“ผมรู้สึกมีความสุขมากในตอนนี้ ทั้งกับตัวเองที่จะไม่ต้องเจ็บปวดทรมานอีก และกับป๊าและแม่ที่จะไม่ต้องลำบาก ต้องมาดูแลคนที่นอนเป็นผัก ในเวลาที่ป๊ากับแม่ควรจะต้องอยู่อย่างสบายกายแล้ว”
เป็นข้อความที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ทิ้งไว้ในวันที่เขาบอกว่า กำลังจะทำการุณยฆาต หลังจากที่เดินทางไปขอรับบริการนี้ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
จากเรื่องราวผ่านเฟซบุ๊กที่เขา ปรากฎเรื่องราวที่เขาเล่าเอาไว้ว่า เขามีอาการป่วยเป็นเนื้องอกในสมองมานานกว่า 10 ปี เคยไปผ่าตัดเนื้องอกในสมองแล้ว 3 ครั้งแต่ก็ยังไม่หายขาดจากโรคร้ายนี้ เขาอธิบายผ่านเฟซบุ๊กว่า
มีอยู่ 2 ข้อที่เวลาเราไปเยี่ยมคนป่วยแล้วไม่ควรพูด โดยเฉพาะคนที่ป่วยหนักหรือเป็นโรคระยะยาว ตัวผมเองนั้นป่วยเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิต ทั้งจากส่วนตัว และที่ได้พูดคุยกับผู้ป่วยท่านอื่นๆ สรุปได้ว่ามีอยู่ 2 ข้อความที่คนป่วยได้ฟังแล้วจะแอบมองบนอยู่ในใจนะครับ
1. “เดี๋ยวก็หายแล้ว”
ข้อความนี้บั่นทอนความรู้สึกได้ดีมาก
รวมถึงสามารถทำให้คนป่วยที่อารมณ์ดีๆอยู่
รู้สึกเซ็งขึ้นมาได้ในบัดดล
2. “สู้ สู้”
คำนี้คือแบบว่า …
ไม่บอกดีกว่าครับ เดี๋ยวโดนด่าแรง 555
แต่เอาเป็นว่าคำนี้ เอาไว้พูดให้กำลังใจ
กับคนที่กำลังวิ่งตามรถเมล์ให้ทันดีกว่าครับ
ไม่เหมาะเอามาพูดกับผู้ป่วย
ผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวนี้บนเฟซบุ๊ก เดินทางไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อขอรับการุณยฆาต หลังจากที่ต้องเผชิญหน้ากับอาการเจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถแข็งแรงได้เหมือนเดิม รวมถึงยังต้องเปลี่ยนงานและหมดเงินเก็บไปกับการรักษาโรคร้าย
“Please tell my dad and mom I’m happy now
And there is no need to cry
I’m finally reunited with the universe
Forever where I abide by”
“ลาก่อนครับป๊า”
“ลาก่อนครับคุณแม่”
นั่นคือส่วนหนึ่งของโพสต์สุดท้าย ก่อนที่เขาจะบอกว่า จะไปขอรับยาและจากโลกนี้ไปอย่างถาวร
ทั้งนี้ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีบริการการุณยฆาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว เคยมีเรื่องราวของ เดวิด กู้ดออล นักวิทยาศาสตร์ ในวัย 104 ปี ได้ขอรับการุณยฆาตที่คลินิค ไลฟ์ เซอร์เคิล ในเมืองบาเซิล โดยกู้ดออลเคยกล่าวเอาไว้ก่อนจากโลกนี้ไปว่า “ผมไม่มีความสุข ผมต้องการตาย มันไม่ได้น่าเศร้าอะไรนักหรอก สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ ความตายถูกห้ามต่างหาก”
อย่างไรก็ดี การุณยฆาต ยังเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอยู่ในหลายๆ ประเทศ
ทั้งเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ รวมถึงข้อจำกัดด้านกฎหมาย ที่ยังเป็นกำแพงสำคัญในการเปิดอนุญาตให้มีบริการเช่นนี้อย่างเป็นทางการ
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 เคยมีกรณีที่แพทย์ในเบลเยียม ได้ทำการุณยฆาต แก่ผู้ป่วยวัยเยาว์คนหนึ่งซึ่งกำลังเจ็บปวดกับอาการป่วยในระยะสุดท้าย รายงานของ BBC ระบุว่า เงื่อนไขของการทำการุณยฆาตในเบลเยียมนั้นมีรายละเอียดที่เยอะพอสมควร เช่น ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในระยะสุดท้ายแล้วจริงๆ รวมถึง ต้องเคยมีคำร้องขอการทำการุณยฆาตมาก่อน อีกทั้ง ยังต้องได้มีแพทย์ผู้ดูแลกับจิตแพทย์มาประเมินด้วย ขณะเดียวกัน ยังต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครอง (ในกรณีที่ผู้ป่วยยังเยาว์วัย)
ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ย้ำให้เราเห็นว่า คำขอร้องให้มีการุณยฆาต แม้จะเป็นสิทธิที่กฎหมายรองรับในบางประเทศ แต่ยังมีเงื่อนไขหลายอย่าง ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับความยินยอมที่จะเดินหน้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต
ที่มา
https://www.pptvhd36.com/news/
https://www.thairath.co.th/content/1509251
https://www.bbc.com/thai/international-44001955
https://www.facebook.com/BBCThai