จากคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นครสวรรค์ ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงมากมายไม่ว่าจะเรื่องการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่ เส้นสายและอภิสิทธิ์ชนของตำรวจ แต่สิ่งนึงนอกจากความกังวลของสังคมว่า คนผิดจะได้รับโทษอย่างสมเหตุผลหรือไม่นั่น ยังมีความกังวลว่าตำรวจชั้นผู้น้อยที่นำคลิปมาเปิดเผยนั้น จะปลอดภัยหรือไม่ หรือจะถูกเล่นงานหรือเปล่า
สำหรับกลไกลนี้ ในหลายๆ ประเทศต่างก็มีกฎหมาย Whistleblower หรือกฎหมายที่คุ้มครองผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส ซึ่งทำให้ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ ไปถึงพนักงานเอกชนที่กล้าออกมาเปิดเผยข้อมูลการกระทำผิดของทั้งผู้มีอำนาจ และคนทั่วไป โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าการเปิดเผยข้อมูลจะเป็นอันตรายต่อตัวเลยด้วย
The MATTER ชวนไปดูกฎหมายนี้กันว่า ทำไมนานาชาติถึงให้ความสำคัญ มันกลายมาเป็นกลไกสำคัญในการทำคดี หรือตรวจสอบคดีต่างๆ อย่างไร และยกเคสบางประเทศที่มีจุดเด่นของข้อกฎหมายมาให้ดูว่า เขาทำอย่างไร และกฎหมายนี้ได้ผลอย่างไรบ้าง และประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายนี้ มีกลไกอื่นๆ ในการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลอย่างไรบ้าง
‘Whistleblower’ ความหมายตรงตัวคือ คนเป่านกหวีด แต่จริงๆ แล้วหมายถึง ผู้แจ้งเบาะแส เปิดเผยข้อมูลซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ในกรณีที่มีการกระทำผิดกฎหมาย กฎระเบียบ การใช้เงินที่ไม่ถูกต้อง การใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการกระทำซึ่งเป็นภัยต่อสุขภาพและความปลอดภัยของสังคม รวมไปถึงการให้ข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ในทางสาธารณะ
อย่างที่บอกว่าหลายประเทศได้มีกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส โดยเนื้อหาสำคัญคือการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูล เป็นการรับประกันเสรีภาพในการพูด ว่าผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับการคุ้มครอง และความปลอดภัยหลังเปิดเผยข้อมูล โดยแต่ละประเทศก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน บางประเทศคุ้มครองแค่เจ้าหน้าที่รัฐ บางประเทศคุ้มครองทุกคน ทั้งยังมีเรื่องของการให้เงินชดเชย หากได้รับความเสียหายจากการเปิดเผยข้อมูลด้วย
โดยปัจจุบัน มีอย่างน้อย 59 ประเทศ ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้เปิดเผยข้อมูล หรือคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูล ซึ่งตามรายงานของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ก็ชี้ว่า ‘การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเป็นแนวป้องกันขั้นสูงสุด สำหรับการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ’ แต่ถึงอย่างนั้น ถึงจะมีกฎหมายแล้ว แต่ถ้าหากปราศจากการคุ้มครองและผลตอบแทนที่เพียงพอ กฎหมายหลายก็ยังขาดการสนับสนุน และปกป้องผู้แจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิผลด้วย
นอกจากกฎหมายของแต่ละประเทศแล้ว ยังพบเรื่องของการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลในกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เช่นอนุสัญญาสหภาพแอฟริกาว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านการทุจริต หรือเวทีระหว่างประเทศระดับสากลที่ผลักดันประเด็นนี้ ทั้ง G20, OECD และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ด้วย
อย่างที่กล่าวไปว่า มีหลายประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ แต่มีเนื้อหา รายละเอียดที่แตกต่างกัน The MATTER ขอยกตัวอย่าง 3 ประเทศที่มีกฎหมายปกป้อง Whistleblower แต่มีจุดเด่นที่แตกต่างกันมาให้ดูว่า เขามีวิธีการอย่างไร
สหรัฐฯ – Whistleblower Protection Act 1989
สหรัฐเป็นประเทศแรกที่มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับ Whistleblower โดยตอนแรกประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายปฏิรูประบบราชการในปี 1978 ก่อนที่จะกลายมาเป็นกฎหมาย Whistleblower Protection Act ในปี 1989 ที่ช่วงแรกคุ้มครองเพียงแค่เจ้าหน้าที่รัฐ และอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก่อนที่จะมีการแก้ และเพิ่มการคุ้มครองให้กับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำงานในรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ขยายขอบเขตมาคุ้มครองพนักงานเอกชน
ข้อมูลที่ Whistleblower และครอบคลุมในกฎหมายนี้ ก็ได้แก่การกระทำผิดกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงการใช้เงิน และอำนาจอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงการกระทำที่กระทบความปลอดภัย หรือสุขภาพของประชาชนด้วย โดยเจ้าหน้าที่รัฐสามารถรายงานข้อมูลกับผู้บังคับบัญชา หรือหน่วยงานภายนอกอย่างสื่อมวลชนได้ด้วย
