‘การเขียน’ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนของมนุษย์เรา การเขียนคือการที่เราได้ทบทวนและถ่ายทอด ‘ความคิด’ ที่เป็นนามธรรมสู่ ‘ข้อเขียน’ ที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นกระบวนการเขียนจึงถือเป็นการกลับไปทบทวน ย้อนคิดและทำความเข้าใจชีวิตและความคิดที่ซับซ้อนที่เกิดขึ้น ล่าสุดมีกระแส Morning Pages คือการที่ใช้การเขียนหลังตื่นนอนเพื่อประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
Morning Pages เป็นกระแสที่ผู้คนจะ ‘เขียน’ สิ่งต่างๆ เป็นอย่างแรกของวัน ก่อนการแปรงฟันทานอาหารเช้า คือลืมตาตื่นปุ๊บ ก็คว้ากระดาษปากกาแล้วลงมือเขียนจนกว่าจะได้ประมาณ 750 คำ
แนวคิดสำคัญของการเขียนหลังตื่นนอนมาจากความคิดที่ว่า หลังจากที่เราเพิ่งตื่นนอนสมองของเรายังไม่ตื่นเต็มที่พอที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง การเขียนหลังตื่นทันทีจึงเป็นการเขียนอย่างอิสระมากกว่าการเขียนในช่วงเวลาอื่นๆ
Julia Cameron เป็นคนเริ่มพิธีกรรมการเขียนหลังตื่นนอนเพื่อแก้อาการ ‘สมองตัน’ รวมไปถึงแก้ปัญหาที่เธอผลิตงานที่ไม่ดีพอของตัวเอง เธอบอกว่าการที่ตื่นปุ๊บเขียนปั๊บ การใช้มือเขียนความคิดความรู้สึกลงไปบนกระดาษถือเป็นกระบวนการที่เราได้เชื่อมต่อกับตัวเองอย่างลึกซึ้ง เป็นการเป็นการเริ่มต้นวันสำรวจความคิดต่างๆ ซึ่งถ้าจะหงุดหงิดหรืออะไร ก็เขียนลงไปเลยไม่มีปัญหา ในกระบวนการเขียนจะทำให้เราค่อยๆ ค้นพบเองว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นหรือทำให้เรายุ่งยากใจบ้าง
การเขียนคือการเอาความคิดลงสู่หน้ากระดาษ มีงานศึกษาทางจิตวิทยาบอกว่าการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ส่งผลดีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนที่ทำการจดบันทึกในชีวิตประจำวัน ในปี 1986 ผลงานทดลองใน Journal of Abnormal Psychology ทดลองให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเขียนประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเผชิญมาโดยให้เขียนบันทึกต่อเนื่องกันสี่วัน ผลคือสี่เดือนหลังจากนั้นกลุ่มทดลองมีสุขภาพจิตใจที่ดีขึ้น การเขียนระบายความรู้สึกช่วยพัฒนาคุณชีวิตในหลายๆ ด้าน ทั้งผลการศึกษา ความทรงจำ ไปจนถึงสุขภาพทางร่างกาย
ในการศึกษาโครงสร้างและการทำงานของสมองพบผลในทำนองเดียวกัน คือช่วงเช้าเป็นเวลาที่สมองส่วน prefrontal cortex ตื่นตัวมากที่สุดของวัน ช่วงเช้าจึงสามารถทะลวงความคิดสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด
นอกจากนี้การคิดตอนเพิ่งตื่นใหม่ๆ ยังเป็นการใช้ประโยชน์จาก ‘ภาวะหลับ’ ของสมองในการกระตุ้นมุมมองใหม่ๆ ด้วย คือในขณะที่เราหลับ สมองเราจะทำการการจัดการ จัดระเบียบข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ ในลักษณะที่แตกต่างไปจากการใช้สมองในตอนตื่น ในอดีตที่ผ่านมามีหลายกรณีที่นักคิดทั้งหลายคิดสิ่งที่ขบคิดมาทั้งวันได้ในยามหลับ
การเขียนเป็นกระบวนการที่เสมือนการออกกำลังทางสมอง เป็นการใช้ความคิด เป็นการกลับไปสำรวจทบทวน การเขียนเป็นสิ่งแรกของวันจึงอาจจะเป็นการเริ่มต้นวันที่ดีที่นำไปสู่การใช้วันที่เหลืออย่างสร้างสรรค์และมั่นคงขึ้น แต่จะเขียนในตอนเช้าหรือในตอนค่ำก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคน เพราะนักเขียนชื่อดังบางคน เช่น Charles Dickens นักเขียนชื่อดังก็ผลิตงานในช่วงบ่ายๆ หรือบางคนก็อาจจะเขียนได้ดีในช่วงดึกสงัด ประเด็นสำคัญของการเขียนคือการสร้างนิสัยในการผลิตงานอย่างเป็นกิจวัตร อันจะนำไปสู่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก