เรามีความเชื่อเรื่องเจเนอเรชั่น เรามีคำว่า digital native ที่ใช้นิยามคนรุ่นใหม่เป็นคนที่เกิดขึ้นมาก็เจอกับโลกดิจิทัลต่างๆ ไปแล้ว ดังนั้นนักวิชาการเลยบอกว่านี่ไง เพราะว่าเด็กรุ่นใหม่โตขึ้นมาในขณะที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว การอยู่และโตขึ้นมากับโลกดิจิทัลจึงเชื่อกันว่าคนรุ่นใหม่จะเก่งเทคโนโลยีและมีความสามารถในการทำอะไรหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน-ในขณะเดียวกันก็ถูกวิจารณ์ว่ามีความอดทนต่ำ
Marc Prensky นักการศึกษาเป็นคนเสนอคำว่า digital native นอกจากการนิยามคนที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการเข้าสู่โลกดิจิทัลแล้ว ยังเสนออีกว่าด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนี่ไง ทำให้พวกครูทั้งหลายไม่เข้าใจวิธีคิดและการมองโลกของคนรุ่นใหม่ๆ เพราะคนรุ่นเก่าไม่ได้โตมาในโลกดิจิทัลแบบเด็กสมัยนี้
โดยนัยของคำว่า digital native เลยฟังดูเศร้าๆ หน่อยสำหรับคนยุคก่อนหน้า เพราะพี่แกถูกเรียกว่าเป็น digital immigrant อารมณ์เหมือนเป็นผู้อพยพจากโลกอดีต มาสู่โลกยุคดิจิทัล มาเจอกับคนที่เกิดและโตขึ้นในโลกดิจิทัลที่มีทักษะและการมองโลกที่ไม่เหมือนกับคนยุคก่อนหน้า โดยนัยของการเป็นผู้อพยพก็คือความรู้สึกที่เข้ากับโลกปัจจุบันไม่ได้ ต้องคอยเรียนรู้และปรับตัวเสมอ ถึงแม้ว่าไม่ได้มี ‘ความดิจิทัล’ ในสายเลือด
แต่ชาวคนยุคเก่าอย่าเพิ่งเสียใจ เพราะมีงานวิจัยที่บอกว่าเรื่องเจเนเรชั่นอาจจะไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้น งานศึกษาตีพิมพ์ใน Teaching and Teacher Education บอกว่าการเป็นพลเมืองดิจิทัลและการมีทักษะมัลติทาสกิ้ง (multitasking) เป็นแค่ความเชื่อ
งานศึกษาดังกล่าวสรุปว่า คนยุคดิจิทัลที่เก่งเรื่องเทคโนโลยีและข้อมูล ‘ไม่มีอยู่จริง’ ไม่มีหลักฐานว่าคนรุ่นใหม่จะเข้าใจเทคโนโลยีและทำงานหลายๆ อย่างได้พร้อมกันมากกว่าคนรุ่นเก่า
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยและความคิดเห็นจำนวนหนึ่งที่ออกมาบอกว่าการเกิดหรือไม่เกิดในยุคดิจิทัลไม่ได้ส่งผลต่อความชำนาญหรือก่อให้เกิดทักษะพิเศษใดๆ Dan Russell นักวิจัยอาวุโสจากกูเกิลบอกว่ามันเป็นแค่ความเชื่อ ที่เชื่อว่าเด็กยุคใหม่จะใช้อินเทอร์เน็ตเก่งกว่าคนยุคเก่า และความเชื่อนี้เองที่ส่งผลเสียกับระบบการศึกษาด้วย
ประเด็นสำคัญคือ นักวิจัยเห็นว่า… โอเค คนรุ่นใหม่อาจจะมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างจาก สภาพแวดล้อการทำงาน เป้าหมายชีวิต หรือมุมมองต่อศาสนา แต่ ‘กระบวนการเรียนรู้’ ของผู้คนไม่ได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย คนแต่ละยุคอาจจะมีมุมมองต่อโลกต่างกัน แต่ไม่ได้ทำให้การเรียนรู้ในแง่มุมไหนไวเป็นพิเศษ
อ้างอิงข้อมูลจาก