รางวัลซีไรต์ถือเป็นรางวัลทางวรรณกรรมสำคัญหนึ่งในเวทีที่ใหญ่และทรงเกียรติที่สุดรางวัลหนึ่งของบ้านเรา ดังนั้นในการประกาศผลหนังสือที่เข้ารอบในแต่ละปี จึงทำให้เราพอจะเห็นภาพรวมและทิศทางของวงวรรณกรรมไทยในแต่ละปีว่า นักเขียนไทยกำลังพัฒนางานเขียนเชิงสร้างสรรค์ไปในทางไหน สนใจประเด็นทางสังคมในด้านใด
ในปีนี้ (พ.ศ. 2561) พอดีกับที่ทางรางวัลซีไรต์ครบรอบ 40 ปี ทางคณะกรรมมีการประกาศผลนวนิยายทั้ง 8 เล่มที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ในประกาศทางคณะกรรมการกล่าวถึงภาพรวมของนวนิยายทั้งหมดที่ถูกส่งพิจารณาว่าทำให้เห็นภาพรวมและพัฒนาการของวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย
แนวงานเขียนที่เป็นที่นิยมก็มีตั้งแต่วรรณกรรมแนวสะท้อนสังคมที่ผู้เขียนใช้บันเทิงคดีเป็นเครื่องมือในการพูดถึงปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาความความรุนแรงในครอบครัวไปจนถึงความขัดแย้งทางการเมือง นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ดูจะกำลังเป็นกระแสในช่วงระยะสองสามปีที่ผ่านมา เรื่องเล่าที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติซึ่งก็สอดคล้องกับวิกฤติทางธรรมชาติต่างๆ ที่เราต้องเผชิญ และประเภทสุดท้ายคือเรื่องเรื่องส่วนบุคคลที่ในที่สุดวรรณกรรมก็ยังคงทำหน้าที่สำรวจตัวตนและความซับซ้อนของความเป็นมนุษย์กันต่อไป
เกาะล่องหน, เกริกศิษฏ์ พละมาตร์
เกาะล่องหน พูดถึงเกาะอันแปลกประหลาดที่อยู่ๆ ก็ปรากฏขึ้น เกาะแห่งนั้นเป็นเกาะแห่งความฝัน เป็นที่ๆ ผู้คนคล้ายจะใช้ชีวิตไปตามปกติแต่กลับไม่มีวันตายและไม่แปรเปลี่ยน เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ผู้เขียนได้รับรางวัลซีไรต์สาขาบทกวีจาก นครคนนอก ประจำปี 2559 โดยเกริกศิษฏ์เองเป็นนักเขียนที่ผลิตผลงานหลายรูปแบบทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทกวี งานเขียนรวมเรื่องสั้นชื่อ เรากำลังกลายพันธุ์ เคยเข้ารอบ shortlist เรื่องสั้นซีไรต์ในปี 2560 มาแล้วด้วย
คนในนิทาน, กร ศิริวัฒโณ
กร ศิริวัฒโณ มีอาชีพเป็นครูและทำอาชีพนักเขียนผลิตผลงานมาอย่างนาน นวนิยาย คนในนิทาน ชื่อและวิธีการเล่าของผู้เขียนที่แม้จะดูเรียบแบบนิทาน แต่กลับเลือกเล่าประเด็นที่หนักแน่นและไม่ใช่เรื่องของเด็กๆ เช่นเรื่องความปรารถนาทางเพศอันดิบเถื่อนของมนุษย์ งานเขียนชิ้นนี้กรรมการกล่าวว่าเป็นการผสมกันระหว่างความละเมียดละไมของจินตภาพของพื้นที่ชนบท ความสวยงามของบทอัศจรรย์ และความดิบด้านภายในของตัวมนุษย์เอง ถ้าดูจากผลงานชิ้นก่อนๆ ที่ผู้เขียนมักจะเป็นงานสบายๆ อบอุ่น พูดเรื่องความสัมพันธ์ ของสังคม และผู้คน เล่มนี้ดูจะร้อนแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ในกับดักและกลางวงล้อม, ประชาคม ลุนาชัย
อีกครั้งกับประชาคม ลุนาชัย นักเขียนร่วมสมัยที่เราได้ยินชื่อบ่อยๆ ในกับดักและกลางวงล้อม ถือเป็นงานที่ประชาคมกลับมาเขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับท้องทะเลอีกครั้ง ประชาคมถือเป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์ชีวิตโชกโชน ตัวเขาเองผ่านงานหนักและหนึ่งในนั้นคือเป็นลูกเรือบนเรืออวนลาก นวนิยายในกับดักและกลางวงล้อมจึงเป็นงานเขียนอีกชิ้นที่กลั่นมาจากนักเขียนที่ผ่านชีวิตมาอย่างเข้มข้น
