ทำงานหนักตลอดวัน ลากยาวไปไกลถึงกลางคืนสามสี่ทุ่ม เพื่อที่กลับมาบ้านกลางดึก แล้วพบกับความสงสัยกับตัวเองว่า สิ่งที่เราทำในวันนี้มันดีพอไหมนะ
เคยรู้สึกไหมว่า แม้ทำงานหนักอยู่ทุกวัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาเสียเท่าไหร่ จริงอยู่ที่ในบางกรณี สิ่งที่เราทำมันอาจจะประสบความสำเร็จตาม KPI ที่ทั้งบริษัทกับตัวเองตั้งเอาไว้ ถึงอย่างนั้น ความรู้สึกไม่พอใจในตัวเองก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ
แน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องย้ำคือ การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง หรือหา input ใหม่ๆ เติมความสามารถอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว หากแต่ว่า ถ้าตัวเราอยู่ในสถานการณ์ที่ “ก็ทำงานหนักมากแล้วนะ แต่ทำไมยังไม่ดีพอสักที” สภาวะเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีเสียเท่าไหร่ หลายๆ คนย่อมไม่อยากให้มันเกิดขึ้น
เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะเข้าใจและรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นยังไงดีนะ?
บทความเรื่อง ‘Never Good Enough: Why Millennials Are Obsessed With Self-Improvement’ บน Forbes อธิบายถึงภาวะที่คนยุค Millennial ต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ทำไปเท่าไหร่ก็รู้สึกว่าไม่ดีพอสักที ไว้อย่างน่าสนใจว่า หนึ่งในเหตุผลคือ เรากำลังถูกหลอกหลอนด้วยความคาดหวังของตัวเองนี่แหละ
อีกปัจจัยที่ส่งผลให้เรากังวลและขาดความมั่นใจในตัวเอง คือการเห็นภาพเปรียบเทียบผ่านโซเชียลมีเดียมากๆ ในยุคสมัยที่เรามีทางเลือกให้ได้เลื่อนดูชีวิตผู้คนมากมาย รวมถึงเพื่อนสนิทมิตรสหายผ่านโลกดิจิทัล การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับภาพความสมบูรณ์แบบ (ที่ผ่านฟิลเตอร์ทั้งอัลกอริทึมและจากผู้ใช้งานคนอื่นๆอีกที) มันก็กลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก ที่เราจะเปรียบเทียบตัวเองกับความสำเร็จจากผู้คนรอบข้าง
เรื่องทำนองนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับที่ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ถึงความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องเผชิญจากการใช้ชีวิตในกรอบของความเพอร์เฟ็กต์ตามที่สังคมวาดภาพไว้ให้
“ถ้าจะเรียกทางจิตวิทยาคือ การเห็นคุณค่าในตัวเองมันไปพึ่งพิงกับความประเมินข้างนอก พึ่งพิงกับความสำเร็จสมบรูณ์แบบที่สังคมสร้างภาพให้” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีวิธีที่ฟังดูง่าย (แต่ทำได้ค่อนข้างยากมาก) คือตัดใจลดการเล่นโซเชียลมีเดียลง หรืออย่างน้อยๆ คือ unfollow ในสิ่งที่ทำให้เราเห็นแล้วเกิดความรู้สึกแย่ เพราะบางทีการรู้สึกยังไม่ดีพอสักที อาจเกิดขึ้นจากการที่เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเยอะๆ จนลืมมองศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่จริงๆ ก็ได้
เช่นเดียวกับการลองหันมาให้ความสำคัญกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แม้ว่ามันจะเล็กๆ ที่เราทำได้ สิ่งนี้ก็น่าจะช่วยหนุนใจเราให้พองโต และช่วยให้เห็นว่าเรามีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อไปในวันพรุ่งนี้
Ali Miller นักจิตบำบัด ให้คำแนะนำผ่านเว็บไซต์ Psychcentral ว่า อีกหนึ่งหาทางที่เราอาจจะทำได้เพื่อแก้ปัญหานี้ คือหาเวลาว่างๆ เริ่มต้นสะสางความคิดของตัวเองให้ชัดๆ ว่าพวกหมอกมืดที่ลอยวนอยู่บนความคิดเรานั้นมันคืออะไรกันแน่? เช่น เกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคง ความเครียดเพราะต้องแข่งขัน หรือความหวาดกลัว
เพราะถ้าหากเข้าใจมันมากขึ้น ก็น่าช่วยให้เราหาทางแก้ไขไปทีละปมได้ ในช่วงเวลาที่สะสางตัวเองนี่แหละ น่าจะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า เรายังขาดอะไร ต้องพัฒนาอะไร หรืออะไรคือเป้าหมายที่เราควรทำต่อไป กระทั่ง เป้าหมายแบบไหนที่มันสูงเกินไป หรือไม่ได้อยู่บนความจริงซึ่งส่งผลให้เรายังรู้สึกว่าดีไม่พอสักที
กระบวนการทบทวนความคิดของตัวเองจึงสำคัญมาก ต่อการหาทางพัฒนาตัวเองในเส้นทางที่ถูกต้องจริงๆ และอาจพบได้ว่า ที่ผ่านมาเราทุ่มให้กับบางสิ่งผิดที่ผิดทางเกินไป และกลับมาอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง ได้โฟกัสปัญหาและพัฒนาตัวเองในสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ ก็คงช่วยได้ไม่น้อย
ขณะเดียวกัน การแชร์เรื่องราวที่ปั่นป่วนจิตใจเราอยู่นี้ ให้กับเพื่อนที่เรารู้สึกสบายใจที่จะคุยด้วยได้รับฟัง การระบายความรู้สึกออกไปบ้าง นอกจากจะช่วยให้เราปลดความรู้สึกบางอย่างไปได้แล้ว หากยังอาจจะได้รู้ด้วยว่า จริงๆ แล้วก็ยังมีคนอื่นๆ อีกที่รู้สึกเหมือนกับเรา และเราเองก็ไม่ได้โดดเดี่ยวกับปัญหานี้เสมอไป
การพัฒนาตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ถ้าเริ่มรู้สึกว่าโดนความกดดันและความคาดหวัง มันกดทับลงมาจนหนักหน่วงจนเกินไปแล้ว การหาโอกาสไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะจิตใจก็เป็นทางเลือกที่ช่วยเราได้เช่นกัน
สำหรับอ่านเพิ่มเติม
โดดเดี่ยวบนโลกที่ไม่เพอร์เฟกต์ คุยเรื่องปัญหาจิตใจคนวัยเรียน กับ อ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ : https://thematter.co/pulse/depression-in-teen-student/43496
อ้างอิงจาก
https://www.psychologies.co.uk