เสรีนิยม แนวคิดกระแสหลักของการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย และเป็นสิ่งที่หลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและตะวันตกยึดถือ กลับถูกผู้นำโลกอย่าง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียระบุว่าเป็นสิ่งที่ ‘ล้าหลัง’ และยังถูกต่อต้านโดยประชากรส่วนใหญ่แล้วด้วย ซึ่งหลังปูตินออกมาให้สัมภาษณ์เช่นนั้น ก็มีหลายความเห็นที่ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับปูตินอย่างรุนแรง แล้วคุณละ คิดว่าแนวคิด เสรีนิยม ‘ล้าหลัง’ อย่างที่ปูตินบอกหรือไม่ ?
ในการสัมภาษณ์กับ The Financial Times ก่อนการประชุม G20 ปูติน ได้พูดถึงเสรีนิยมว่า กลายเป็นวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่แม้แต่มหาอำนาจตะวันตกบางประเทศก็ไม่สามารถยึดถือ และรักษาแนวคิดไว้ได้ โดยปธน. ได้ยกประเด็นใหญ่ 2 เรื่องคือเรื่องของผู้อพยพ-การโยกย้ายถิ่นฐาน และ LGBTQ มาพูด
ปูตินได้ยกตัวอย่าง ‘เยอรมนี’ ประเทศที่รับผู้ลี้ภัยจำนวนมาก โดยกล่าวว่า “แนวคิดเสรีนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ต้องมีการจัดการอะไร ผู้ลี้ภัยสามารถฆ่า ปล้น และข่มขืน โดยไม่ต้องโดนลงโทษ เพราะต้องปกป้องสิทธิพวกเขาในฐานะผู้ลี้ภัย”
ในขณะที่ประเด็น LGBTQ เขากล่าวว่า รัสเซียไม่ได้มีปัญหากับคนกลุ่มนี้ แต่บางอย่างก็ดูเกินเลยไป “พวกเขาอ้างว่าเดี๋ยวนี้เด็ก ๆ สามารถมีรูปแบบทางเพศได้ถึง 5 หรือ 6 รูปแบบ” ซึ่งเขาบอกว่าอยากให้ทุกคนมีความสุข “แต่นี่ต้องไม่ไปบดบังวัฒนธรรมและประเพณี และค่านิยมของครอบครัวกระแสหลัก”
หลังการสัมภาษณ์ของปูติน ก็มีหลากหลายความคิดเห็นที่ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน หนึ่งในนั้นคือ ‘โดนัลด์ ทุสก์’ ประธานสภายุโรป ที่ได้ทวีตตอบโต้ประเด็นนี้ทันทีว่า “ใครก็ตามที่อ้างว่าประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมล้าหลังเท่ากับอ้างว่าเสรีภาพ หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งล้าหลังด้วย”
ถ้ามองการเมืองในยุโรป และฝั่งตะวันตกแล้ว เราอาจคิดว่า เสรีนิยมได้รับความนิยมน้อยลง ทั้งจากกระแสการขึ้นดำรงตำแหน่งของผู้นำฝ่ายขวา ทั้งทรัมป์ ในสหรัฐฯ หรือ แมตติโอ ซัลวินี่ในอิตาลี หรือเหตุการณ์ Brexit ของสหราชอาณาจักร แต่ Michael Cox อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ก็มองว่า เสรีนิยมไม่ได้ล้าหลังอย่างที่ปูตินอ้าง เพราะเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของโลกก็ยังคงเป็นแบบเสรีนิยม
และ “ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมไม่ใช่ระบอบเผด็จการ” ทั้งเขายังมองว่า เสรีนิยมจะต้องทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องค่าแรง และความรู้สึกของคนในชุมชนด้วย
ทั้ง BBC เองยังได้เสนองานสำรวจที่ว่า ประชาชนในยุโรปส่วนใหญ่ ยังไม่ได้คิดว่า ประเด็นผู้อพยพ และ LGBTQ ล้าหลังอย่างที่ปูตินระบุ โดย จากการสำรวจของ Pew Research Center ชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ในประเทศที่รับผู้อพยพในยุโรป มองว่าผู้อพยพเป็นกำลังให้กับประเทศ มากกว่าเป็นภาระ แม้จะไม่พึงพอใจกับวิธีจัดการของ EU ทั้งในสหรัฐฯ เอง ชาวอเมริกันส่วนมากก็ยังเชื่อว่า ผู้ลี้ภัยส่งผลต่อสังคมในเชิงบวก
