นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยดูมีแนวโน้มไม่สดใสนักยิ่งช่วงปลายปีแทบทุกปีสารพัดสำนักข่าวก็จะรายงานว่าปีหน้า ‘เผาจริง’ รวมถึงปี 2567 ที่ผ่านมาก็ไม่เว้น อย่างไรก็ตามส่วนตัวผมมองว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤตพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเหมือนสมัยต้มยำกุ้ง แต่อาจเป็นแนวทรงๆ ทรุดๆ เหมือนคนแก่ชราที่กว่าจะเดินหน้าแต่ละก้าวทั้งเชื่องช้า และเหนื่อยอ่อนมองไปทางไหนก็เจอแต่โรคภัยไข้เจ็บ ในขณะที่พยายามมองหาปัจจัยบวกเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยจะเจอ
แนวโน้มความอ่อนล้าของเศรษฐกิจไทยที่ว่านี้มีมาสักพักใหญ่ๆแต่ยิ่งนานยิ่งปรากฎชัดซึ่งผมขอใช้บทความนี้สรุปแบบรวบรัดทั้งในระยะสั้นระยะกลางและระยะยาวที่มองยังไงเราในฐานะคนไทยก็เหนื่อยแน่นอน
ระยะสั้น ความเสี่ยงจากการเมืองทั้งเทศและไทย รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แก้ไม่ตก
ถึงแม้การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาจะเป็นไปอย่างราบรื่นแต่เราคงต้องยอมรับกันอย่างจริงจังว่าการเมืองไทยยังไม่นิ่งและคงจะอยู่ในสภาวะนี้ไปอีกพักใหญ่ทั้งรัฐบาลผสมหลายขั้วที่มีความแตกต่างหลากหลายทางอุดมการณ์เส้นทางการเมืองที่ดูเต็มไปด้วยกับระเบิดและขวากหนามรวมทั้งเหล่า ‘องค์กรอิสระ’ ที่ดูจะมีอำนาจล้นมือเหนืออำนาจฝ่ายบริหารไม่ว่ามองจากมุมไหนการเมืองไทยก็ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงซึ่งไม่เป็นผลดีนักในทางเศรษฐกิจ
การขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เองก็นับเป็นความเสี่ยงสำคัญดัชนี ‘Trump Risk Index’ โดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (Information Technology & Innovation Foundation) จัดให้ไทยเสี่ยงอันดับสองรองจากเม็กซิโกที่จะเผชิญนโยบายทางการค้าที่ไม่เป็นมิตรจากสหรัฐอเมริกาโดยมีสาเหตุสำคัญคือสหรัฐขาดดุลการค้ากับไทยค่อนข้างมาก ขณะที่ไทยเองขาดดุลการค้าจากจีน สะท้อนให้เห็นการผันสายพานการผลิต โดยที่จีนส่งสินค้ามาไทยเพื่อเลี่ยงให้ไม่โดนกำแพงภาษีของสหรัฐฯนั่นเอง
แนวโน้มดังกล่าวน่ากังวลไม่น้อยเพราะด้วยนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน (America First)’ ทรัมป์อาจตั้งกำแพงภาษีกับไทยโดยตรง เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศจากสินค้าที่ถูกส่งผ่านมาจากจีน หรือแม้แต่การตั้งกำแพงภาษีที่เข้มข้นต่อประเทศจีนเองก็อาจส่งผลกระทบกับไทยในทางอ้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมในประเทศของไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากการทะลักของสินค้าจีนที่ราคาถูกกว่าในช่วงก่อน ก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลไทยไม่มีนโยบายปกป้องธุรกิจในประเทศแต่อย่างใด
อีกหนึ่งปัญหาที่ปีหน้าจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยไม่สดใสคือหนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 แม้ว่าอัตราที่ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและมาตรการปล่อยสินเชื่อที่เคร่งครัดจะช่วยชะลอการเติบโตของหนี้ครัวเรือนได้แต่อัตราหนี้เสียของไทยเองก็ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวลปัญหาหนี้ก้อนใหญ่จึงกำลังกัดกินกำลังซื้อของประชาชนส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาลง
แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเดินหน้าแจกเงิน 10,000 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งอาจช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายบางส่วนเม็ดเงินก้อนนี้ถือเป็น‘ยาแก้ปวดราคาแพง’ ที่ช่วยบรรเทาอาการป่วยแบบชั่วคราวในราคา 0.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่นโยบายนี้ก็ไม่อาจใช้ได้ต่อเนื่องเพราะการกู้มาแจกอีกไม่กี่ครั้งก็อาจทำให้หนี้สาธารณะของไทยชนเพดาน ทางแก้ปัญหาในระยะกลางและระยาวคือหาทางเพิ่มรายได้ซึ่งเป็นโจทย์ที่แก้ไม่ตกมาเนิ่นนานนับสิบปี
ระยะกลาง เศรษฐกิจดาวรุ่งที่กำลังมุ่งสู่การเป็นดาวดับ
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่นำพาประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางคืออุตสาหกรรมยานยนต์ เราคือฐานการผลิตรถยนต์ที่แข็งแกร่งของประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนด้วยเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้มแข็ง ประเทศไทยโด่งดังในฐานะ ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์ที่พาเรามาไกลจนถึงทุกวันนี้กำลังเริ่มแผ่วกำลัง ยอดการผลิตรถยนต์เมื่อปีที่ผ่านมาของไทยลดเหลือ 1.5 ล้านคัน ร่วงลงจากปีก่อนหน้าถึง 18 เปอร์เซ็นต์และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า วิกฤตครั้งนี้รุนแรงถึงขนาดที่แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นสองแห่งตัดสินใจปิดโรงงานการผลิตในประเทศไทย
ภาคการส่งออกที่เป็นเสาหลักค้ำจุนเศรษฐกิจไทยเองตอนนี้ก็เป็นเพียงธุรกิจใกล้ล้าสมัยที่ขายในตลาดซึ่งมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือฮาร์ดดิสก์ที่ปัจจุบันไทยเป็นเจ้าตลาดและส่งออกไปทั่วโลกก็จริง แต่เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่และเร็วกว่าอย่างโซลิดสเตตไดรฟ์ซึ่งไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทย
อีกหนึ่งเสาหลักของเศรษฐกิจไทยที่นับเป็นแนวหน้าของเอเชียคืออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และโรงกลั่นน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอุตสาหกรรมกำลังเผชิญความเสี่ยงสำคัญ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เผชิญปัญหาจากก๊าซในอ่าวไทยที่เคยเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักแต่กำลังจะหมดลง ทำให้ต้องเปลี่ยนมานำเข้าก๊าซเหลวจากต่างประเทศซึ่งมีราคาที่ผันผวนกว่า ส่วนอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันกำลังเผชิญความเสี่ยงจากความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมชะลอตัวลง และปัจจัยที่กระทบตรงๆ ต่อทั้งสองอุตสาหกรรมคือวกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจนำไปสู่การออกกฎหมาย เช่น ภาษีคาร์บอน ที่ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าประเทศไทย ‘ตกขบวน’ ธุรกิจสมัยใหม่ที่มีอนาคตสดใส ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หรือเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ผมขอยกความดีความชอบให้อดีตนายกรัฐมนตรีประยุทธ์จันทร์โอชา ที่กุมบังเหียนประเทศเป็นเวลากว่าทศวรรษที่นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้านเทคโนโลยี แต่น่าเสียดายที่ความไม่กล้าเสี่ยงและการคาดการณ์อนาคตที่ผิดพลาดทำให้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ในปัจจุบัน
