อยากข่มตานอนให้หลับ แต่ในหัวก็มีแต่ความคิดที่ตีกันไปมา กลัวอนาคตที่กำลังจะมาถึง เรื่องที่ทำงานจะเป็นยังไง วิตกกับการเรียนวันรุ่งขึ้น หากใครที่เผชิญเรื่องเช่นนี้ติดต่อกันนานๆ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต นาวาอากาศตรี นายแพทย์ บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ บอกว่า โรควิตกกังวล (anxiety disorders) มักจะมีอาการที่จิตใจผู้ป่วยจิตใจแปรปรวนอ่อนไหวง่าย โดยที่พบได้บ่อยคือโรควิตกกังวลทั่วไป (general anxiety disorder) ซึ่งคาดว่าคนไทยป่วยเป็นโรคนี้ราวๆ 140,000 คน
คุณหมอ บุญเรือง อธิบายว่า โรควิตกกังวลทั่วไป แตกต่างไปจาก อาการวิตกกังวลแบบปกติ เช่น กังวลเรื่องการไปโรงเรียน การเข้าทำงานในสถานที่ใหม่ ซึ่งอาการของหลายๆ คนจะหายไปเองโดยใช้ระยะเวลาไม่นาน
แต่สำหรับคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปนั้น จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนี้ต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน โดยอาการเด่นๆ ที่จะปรากฏออกมา คือ คิดฟุ้งซ่าน กลัวและกังวลเกินกว่าเหตุในหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น มีอาการใจลอย ตกใจง่าย ไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้คิดได้
นอกจากนี้ ยังจะมีอาการทางกายร่วมด้วยอย่างน้อย 3 อย่าง เช่น กระสับกระส่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดตึงกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่ต้นคอ ไหล่ หลัง ใจเต้นเร็วและแรง หายใจไม่อิ่ม ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย มือเท้าเย็น นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำว่า หากใครที่กำลังเผชิญหน้ากับเรื่องนี้เป็นเวลาต่อเนื่องหลายๆ เดือน คิดวกวนและวิตกกังวลไม่หายสักที ก็ควรพบแพทย์เพื่อขอรับการรักษา พร้อมกับย้ำว่า ถ้าเป็นต่อเนื่องนานๆ เนี่ยอาจไม่ใช่อาการโดยทั่วไปแล้วนะ มันอาจเกิดขึ้นจากเรื่องความไม่สมดุลย์ของสารสื่อประสาทในสมอง
สิ่งที่ต้องระวังกันก็คือ หลายๆ คนมักซื้อยากินเองตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น นอนไม่หลับหรือปวดหัว แต่ถ้าเกิดเราเป็นโรควิตกกังวลจริงๆ มันอาจจะต้องได้รับการรักษาที่มากกว่านั้น
อ้างอิงจาก
http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/WNSOC6109230010007
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/813765
#Brief #TheMATTER