นอกจากนี้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่เริ่มมีกฎหมายนี้ก่อนประเทศอื่นๆ แล้ว ยังมีกฎหมายการให้รางวัลผู้แจ้งเบาะแสมายาวนานที่สุดด้วย กับกฎหมาย the False Claims Act ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะในระหว่างปี 1986-2020 มีคดีที่ผู้แจ้งเบาะแสตามกฎหมายนี้ จนสามารถนำเงินรวมแล้ว 46.5 พันล้านดอลลาร์กลับมาอยู่ในกระทรวงการคลังได้ ซึ่งจากจำนวนเงินดังกล่าว ได้แบ่งเป็นเงินรางวัลสำหรับผู้แจ้งเบาะแสถึง 7.8 พันล้านดอลลาร์ นอกจากกฎหมายนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ว่าด้วยรางวัลสำหรับผู้แจ้งเบาะแสเช่นกัน ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ ด้วย
เกาหลีใต้ – พระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะผู้แจ้งเบาะแส (PPIWA)
ประเทศในเอเชียก็มีกฎหมายลักษณะนี้เช่นเดียวกัน โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศที่นำพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะผู้แจ้งเบาะแส (PPIWA) มาใช้ในปี 2011 หลังพบคดีการสอบสวนการติดสินบนต่างประเทศของถึงสามครั้ง ที่ได้รับแจ้งจาก Whistleblower
โดยกฎหมายของเกาหลีใต้นั้นคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งเรื่องภาษี ละเมิดความปลอดภัยประชาชน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และค่อนข้างที่ครอบคลุมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานเอกชน และพนักงานต่างชาติของบริษัทเกาหลี รวมทั้งผู้ที่ทำงานในต่างประเทศด้วย
เกาหลียังมีโปรแกรมให้รางวัลเป็นเงินกับผู้แจ้งเบาะแส หรือครอบครัว เช่นให้เป็นเงินรางวัล, เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล, เงินชดเชยการสูญเสียค่าจ้างหรือความสูญเสียทางเศรษฐกิจอื่นๆ ฯลฯ โดยโปรแกรมที่ประสบความสำเร็จมาก คือเรื่องของภาษี ที่มี 2 โครงการคือ 1) ข้อมูลการหลีกเลี่ยงภาษี และ 2) การรายงานบัญชีการเงินต่างประเทศ ที่พบว่าตั้งแต่เริ่มโครงการนี้ในปี 2012 ถึงปี 2019 ได้แจกเงินรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสไปถึง 1.4 พันล้านบาท ขณะที่มีผู้แจ้งเบาะแสเพิ่มขึ้นในทุกปีด้วย
ออสเตรเลีย – Treasury Laws Amendment (Enhancing Whistleblower Protections)
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครอง Whistleblower ที่แข็งแรงมากในการคุ้มครองลูกจ้างภาคเอกชน โดยมีการก้าวหน้ามากในการพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลในเอกชน โดยกำหนดให้บริษัทมหาชน บริษัทขนาดใหญ่ และผู้ดูแลผลประโยชน์ของบางองค์กร ต้องมีนโยบายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสด้วย
โดยสำหรับออสเตรเลีย Whistleblower ต้องเปิดเผยข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีอำนาจ ซึ่งจะมีข้อกำหนดในการรักษาความลับ ที่สามารถแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยตัวตน และมีการให้การเยียวยาทางกฎหมายแก่ผู้แจ้งเบาะแสหากพวกเขาถูกลงโทษสำหรับการเปิดเผยข้อมูล แต่ถึงอย่างนั้นออสเตรเลียไม่มีกฎหมายกลางเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองหน่วยงานของรัฐ
ทั้ง 3 ประเทศที่ยกตัวอย่างานั้น ล้วนอยู่ในรายงานของ OECD ในปี 2014 ที่ระบุว่า 3 ประเทศนี้ รวมถึงอีก 5 ประเทศอย่าง แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ถือเป็นประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดด้วย
ไทย
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเรื่องการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูล แต่มีการระบุถึงประเด็นนี้ในพ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริต แต่กฎหมายก็มีช่องโหว่ที่ไม่อาจคุ้มครองตัวผู้แจ้งเบาะแสได้จริง เช่น ต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเท่านั้น ถึงจะได้รับการคุ้มครอง หรือต้องเปิดเผยชื่อ และตัวตนผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งสวนทางกับการปกปิด และคุ้มครองตัวผู้เปิดเผยความลับด้วย
ขณะที่สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ก็มีการมาตราที่พูดถึงการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสุจริต แต่ก็มีข้อแม้ และข้อกำหนดต่างๆ ใน พ.ร.บ.นี้ด้วย
ในขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับผู้แจ้งเบาะแส และใช้กลไกกฎหมายนี้ในการนำมาตรวจสอบ เพิ่มช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือผู้ทำผิด สำหรับประเทศไทยที่ยังไม่มีกลไกที่ครอบคลุมนี้ มีการเคลื่อนไหวล่าสุดที่พอจะเห็นได้คือ คณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา ที่มีการเสนอชื่อไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่จะมีเนื้อหาอย่างไร หรือจะช่วยปกป้องพยาน หรือผู้แจ้งเบาะแสได้มากขึ้นไหม เราคงต้องติดตามกัน
อ้างอิงจาก