นี่คือโจทย์ไม่ง่ายของรัฐบาลทั้งชุดปัจจุบันและในอนาคตที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซึมเซา จนกว่าเราจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่ก้อนใหม่ หรือเร่งสร้างนวัตกรรมของตัวเองขึ้นมาเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้สำเร็จ
ระยะยาว สังคมคนชราและการมาถึงของ ‘เจเนอเรชั่นแบก’
ช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลายสื่อพาดหัวแกมอารมณ์ขันว่าด้วยการมาถึงของ ‘เจเนอเรชั่นเบต้า’ หรือเด็กยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีที่คาดว่าจะพลิกโฉมวิธีการทำงานและเศรษฐกิจของเราครั้งใหญ่ในอนาคต แต่สำหรับผู้เขียนแล้วทั้งเจเนอเรชั่น Z อัลฟ่า และเบต้าของไทยนั้นสามารถเรียกรวมๆ กันได้ว่า ‘เจเนอเรชั่นแบก’ โดยในอีก 15 ปีข้างหน้า สัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่าหกสิบปีต่อประชากรวัยทำงานอาจอยู่ที่ 1 ต่อ 2 ซึ่งนับว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราส่วน 1 ต่อ 4 ในปัจจุบัน
ไม่รู้ว่าเป็นเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายของไทยที่ระบบสาธารณสุขของบ้านเรานั้นได้รับกระแสเสียงชื่นชมจากนานาชาติว่า ดีที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ประชากรไทยแทบทั้งหมดอยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แถมอายุคาดเฉลี่ยของเรายังสูงถึง 80 ปี มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 73 ปี และมากกว่าอายุคาดเฉลี่ยของชาวอเมริกันและยุโรปเล็กน้อยด้วยซ้ำ
แต่อายุที่ยืนยาวและระบบสาธารณสุขที่ยอดเยี่ยมก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายในวันที่กำลังแรงงานหดตัว คำถามสำคัญคือใครจะเป็นกำลังหลักในการสร้างรายได้ เพื่อมาจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และจ่ายเงินภาษีก้อนใหญ่สำหรับดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพ ของเหล่าประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
สถานการณ์ดังกล่าวอาจเลวร้ายกว่าที่เราคิดไว้เพราะจำนวนเด็กไทยนั้นลดลงต่อเนื่อง 4 ปีซ้อนโดยปี 2567 ที่ผ่านมามีจำนวนไม่ถึงห้าแสนคนด้วยซ้ำแนวโน้มดังกล่าวนับว่าชัดเจนและน่ากังวลอย่างยิ่งโดยนับเป็นความเสี่ยงที่จะปรากฎในระยะยาวหากรัฐบาลยังไม่สามารถจูงใจให้ประชากรมีลูกได้มากขึ้นได้สำเร็จหรือแก้ปัญหากำลังแรงงานภายในประเทศด้วยการสร้างระบบที่เอื้อให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยรวมถึงปรับทัศนคติของคนในชาติให้สามารถอยู่ร่วมกับคนต่างเชื้อชาติต่างภาษาและต่างวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืนเท่าเทียมและเป็นมิตร
นี่คือเหตุผลที่ผมมองว่าจะระยะสั้นระยะกลางระยะยาวมองอย่างไรคนไทยก็เหนื่อยยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมาแข่งกับจุดแข็งของไทยแล้วปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ยิ่งทำให้เรา ‘ไม่น่าดึงดูดใจ’ ในฐานะฐานการผลิต
ผมขอปิดท้ายด้วยวลีที่นักลงทุนผู้คร่ำหวอดรายหนึ่งในเอเชียให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Economist ที่อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความจริง เขาบอกว่าประเทศไทยคือตัวเลือกที่แย่ที่สุดในทั้งสองด้าน เพราะความเสี่ยงทางการเมืองสูงแต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับต่ำเตี้ย
ผู้เขียนไม่ใช่คนที่มองโลกในแง่ร้ายแต่สามสี่ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์นั้นริบหรี่และข่าวดีก็มีให้ได้ยินน้อยเหลือเกิน
อ้างอิงจาก
Economic bright spots are getting harder to find in Thailand