บ้านในโคลน, กิตติศักดิ์ คเชนทร์
บ้านในโคลน เป็นนวนิยายที่กลับไปพูดถึงเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่ตำบลกะทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช นวนิยายเรื่องนี้เลือกที่จะพาเรากลับไปยังภาพอดีต ไปยังห้วงเวลาแห่งความหวังในการสร้างบ้าน ก่อนที่บ้านนั้นจะถูกภัยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่พังทลายลงไป งานเขียนชิ้นนี้จึงถือเป็นงานเขียนที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน ห้วงสมัยที่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและมนุษย์กำลังอยู่ในความสนใจ ยุคสมัยที่ธรรมชาติอาจกำลังกลับมาเล่นงานเราอยู่
พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา, วีรพร นิติประภา
วีรพร นิติประภา จะได้รับซีไรต์สาขานวนิยายเป็นสมัยที่สองหรือไม่ กับผลงานนวนิยายชื่อซับซ้อน พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา นวนิยายเรื่องนี้พูดถึง ‘ความทรงจำ’ ในแง่มุมที่ซับซ้อนตามชื่อ ตัวเรื่องพูดถึงประวัติศาสตร์ครอบครัวชาวจีนอพยพที่ปนเปไปด้วยความทรงจำทั้งของคน ของแมว ความทรงจำที่คลุมเครือ แหว่งวิ่น และทำให้เราสับสนไปในโลกแห่งความจริงและโลกสมมติ
ผุดเกิดมาลาร่ำ, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
ผุดเกิดมาลาร่ำ เป็นอีกหนึ่งนวนิยายน่าสนใจของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข งานเขียนเล่มนี้เป็นผลลัพท์จากนิทรรศการ ‘ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’ งานนิทรรศการที่พูดถึงบทบาทอันก้ำกึ่งของการเป็นศิลปินและการเป็นนักเขียนที่ต่างทำหน้าที่ในการถ่ายทอดประเด็นและความคิดไปสู่ผู้อ่านและผู้ชม ความโดดเด่นของงานเขียนชิ้นนี้อยู่ที่การนำเสนอภาพชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง พูดถึงความทรงจำและการจัดการกับชีวิตในสามช่วงวัย งานเขียนชิ้นนี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวบทวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับศิลปะแขนงอื่นๆ ทั้งภาพถ่าย ละคร และบทกวี รวมทั้งการออกแบบรูปเล่มที่ถือว่าเป็นการจัดแสดงทางศิลปะที่ประกอบอยู่กับตัวบทนั้นๆ ด้วย
หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา, อุรุดา โควินท์
งานเขียนของอุรุดาโดดเด่นในแง่ของความโรแมนติก การเลือกสรรถ้อยคำอย่างประณีตสวยงาม หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา เป็นงานเขียนที่เขียนขึ้นหลังจากที่ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ คู่ชีวิตของเธอเสียชีวิตลง อุรุดาจึงตั้งใจเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อบันทึกเรื่องราวความรักทั้งสองที่ฝ่าฟันเรื่องราวต่างๆ จนถึงลมหายใจสุดท้าย
อีกไม่นานเราจะสูญหาย, อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ถือเป็นนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายในแวดวงสื่อและวงการศิลปะ ในนวนิยาย อีกไม่นานเราจะสูญหาย พูดถึงชีวิตและตัวตนของเราที่ต่างอยู่และถูกขับเคลื่อนไปด้วยระบบทุนนิยม ผู้คนต่างได้รับผลกระทบจากการที่ทุกอย่างถูกทำให้เป็นสินค้าแม้แต่เรื่องเล่าอื้อฉาวก็ถูกนำไปแสวงหากำไรและนำไปขายได้ สุดท้ายแล้วทุนนิยมมีผลกับผู้คนในระดับตัวตนและจิตวิญญาณ