ลำบาก มันเป็นเรื่องของการปรับตัวเต็มๆ เลย”
“ปีสอง ปีสาม เรายังไม่เห็นชัด แต่พอปีสี่ สิ่งที่จะเกิดก็คือ ความคาดหวังของสังคมไทยก็คือ คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องการทำงาน และตอบไม่ได้ว่าตกลงแล้วฉันจะทำงานอะไร ฉันชอบวิชาชีพนี้ไหม เขาก็จะเกิดความเครียดในการเปลี่ยนผ่าน เพราะฉะนั้นมันอยู่คนละจุดกัน เกิดความเครียดกันคนละรูปแบบ”
นอกจากคนวัยเรียนปริญญาตรีแล้ว ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ก็ดูเหมือนว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากด้วยเช่นกัน
“สำหรับคนเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก สิ่งที่เขากดดันคือการทำงานวิจัย มีคนมาหาเพราะทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้ หรือมีปัญหาคุยกับ advisor ไม่ได้ ลองนึกถึงตัวเรา เวลาเราเชื่อว่ามีอะไรดีอะไรสักอย่าง แต่พอมาเรียนแล้วรู้สึกโดนตำหนิจาก advisor มันถือว่าสะเทือนจิตใจมากนะ แถมการเรียนมันก็มีช่วงเวลาที่จำกัด เมื่อเวลามันเริ่มเหลือน้อยลง ความกดดันก็เพิ่มมากขึ้น”
เจ็บปวดเพราะความไม่เพอร์เฟกต์
“คนที่มาไม่ใช่คนที่มีคะแนนน้อยเลยนะ บางทีเราจะนึกภาพว่าเด็กที่มาหาเนี่ยจะเป็นคนที่ติดโปร หรือจะโดนรีไทร์แล้ว แต่บางคนมาด้วยภาพที่คาดหวังตัวเองไว้สูง แล้วมันไม่สูงตามที่คาดหวัง การแข่งขันที่ถูกสังคมข้างนอกกดดันมันก็แข่งขันกับตัวเด็กๆ ถ้าจะเรียกทางจิตวิทยาคือการเห็นคุณค่าในตัวเองมันไปพึ่งพิงกับความประเมินข้างนอก พึ่งพิงกับความสำเร็จสมบรูณ์แบบที่สังคมสร้างภาพให้” อาจารย์ สะท้อนภาพความกดดันจากสังคมที่โน้มลงมากดทับความรู้สึก
เราถามต่อด้วยความสงสัยว่า ถ้าความคาดหวังจะนำไปสู่ความเจ็บปวด แล้วอะไรคือทางออกของปัญหา หรือข้อเสนอคือการหักดิบ ล้มเลิกความคาดหวังเพื่อสร้างเกราะป้องกันจิตใจให้กับตัวเอง คำตอบของอาจารย์ ณัฐสุดา ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วไม่ผิดที่เราคาดหวังถึงความเพอร์เฟกต์ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ เวลาที่โลกมันไม่เป็นตามหวัง เราก็ต้องปรับตัวและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้
“เวลาคนมารับบริการขอคำปรึกษา สิ่งที่เราจะไม่ทำเลยก็คือเสนอทางออกให้ แต่สิ่งที่เราทำคือเราจะพูดคุยกัน เราจะใช้การสนทนา จนกระทั่งเขาเข้าใจว่า สิ่งที่เขาไม่สบายใจเพราะเขาเองอยากจะเพอร์เฟกต์ เขาจะตัดสินใจเองว่าอยากอยู่กับความเพอร์เฟกต์หรือความไม่สบายใจ
“มันอาจจะไม่จำเป็นที่ทุกอย่างในโลกต้องเพอร์เฟกต์ไหมนะ แต่ละสิ่งมันอาจจะมีแง่ดี แง่งามในส่วนของมันเอง เราจะคุยกันจนกระทั่งเขาเห็นกระบวนการนี้ สุดท้ายเขาก็จะเลือกเองว่าเขาจะอยู่กับสิ่งไหน”
“โจทย์ที่เราช่วยเขาคือ ถ้าเขาเลือกอยู่กับความคาดหวังที่เขาเป็น กับภาพสมบรูณ์แบบที่ทำให้เขาทุกข์ เขาจะเลือกอยู่กับสิ่งไหน สุดท้ายคนที่มาจะเป็นคนเลือก พอเขาเกิดการตระหนักได้ว่า สิ่งที่เขาคิดว่าจะมีความสุขกลับเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกข์ ฉันก็จะค่อยๆ พยายามกับสิ่งที่มีดีกว่า” อาจารย์ ณัฐสุดา ย้ำกับเราอีกครั้งว่า หน้าที่ของผู้รับฟังคำปรึกษา คือเสนอทางเลือกมากกว่าชี้คำตอบ
รับฟังและไม่ตัดสิน = วิธีการช่วยเหลือที่ดีที่สุด
มิตรภาพระหว่างคนวัยเรียนคือสิ่งสวยงามเสมอ หลายต่อหลายครั้ง ความสัมพันธ์และความหวังดีต่อกันและกัน ยิ่งในวัยนี้ เพื่อนก็ยิ่งเป็นเหมือนบุคคลด่านแรก ที่จะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้รวดเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม
ในสายตาของ อาจารย์ ณัฐสุดา มองว่าการเป็นเพื่อนที่ช่วยรับฟังอย่าง ‘เข้าใจ’ และ ‘ไม่ตัดสิน’ นี่แหละ คือสิ่งที่ช่วยเหลือกันและกันได้ดีที่สุด
“สิ่งเดียวที่เขาจะเริ่มรู้สึกเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ การมีใครสักคนที่เข้าใจและรับฟัง เพราะฉะนั้นมันเหมือนเป็นสิ่งที่ตรงข้ามสิ่งที่คนทั่วไปในสังคมคิดว่า เราเวลาจะช่วยใคร เราน่าจะบอกให้เขาทำอะไรต่างๆ”
“บางทีสิ่งที่เราคุ้นชิน เวลาคนไม่สบายใจประโยคแรกเลยก็คือ ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวก็ดีขึ้น หรือบอกให้เขาทำใจสบายๆ ถามว่ามันทำได้ง่ายแบบนั้นเลยไหม การที่เราพูดว่าให้ เขาต้องดีขึ้น ยิ่งทำให้เขาแปลกแยกและโดดเดี่ยวตัวเองออกจากเพื่อน ยิ่งไล่เขาออกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นเพื่อนที่คอยรับฟังอย่างเข้าใจ สำหรับคนที่อยากจะให้ความช่วยเนี่ยก็อยากให้ช่วยด้วยความเข้าใจ ทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ในทางกลับกัน ถ้าเกิดเราบอกให้เขาทำนู่นทำนี่ แต่สำหรับเขาแล้วมันไม่ได้ทำง่ายๆ แบบนั้น มิหนำซ้ำ มันกลับยิ่งรู้สึกว่า ฉันยิ่งผิดปกติ แปลกแยกเข้าไปใหญ่”
ถึงเวลาสถาบันการศึกษาต้องจริงจังกับความช่วยเหลือ
เมื่อถามอาจารย์ ณัฐสุดา ถึงเรื่องวิธีการจัดการความเครียดภายในสถาบันการศึกษา อาจารย์ก็เล่าว่า นอกจากศูนย์แห่งนี้แล้ว จุฬาลงกรณ์ยังมี ‘ศูนย์สุขภาวะทางจิตนิสิต’ (CU Student Wellness Center) ซึ่งกำลังพยายามทำงานในเชิงรุก ใช้สื่อต่างๆ เพื่อเข้าถึงนิสิตที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา
“ในช่วงก่อนสอบเราก็จะมีกิจกรรมเช่น ชวนมาวาดรูป มาทำงานศิลปะ และกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้นิสิตได้สำรวจปัญหาทางจิตใจของ มันเป็นการทำงานเชิงป้องกัน (Prevention Program) ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น ก่อนที่เด็กจะไปยืนอยู่ตรงขอบตึกแล้วเราช่วยไม่ทัน”
“สถาบันการศึกษาหลายแห่งกำลังทำเรื่องนี้กันมากขึ้นนะ เริ่มเห็นความสำคัญการดูแลจิตใจนิสิต นักศึกษา มันเป็นเรื่องสำคัญเลยแต่มันก็ด้วยระบบที่อาจจะเชื่องช้า อาจจะทำให้การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิด อยากใช้คำว่า พอมีหนึ่งหรือสองแห่งเกิดขึ้นแล้วประสบความสำเร็จ มันก็จะเป็นตัวอย่างให้เกิดขึ้นในที่อื่นอีกมากมายได้”
ในอีกทางหนึ่ง อาจารย์ ณัฐสุดา ก็ยังเชื่อว่า ทุกคนสามารถการเข้าขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งแต่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่มันจะยังคงเป็นอาการอ่อนๆ ก็ตาม
“แค่เริ่มไม่สบายใจ หรือเริ่มรู้สึกมีปัญหาทะเลาะกับแม่ แค่นี้จริงๆ ก็มาได้อยากบอกเด็กๆ ว่า ที่นี่ไม่ใช่มาเมื่อมีปัญหา จริงๆ เรามาเพื่อที่จะเราคุยกับตัวเอง มาเพื่อที่จะรู้จักตัวเองแล้วเป็นการป้องปัญหา พอมาที่นี่เราเข้าใจตัวเอง รู้ว่าเป็นปัญหา เรารู้วิธีการแก้ไข อีกหน่อยถ้าเรารู้ว่าปัญหาจริงก็จะมีวิธีในการรับมือ เหมือนมีอุปกรณ์เตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว หรือแม้กระทั่งเริ่มรู้สึกว่ามีปัญหาอ่อนๆ ก็มาเถอะ เริ่มไม่สบายใจ เริ่มรู้สึกมีปัญหาทะเลาะกับแม่ แค่นี้จริงๆ ก็มาได้ เพราะว่าอย่างที่เรียนว่า ถ้าเราดูแลตัวเองดีตั้งแต่ต้นมือ จนถึงขั้นไม่ได้สบายที่กับความจิตแล้วจริงๆ”
“ถ้ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แทนที่จะรอให้ถึงภาวะที่ไม่ไหวแล้วกับชีวิต ถ้ามันเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจนแล้ว หาความช่วยเหลือเถอะ ยิ่งโอกาสที่จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ก็จะยิ่งเร็วกว่า” อาจารย์ ณัฐสุดา สรุป