ในขณะที่ประเด็น LGBTQ การสำรวจของ Pew ยังพบว่า ชาวยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแต่งงานเพศเดียวกันในขณะที่ชาวยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ทั้งการศึกษาของ Ipsos Mori ใน 16 ประเทศ (ส่วนใหญ่ในยุโณป และสหรัฐฯ) ยังพบว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าควรได้รับอนุญาตให้แต่งตัว และใช้ชีวิตในเพศวิถี แม้จะเกิดมาในอีกเพศสภาพหนึ่ง ทั้งยังคิดว่าประเทศของตน ควรมีการปกป้อง และสนับสนุนกลุ่มคนข้ามเพศด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น Owen Jones คอลัมม์นิสต์ของ The Guardian กลับเห็นด้วยกับปูติน ว่าเป็นเรื่องจริง ที่ค่านิยมของเสรีนิยมถูกทำลายลง และเขามองว่าเป็นความผิดร่วมกันของสหภาพยุโรป โดยยกตัวอย่าง ฮังการี ประเทศที่มีผู้นำขวาค่อนข้างเผด็จการ ที่ต้องการสร้างสังคม ‘ประชาธิปไตยไม่เสรี’ ในโปแลนด์ ประเทศของทุกส์ ที่รัฐบาลฝ่ายขวามีอำนาจเหนือศาลยุติธรรม มีการโจมตีสื่อ และเสรีภาพของผู้ชุมนุม
หรือในตุรกี ที่การปกครองของ แอร์โดอัน เป็นประชาธิปไตยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินไม่มีที่สิ้นสุด มีการกดดันสื่อ และคู่แข่งทางการเมือง ไปจนถึงกระแสต่อต้านทหารข้ามเพศในสหรัฐ ของทรัมป์ และกระแสต่อต้าน LGBTQ ที่เพิ่มขึ้นในบราซิล
หลายฝ่าย คาดการณ์ว่า การที่ปูตินออกมาพูดถึง เสรีนิยม ว่าเป็นสิ่ง ‘ล้าสมัย’ นั้น เพราะเหล่าผู้นำโลกที่มีอิทธิพล ต้องการผลักดันมุมมองโลกของพวกเขาก่อนการประชุมสุดยอด G20 ซึ่งในเวลานี้ เป็นเวลาที่ระบบเสรีนิยมถูกมองว่าอยู่ภายใต้แรงกดดันต่างๆ ซึ่งเป็นเวลาที่ดีสำหรับ ปูตินที่จะโจมตีเสรีนิยม
ซึ่งแม้กระแสในหลายประเทศก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความนิยมของเสรีนิยมที่ตกต่ำลง แต่หลายฝ่ายก็ยังคงมองว่า เสรีนิยม ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองยังคงเป็นสิ่ง ‘จำเป็น’ อยู่
โดย The Financial Time สื่อผู้สัมภาษณ์ปูตินในประเด็นนี้เอง ก็ยังมองว่า แม้ค่านิยมเสรีจะถูกท้าทาย ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ คนจำนวนมากอยากหลุดพ้นจากโลกาภิวัฒน์ และประเด็นการลี้ภัย แต่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกระแสหลัก ต้องทำงานหนักเพื่อปกป้องค่านิยมนี้ และการทำให้เห็นว่าเสรีนิยมฟื้นฟูขึ้นมาได้ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่ทำให้เห็นว่า มุมมองของปูตินนั้นเป็นสิ่งที่ไร้ความคิด
ด้าน The Independent มองว่า “แม้ปธน.รัสเซีย อาจไม่สนใจค่านิยมเสรี แต่สัญชาตญาณแห่งอิสรภาพ และประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และไม่สามารถดับได้อย่างถาวร” ทั้ง “ค่านิยมเสรีนี้ ได้เอาชนะคลื่นของ ลัทธิทหารนิยม, ลัทธิฟาสซิสต์, ลัทธินาซีและลัทธิคอมมิวนิสต์” ซึ่งสิ่งที่ล้าสมัย แท้จริงคือปูตินและนโยบายจักรวรรดินิยมโบราณของเขา
อ้างอิงจาก